Site icon SDG Move

บังคับใช้ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติหวังช่วยลดอุบัติเหตุ-สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างยั่งยืน

วันที่ 9 มกราคม 2566 เป็นวันแรกของการบังคับใช้กฎการตัดคะแนนใบขับขี่จากความประพฤติ โดย พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า “ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติ กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 142/1 เป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)”

กฎการตัดคะแนนใบขับขี่กำหนดให้ผู้มีใบอนุญาตขับขี่มีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุซึ่งมีอยู่ 20 ฐานความผิด จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที ได้แก่

ส่วนกลุ่มความผิดอื่น ๆ อีก 42 ฐานความผิด เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทางจอดพื้นที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ เป็นต้น ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น ขณะที่วิธีการตัดคะแนนจะดำเนินการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ มาตรการลงโทษสำหรับผู้มีใบอนุญาตขับขี่ที่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน มีขั้นตอนดังนี้

  1. ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือห้ามขับรถเป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว 
  2. การฝ่าฝืนขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  3. หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจจะถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน และหากยังถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 อาจถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
  4. คะแนนที่ถูกตัดไปในแต่ะครั้ง จะได้รับคืนเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งนั้นๆ เว้นแต่เป็นกรณีที่ถูกตัดเหลือ 0 คะแนน จะได้รับคืนเมื่อพ้นกำหนดเวลาการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ โดยได้รับคืนเพียง 8 คะแนน
  5. ผู้ที่ถูกตัดคะแนนสามารถขอคืนคะแนนได้ โดยการเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก 

สำหรับการตรวจสอบคะแนนความประพฤติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สร้างช่องทางที่หลากหลายเพื่อเป็นตัวเลือกอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนถึง 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) เว็บไซต์ E-Ticket PTM พัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ จ่ายค่าปรับ ตรวจสอบคะแนนความประพฤติและตรวจสอบสถานะใบขับขี่ 2) แอปพลิเคชันขับดี (KHUB DEE) พัฒนาโดยบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบใบสั่งค้างชำระและคะแนนความประพฤติ และ 3) แอปพลิชันเป๋าตัง ให้บริการชำระค่าปรับผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการชำระค่าปรับยังสามารถชำระผ่าน “Krungthai NEXT” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าธรรมเนียม และสามารถชำระค่าปรับใบสั่งผ่านทางเว็บไซต์ใบสั่งจราจรออนไลน์ด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิต

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง กล่าวถึงความมุ่งหมายสำคัญของการบังคับใช้กฎดังกล่าวว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งหมายให้ระบบบันทึกคะแนนดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างวินัยการขับขี่ ให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ป้องกันอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างยั่งยืน ต่อไป”

ด้าน พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ให้ความเห็นไว้ก่อนการบังคับใช้กฎดังกล่าวว่า “เบื้องต้นต้องดำเนินการภายใต้ความพร้อม เพราะทุกวันนี้แทบไม่เห็นตำรวจตรวจใบขับขี่ ปล่อยให้คนไม่มีทักษะ หรืออายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่มีใบขับขี่ขับรถ หรือเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาการกำกับดูแล ไม่เป็นตามมาตรฐานสากล บางประเทศตัดแต้ม และเสียค่าปรับ สามารถตัดแต้มได้ข้ามประเทศ เมื่อไทยเริ่มบังคับใช้ ถือเป็นข้อดีทำให้พฤติกรรมการขับขี่เกิดการตระหนักมากขึ้น จากการตัดแต้มตั้งแต่ 1-4 คะแนน เรียงตามลำดับความหนักเบา แม้จะยิบย่อย แต่ก็เป็นประโยชน์”

หากพิจารณาข้อมูลผู้ประสบภัยจากรถบนท้องถนนทั่วประเทศที่จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ จากภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่าปี 2565 มีผู้ประสบภัยจากรถบนท้องถนนทั่วประเทศสะสมรวมมากถึง 939,468 ราย โดยแบ่งเป็นบาดเจ็บสะสม 924,532 ราย และเสียชีวิตสะสม 14,767 ราย ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 13,485 ราย สะท้อนว่าอุบัติเหตุบนถนนเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการคร่าชีวิตคนไทย และเป็น 1 ใน 9 เป้าหมายย่อยที่รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 ะบุว่าแม้จะผ่านการดำเนินการมา 5 ปีเต็มแล้ว แต่ผลลัพธ์ยังมีความท้าทายสูงในระดับเรียกว่าวิกฤตการแสวงหาและบังคับใช้มาตรการใหม่ ๆ เพื่อหวังลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนดังเช่นระบบการตัดคะแนนข้างต้นจึงนับว่าเป็นทางเลือกที่น่าลองและน่าติดตามว่าจะสามารถดำเนินให้เกิดผลสำเร็จ ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้มากน้อยเพียงใด 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– หลายเมืองในสหรัฐฯ เปลี่ยนสี่แยกไฟแดงเป็นวงเวียน ได้ทั้งลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และลดค่าใช้จ่ายของรัฐ
อุบัติเหตุบนถนนเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ โดยมีเป้าหมายลดการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573
หลายเมืองใหญ่ในยุโรปเริ่มลดเพดานการใช้ความเร็วบนท้องถนนลงเพื่อลดอุบัติเหตุและลดการปล่อยมลพิษ
นักวิจัยสเปนใช้ AI วิเคราะห์รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในเมือง เพื่อเป็นข้อมูลพัฒนาถนนในเมืองให้ปลอดภัยมากขึ้น
ผู้ขับขี่ที่มีความผิดปกติด้านการนอนเพราะทำงานกะดึก เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน 300%
SDG Insights | รถ ถนน การเดินทาง : ทำไมประเทศไทยจึงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลก

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
โฆษก ตร. เผย เริ่มบังคับใช้วันนี้ ระบบตัดคะแนนใบขับขี่ (เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
ข้อดี-ข้อด้อยระบบตัดแต้มใบขับขี่ ทำผิดถูกหักคะแนน เริ่ม 9 ม.ค. 2566 (ไทยรัฐออนไลน์)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version