“สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้”
เป็นสโลแกนที่พบเห็นได้ทั่วไปตามสำนักงาน และเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ อีกทั้งยังเป็นคุณลักษณะพื้นฐานที่ระบุเอาไว้ในมาตรฐานสำหรับข้าราชการที่ดี เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนและสร้างความเชื่อมั่นว่าการบริหารประเทศและการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดรับชอบส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน อันเป็นพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล หรือลักษณะของการบริหารงานที่ดี และการจะตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของรัฐได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องสามารถ “เข้าถึงข้อมูลสาธารณะ” ให้ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย มั่นใจว่าจะไม่ถูกคุกคามหรือลิดรอนหากเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น
SDG Updates ฉบับนี้ขอนำเสนอความสำคัญของการมีกฎหมายและนโยบายเพื่อคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ถูกบรรจุเอาไว้ใน SDGs คือ เป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ 16.10.2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดตามให้ประเทศมีและใช้กฎหมาย นโยบายที่รับประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
Right to know สิทธิที่จะได้รู้รากฐานที่การันตีว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือ สิทธิที่จะได้รู้ (right to know) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่จัดให้ประชาชนเข้าถึงได้ได้รับการยอมรับในเอกสารทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (The Human Rights Council) ที่ได้ลงมติผ่านการประชุมทั่วไปครั้งที่ 44 ซึ่งกล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เมื่อปี 2563 ว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐควรพยายามจัดทำข้อมูลที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในเชิงรุกทางอิเล็กทรอนิกส์หรือให้ตามคำขอ…”
สำหรับกฎหมายภายในประเทศไทยไม่เพียงแต่ระบุว่าการเข้าถึงข้อมูลของรัฐเป็นสิทธิเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ฉบับปัจจุบัน) ได้ระบุว่าการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะยังเป็น ‘หน้าที่’ ของหน่วยงานดังปรากฏในมาตรา 59
มาตรา 59 “รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของ หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่ กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก”
ดังนั้นแล้ว การเข้าถึงข้อมูลจึงเป็นทั้ง “สิทธิ” ที่ก่อให้เกิด “หน้าที่” แก่หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม
การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะกับ SDGs
ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน “การเข้าถึงข้อมูล” (access to information: ATI) ได้รับการยอมรับว่าเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังที่ปรากฏในปฏิญญาริโอ ปี 1992 ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำให้แนวคิดว่าด้วยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในเวทีประชาคมระหว่างประเทศรวมถึงถือกำเนิดแผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) ซึ่งเปรียบเสมือนแผนแม่บทของโลกในการดำเนินงานเพื่อการพัฒนายั่งยืน ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาเป็น SDGs ในเวลาต่อมา ด้วยความตระหนักว่าการสร้างหลักประกันในการเข้าถึงข้อมูลเป็นกลไกที่จะช่วยทำให้โลกบรรลุ SDG 16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง จึงมีการกำหนดเป้าหมายย่อยในเรื่องดังกล่าวเอาไว้ใน เป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ และเพื่อให้สามารถติดตามการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ได้กำหนดตัวชี้วัดสะท้อนสถานการณ์ 2 ตัวชี้วัด คือ
- ตัวชี้วัดที่ 16.10.1 จำนวนคดีฆาตกรรม ลักพาตัว การถูกพราก การกักขังหน่วงเหนี่ยว การทรมานผู้สื่อข่าว บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สหภาพทางการค้าและผู้ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลจากตัวชี้วัดนี้ใช้สะท้อนสถานการณ์ และระดับเสรีภาพ ความปลอดภัยที่พลเมืองแต่ละประเทศได้รับผ่านบุคคลซึ่งมักทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ค้นหาข้อเท็จจริงที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งของผู้มีอิทธิพลทั้งในมิติอำนาจทางสังคม เศรษฐกิจ กล่าวคือ เน้นติดตามผลลัพธ์จากการถูกคุกคาม ดูแลการติดตามข้อมูลระดับนานาชาติโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
- ตัวชี้วัดที่ 16.10.2 จำนวนประเทศที่ใช้และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและ/หรือนโยบายที่รับประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ข้อมูลจากตัวชี้วัดนี้ใช้สะท้อนระดับการปฏิบัติของรัฐเพื่อสร้างหลักประกันในรูปองกฎหมายและนโยบายเพื่อให้การรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม ดูแลการติดตามข้อมูลระดับนานาชาติโดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
ความสำคัญของตัวชี้วัด SDG 16.10.2
หากพิจารณาตัวชี้วัด SDG 16.10.2 ที่ระบุว่าติดตาม “จำนวนประเทศที่ใช้และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและ/หรือนโยบายที่รับประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้” ประกอบกับหลักการเบื้องหลังและแนวทางการจัดเก็บข้อมูลที่ UNESCO ในฐานะหน่วยงานระดับนานาชาติผู้รับผิดชอบพัฒนาขึ้นอาจสรุปได้ว่า SDG 16.10.2 ให้ความสำคัญกับการ “มี” และ “บังคับใช้” กฎหมาย นโยบาย หรือมาตรการที่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ จึงกล่าวได้ว่า ตัวชี้วัดนี้มิได้เพียงติดตามการ “มีอยู่” ของกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังติดตาม “การดำเนินงานตามความเป็นจริง” ซึ่งสะท้อนประสิทธิภาพด้านข้อมูลของรัฐด้วย เพราะความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลยังเป็นเงื่อนไขที่จะส่งผลต่อการเกิดกระบวนการสำคัญ และมีผลต่อการบรรลุ SDGs เป้าหมายอื่น เช่น
- กระบวนการตัดสินใจที่มีส่วนร่วมของประชาชน การใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมือที่ช่วยประชาชนร่วมอภิปรายถกเถียงในเวทีสาธารณะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับผู้มีอำนาจในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะหรือการออกกฏหมาย สอดคล้องกับ SDG 16.7 เกี่ยวกับการมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
- ก่อให้เกิดการเสริมพลังแก่ประชาชน เพราะการที่ประชาชนได้รับข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองขององค์กรสาธารณะจะส่งผลให้เกิดสิทธิ์ในการร้องขอและการได้รับข้อมูลรวมถึงภาระความรับผิดชอบที่รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ต้องร้องขอ ส่งผลดีต่อการบรรลุ SDG 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
- การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะเป็นเครื่องมือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนระหว่างการพัฒนานโยบายสาธารณะหรือการออกกฏหมายทำให้เกิดความต้องรับผิดชอบและกระบวนการที่โปร่งใสตามระบอบประชาธิปไตยและทำให้สามารถระบุหรือชี้เปิดโปงการกระทำทุจริตได้ ส่งผลดีต่อการบรรลุ SDG 16.5 ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ
ตัวชี้วัด SDG 16.10.2 ติดตามอะไรบ้าง
ในการติดตามและรายงานสถานการณ์ยูเนสโกในฐานะหน่วยงานระดับนานาชาติผู้รับผิดชอบได้พัฒนาแบบสอบถาม เพื่อให้แต่ละประเทศกรอกข้อมูลการดำเนินการสามารถจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ต่อไปนี้
- กรอบกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หมายรวมถึง การรับรองหลักการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ กฎหมายลำดับรองของประเทศ เช่น ในประเทศไทยได้รับรองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 34 – 35 มีพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ ข้อมูล ข่าวสาร ของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล งบประมาณ ผลการดำเนินงานของรัฐภายใต้หลัก “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง”
- องค์กรกำกับดูแลกลไกการเปิดเผยข้อมูล หมายถึง การมีองค์กรที่คอยตรวจสอบ ติดตาม และทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงกระตุ้นหากเกิดกรณีที่หน่วยงานไม่เปิดเผยข้อมูลโดยไม่มีเหตุผลรองรับตามกฎหมาย
- กลไกการร้องอุทธรณ์ หมายถึง การที่ประเทศมีหน่วยงานทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน หรือขออุทธรณ์ในกรณีที่ประชาชนมีความต้องการเข้าถึงข้อมูลส่วนหนึ่งส่วนใดที่หน่วยงานรัฐมิได้เปิดเผยต่อสาธารณะและต้องการให้เปิดเผย ขณะเดียวกันก็เป็นกลไกที่สามารถวินิจฉัยว่า หน่วยงานรัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเช่นว่านั้นหรือไม่
- การเก็บทะเบียนข้อมูลและการจัดทำรายงาน นอกจากกลไกการให้ข้อมูลแล้วประเทศต้องมีการจัดทำทะเบียนประเภทข้อมูลว่าได้มีการเปิดเผยข้อมูลประเภทใด และไม่เปิดเผยข้อมูลประเภทใด หรือวางเงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูลอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการวางแผนส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล ตลอดจนทำให้ทราบความคืบหน้าในการดำเนินการ
- การมีขอบเขตที่จำกัดของข้อยกเว้น ตามหลัก “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง” รัฐจะไม่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการของรัฐได้เฉพาะแต่ส่วนที่ระบุข้อยกเว้นเอาไว้เท่านั้น และลักษณะของข้อยกเว้นที่ดีจะต้องเป็นข้อยกเว้นที่มีความชัดเจน เฉพาะเจาะจง ไม่เปิดช่องให้เกิดการใช้ดุลยพินิจเพื่อขยายขอบเขตของข้อมูลออกไปเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดนำไปสู่ช่องว่างให้ละเว้นการเปิดเผยข้อมูล
สถานการณ์การติดตามข้อมูล
ในทุกปียูเนสโกจะนำข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบสำรวจของแต่ละประเทศมาจัดทำเป็นรายงานการเข้าถึงข้อมูลเป็นประจำทุกปีชื่อว่า UNESCO Report on Public Access to Information (SDG 16.10.2) สำหรับรายงานล่าสุด (ปี 2021) พบข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้
- ปี 2021 มี 132 ประเทศรับรองสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายนโยบาย ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 22 ประเทศที่ยอมรับการรับประกันดังกล่าวมาตั้งแต่การรับรองวาระปี 2030 เมื่อปี 2558 และในปี 2564 มีสมาชิกที่รับรองเพิ่มเติมคือ คูเวตและซาอุดีอาระเบีย
- ประเทศสมาชิกทั่วโลกมีความสนใจในการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับ ‘การเข้าถึงข้อมูล’ ด้วยสถาบันที่กำกับดูแลเฉพาะทำงานได้ดีขึ้น ในปี พ.ศ. 2564 UNESCO ได้เชิญประเทศสมาชิก UN ทั้งหมด รวมถึงดินแดนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าร่วมในการสำรวจตามตัวชี้วัด SDG 16.10.2 ระหว่างเดือนเมษายนและมิถุนายน 2564 มีประเทศและดินแดนตอบแบบสำรวจมากถึง 102 ประเทศ ในจำนวนนี้มี 82 แห่งเป็นสมาชิกของเครือข่าย แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเครือข่ายดังกล่าวในการสนับสนุน SDG ติดตามและรายงานตลอดจนระดมกำลังสมาชิกมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับ SDGs แม้ว่าการสำรวจยังพบบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของการตอบกลับ UNESCO ตั้งข้อสังเกตว่า การสร้างแนวร่วมดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขช่องว่างในการตรวจสอบ SDG และการรายงานนี้สามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มการตรวจสอบและรายงานได้ และจะได้ผลดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
- สถานการณ์เกี่ยวกับการมีกรอบกฎหมายว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูล: ระดับชาติระบบระเบียบเอื้อต่อสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเข้าถึงข้อมูล 102 ประเทศและดินแดนที่ตอบแบบสำรวจ พบว่า 89% (91 ประเทศ) ระบุว่ามีรัฐธรรมนูญตามกฎหมายและ/หรือนโยบายการรับประกันสิทธิการเข้าถึงข้อมูล (ATI) 5 ประเทศระบุว่าไม่มีการรับรอง ATI ขณะที่อีก 6 ประเทศและดินแดน รายงานว่ากำลัง ‘อยู่ระหว่างดำเนินการ’ ในการรับรองดังกล่าว
- การจำกัดข้อยกเว้นยังขาดความชัดเจน การยกเว้นส่วนใหญ่ยังไม่อยู่บนพื้นฐานของการยกเว้นเท่าที่จำเป็นกล่าวคือ มาตรฐานสำหรับการยกเว้นไม่เปิดเผยข้อมูล อยู่บนหลักการว่า การยกเว้นต้องคำนึงถึงการจำกัดสิทธิอย่างแคบ เท่าที่จำเป็น และมีความชัดเจน ข้อยกเว้นควรได้รับการยกเว้นใช้เฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายอย่างมากต่อ และที่ผลเสียมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมในการเข้าถึงข้อมูล จาก 91 ประเทศและดินแดนที่รับรองATI 81% (83 ประเทศ) รายงานว่าการรับประกันทางกฎหมายของ ATI ระบุอย่างชัดเจนว่า มีการกำหนดข้อยกเว้นที่อธิบายอย่างละเอียดว่าคำขอข้อมูลอาจถูกปฏิเสธตามกฎหมาย
5. ประเทศส่วนใหญ่มีการจัดตั้งกลไกการกำกับดูแลแต่ยังไม่ใช่กลไกเพื่อตรวจสอบการดำเนินการตามการรับประกันและบังคับใช้ของ ATI ทั้งหมด จาก 91 ประเทศและดินแดนที่ตอบแบบสำรวจ 87% (79ประเทศ) รายงานว่า ATI ของตนมีกลไกการกำกับดูแลโดยเฉพาะ 34 ประเทศ ตามมาด้วย ประเทศที่รวมหน้าที่กำกับดูแล ATI เอาไว้กับหน่วยงานที่ดูแลการปกป้องข้อมูล/ความเป็นส่วนตัว จำนวน 18 ประเทศ ใช้ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือสถาบันที่ใกล้เคียง จำนวน 17 ประเทศ ส่วนที่มอบให้เป็นหน้าที่ของกรม/กระทรวง หรือหน่วยงานอื่น ๆ
6. ประเทศส่วนใหญ่มีบันทึกรายการข้อมูล แต่ยังต้องดำเนินการอีกมากเพื่อรักษาความต่อเนื่องในการเก็บและติดตามข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการอุทธรณ์ยื่นขอข้อมูล จาก 102 ประเทศและดินแดน มีเพียง 57% (52) เท่านั้นที่มีข้อมูลในปี 2563 ตามคำขอข้อมูลที่ได้รับ เดอะส่วนที่เหลืออีก 43% (39) มีข้อมูลจากปี 2018 หรือ 2019 เท่านั้นหรือไม่มีข้อมูลเลย
หากพิจารณาในระดับหลักการและความมีอยู่ของกฎหมาย นโยบายเพื่อสร้างหลักประกันในการเข้าถึงข้อมูลจะพบว่าประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ได้ดำเนินการรับรองสิทธิดังกล่าวเอาไว้ในกฎหมายภายในของตนแล้ว แต่สิ่งที่ยังต้องอาศัยทรัพยากรในการดำเนินการอย่างมากคือการทำให้มีมาตรการ และกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูล กลไกการอุทธรณ์และการจัดทำบันทึกรายการข้อมูลที่ประเทศส่วนใหญ่ยังขาดความต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะเป็นรายแรกในอาเซียน และได้มีส่วนร่วมตอบแบบสำรวจโดยคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการบ้างแล้ว แต่ทว่าข้อมูลที่ประเทศไทยใช้รายงานนั้นเกี่ยวข้องกับข้อมูลการเข้าถึงเทคโนโลยี และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศมากกว่าการรายงานตามขอบเขตของตัวชี้วัด SDG 16.10.2
อย่างไรก็ตาม ยูเนสโกได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือและจัดรกระบวนการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของประเทศและสอดคล้องกับรูปแบบการรายงานในระดับนานาชาติ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | Right to know สิทธิได้รู้ : การเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างไรต่อการบรรลุ SDGs
SDG Move ร่วมกับยูเนสโกจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะไทย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
อ้างอิง
Human Rights Council, Promotion and protection of all human rights, civil,political, economic, social and cultural rights,including the right to development,A/HRC/44/L.18/Rev.1(2020) https://documents-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/LTD/G20/180/77/PDF/G2018077.pdf
UNESCO (2021) Report on Public Access to Information (SDG16.10.2)
https://www.unesco.org/reports/access-to-information/2021/en