ชวนอ่านงานวิจัย “การศึกษาการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย” โดย ผศ. สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพระปกเกล้า ดำเนินงานผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้วันที่ 9 กันยายน 2558 กฎหมายฉบับนี้นับเป็นเครื่องมือทางกฎหมายชิ้นแรกของประเทศไทย ที่จะทำให้แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่าง ทั้งเพศชาย เพศหญิง และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้มีความเป็นรูปธรรมในสังคม มีเป้าหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยสิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องนี้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับสากลและรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมานานกว่า 6 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการศึกษาสัดส่วนการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในตัวกฎหมาย ความคุ้มค่าของการใช้กลไกและมาตรการตามกฎหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับภาระหน้าที่ที่ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานผู้บังคับใช้ต้องแบกรับ ไปจนถึงผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
ด้วยปัญข้างต้น นำมาสู่การศึกษารายงานของ ผศ. สาวตรี ที่พยายามฉายให้เห็นถึงปัญหาทั้งในแง่ของตัวบทบัญญัติเองและการบังคับใช้ ซึ่งนอกจากจะอาศัยการวิเคราะห์ตามทฤษฎีและหลักการทางกฎหมายแล้ว นำความคิดเห็นที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมาย ภาคประชาสังคม ผู้ขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศ นักวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงประชาชนผู้เคยถูกเลือกปฏิบัติและใช้กลไกตามกฎหมายนี้ร้องเข้ามาเพื่อขอรับความเป็นธรรม เพื่อมาพิจารณาประกอบค้นหาคำตอบของบทสรุปและข้อเสนอแนะ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และประสิทธิภาพการบังคับใช้
จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และเป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
วัตถุประสงค์ของการศึกษา มีดังนี้
- เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการตีความ และการนำ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และกฎหมายลำดับรองมาบังคับใช้ ผ่านกลไกต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติ
- เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมทั้งผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมจากการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ และกฎหมายลำดับรอง ทั้งนี้ จากมุมมองของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของกลไก หรือมาตรการในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศที่ใช้อยู่ในประเทศไทยกับที่ใช้อยู่ในต่างประเทศ
- เพื่อศึกษาแนวความเห็นทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ และการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
- เพื่อนำข้อมูล องค์ความรู้ ข้อเท็จจริง รวมทั้งข้อคิดเห็นที่ได้มาประเมินความสัมฤทธิ์ผลของการบังคับใช้ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ และกฎหมายลำดับรองในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้ตามวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายฉบับนี้ ความคุ้มค่ากับภาระหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งกับรัฐและประชาชน ผลกระทบอื่น ๆ อันอาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชน รวมทั้งความจำเป็นของกฎหมายและความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ โดยอาศัยแนวทาง หัวข้อและประเด็นการประเมินตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์ในการจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
ผศ. สาวตรี ใช้ วิธีการศึกษา โดยการศึกษาและจัดระบบข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Research) และวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) เพื่อนำความเห็นและมุมมองของผู้มีประสบการณ์มาพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งได้ทำการสัมภาษณ์บุคคลทั้งหมด 28 คน โดยแบ่งแยกแนวคำถามออกเป็น 4 ชุด สำหรับบุคคล 4 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมาย มีทั้งในระดับของคณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้ และระดับของผู้ปฏิบัติการตามกฎหมาย
- กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย หรือสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม
- กลุ่มผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักกิจกรรม หรือนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและความเท่าเทียม
- กลุ่มผู้ได้รับความเสียหาย และเคยร้องเรียนมาตามกลไกของกฎหมายฉบับนี้
จากการศึกษาสรุปได้ว่า พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่สังคมแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ มีความจำเป็นทั้งในแง่ของการใช้เป็นเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมที่สุดเพื่ออ้างอิงหรือยืนยันว่าการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศนั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งในแง่ของการเยียวยาความเสียหายให้กับเหยื่อผู้ถูกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งในแง่ของการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อการต่อยอดหรือนำไปสู่นโยบายกฎหมาย และมาตรการที่ครอบคลุมต่อมิติต่าง ๆ มากขึ้น
แต่อย่างไรก็ดี ตั้งแต่มีการเริ่มบังคับใช้แล้วว่ามีบทบัญญัติหลายส่วนใน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ รวมทั้งอนุบัญญัติที่ยังขาดความชัดเจนก่อให้เกิดปัญหาการใช้การตีความ หรือไม่สอดคล้องกับหลักการสากล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุถึงซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างแท้จริง
ผศ. สาวตรี จึงตั้งข้อสังเกตและเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ไขปรับปรุง อาทิ
- ควรพิจารณาแก้ไข หรือตัดบทยกเว้นตามมาตรา 17 วรรคสอง ออก จากการศึกษาพบว่า การมีอยู่ของข้อยกเว้นในประเด็นศาสนาและความมั่นคงตามมาตรานี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง
- ควรพิจารณาทบทวนและแก้ไข มาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ. ความเท่าเทียมฯ รวมทั้ง ข้อ 5 และข้อ 18 แห่งระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้องการพิจารณา และการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พ.ศ. 2559
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)
Last Updated on มกราคม 11, 2023