รายงานของ ILO ชี้ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ช่วยให้ความสมดุลระหว่างงานและชีวิตดีขึ้น

ปัจจุบัน สังคมหันมาให้ความสำคัญกับคำว่า “Work-Life Balance” กันมากขึ้น ซึ่งโจทย์สำคัญ ก็คือ จะทำอย่างไรให้การทำงานไม่กระทบสุขภาพและชีวิตส่วนตัว ? โดยรายงานฉบับใหม่ ‘Working Time and Work-Life Balance Around the World’ ของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ระบุว่า การลดชั่วโมงการทำงานให้มีความยืดหยุ่นสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ องค์กร และประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานให้ดีขึ้นได้ รวมถึงช่วยให้พนักงานและครอบครัว สามารถมีสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน

รายงานดังกล่าว เป็นการศึกษาครั้งแรกที่มุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว โดยพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบมีระยะเวลาชั่วโมงการทำงานแบบยาวหรือสั้นต่อวัน แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานการทำงานที่ควรอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้วนั้น กลับพบว่า มากกว่าหนึ่งในสามของคนทำงาน มีชั่วโมงการทำงานโดยปกติมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่หนึ่งในห้าของแรงงานทั่วโลกที่ทำงานแบบนอกเวลา มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ รายงานได้วิเคราะห์การจัดเวลาทำงานแบบต่าง ๆ และผลกระทบต่อความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต รวมถึงวิเคราะห์การทำงานแบบเป็นกะ การทำงานแบบพร้อมให้บริการเมื่อเรียกหา (on-call) และการทำงานแบบยืดหยุ่น โดยจะคำนวณเวลาทำงานของพนักงานเป็นรายสัปดาห์ (compressed hours) ซึ่งรายงานเตือนว่าประโยชน์ของการทำงานแบบยืดหยุ่น อาจช่วยให้ได้ใช้เวลากับครอบครัวเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจตามมาพร้อมความไม่เท่าเทียมทางเพศและความเสี่ยงต่อสุขภาพในการทำงานที่มากขึ้น 

ภาพ : แสดงเวลาทำงานและความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตจากทั่วโลกจาก ILO 

นอกจากนี้ รายงานยังได้นำบทเรียนการจัดเวลาทำงานในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 มาช่วยพิจารณาโครงสร้างชั่วโมงในการทำงาน ตลอดจนระยะเวลาการทำงานโดยรวม เพื่อปรับปรุงทั้งประสิทธิภาพทางธุรกิจ และความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต

รายงานได้ให้ข้อสรุปและคำแนะนำไว้หลายประการ ได้แก่

  • กฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเวลาทำงาน การกำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดในแต่ละวัน และระยะเวลาพักตามกฎหมาย มีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมในระยะยาว
  • โดยทั่วไปชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น มักสัมพันธ์กับผลิตภาพแรงงาน (labour productivity) หรือ ผลผลิตต่อหน่วยของแรงงานที่ลดลง ไม่ว่าใช้หน่วยนับเป็นจำนวนคนหรือจำนวนชั่วโมงทำงาน ขณะที่ ชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงเชื่อมโยงกับผลิตภาพที่สูงขึ้น กล่าวคือ ชั่วโมงการทำงานสั้นลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้นหรือมีคุณภาพดีขึ้นนั่นเอง
  • ควรใช้บทเรียนจากช่วงวิกฤตโควิด-19 มาจัดการเวลาทำงาน เช่น การลดเวลาการทำงานและมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นด้วยค่าจ้างที่เป็นไปได้สูงสุด ซึ่งไม่เพียงช่วยรักษากำลังในการจ้างงาน แต่ยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อและช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ
  • สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ เพื่อช่วยส่งเสริมการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานในหลายประเทศ และส่งเสริมความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตให้ดีขึ้น
  • สนับสนุนการทำงานทางไกล (telework) เพื่อช่วยรักษาการจ้างงานและช่วยให้พนักงานมีอิสระในการทำงานมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น รายงานเตือนว่าการจัดการทำงานแบบยืดหยุ่น จำเป็นต้องได้รับการควบคุมอย่างดี ผ่านนโยบายต่าง ๆ อาทิ พนักงานควรมี ‘สิทธิตัดขาดการติดต่อสื่อสารนอกเวลาทำงาน’ (right to disconnect) เพื่อกำหนดช่วงเวลาที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกันเรื่องงานตามเวลาที่เหมาะสม 

กล่าวได้ว่า การทำงานที่มีความยืดหยุ่น อาจช่วยให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากพนักงานหลายคนมองเห็นแล้วว่าช่วงวิกฤตโควิด-19 การมีชั่วโมงทำงานที่ลดลง หรือ สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ช่วยให้มีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวเพิ่มขึ้น แต่การดำเนินมาตรการนี้ก็ควรมาพร้อมกับกรอบการทำงานที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้น อาจกลายเป็นการทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้ค่าจ้างและเสียผลประโยชน์ต่อตนเองอย่างไม่รู้ตัว

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
กรุงเทพฯ ติดอันดับ 3 เมืองที่ ‘คนทำงานมากเกินตัว’ และอันดับ 2 ที่คนมี ‘Work-Life Balance’ น้อยที่สุด 
WHO/ILO เตือน คนทำงานเกิน 55 ชม./สัปดาห์ เสี่ยงตายจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือด
งานหนักต้องไม่ฆ่าใคร: บริษัทญี่ปุ่นเริ่มปรับลดวันทำงานจาก 5 วันเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์
SDG Recommends | 5 บทเรียนให้ผู้จ้างงานออกแบบที่ทำงานเพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคน (และลาออกน้อยลง) 
SDG Updates | เทรนด์ของที่อยู่อาศัยหลัง COVID-19 เมื่อผู้คนต้องใช้เวลากับที่อยู่อาศัยมากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

แหล่งที่มา:
Flexible working hours can benefit work-life balance, businesses and productivity – ILO
Flexible work arrangements, a benefit to all – ILO report | UN News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น