หากยาป้องกัน HIV กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากขึ้นจะทำอย่างไร ? เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติชะลอการจ่ายเงินงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Prevention and Promotion: P&P) ในส่วนของประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองออกไปก่อน เช่น สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม ไม่มีสิทธิ์ใช้งบประมาณจากกองทุนบัตรทองส่วนนี้ ซึ่งเป็นผลให้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป มูลนิธิ SWING จะงดให้บริการเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) หรือ ยาป้องกันการติดโรคก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวี และเป็ป (Post Exposure Prophylaxis : PEP) หรือ ยาป้องกันหลังการสัมผัสหรือมีความเสี่ยงรับเชื้อเอชไอวี เนื่องจากประกาศของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ไม่อนุญาตให้หน่วยบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาลจ่ายยา
สืบเนื่องจากมีข้อทักท้วงทางกฎหมายในประเด็นงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น โดยมองว่ามีปัญหาของข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตาม พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จึงให้รอความเห็นจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งประกาศฉบับนี้ ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงยาป้องกันเอชไอวี (PreP) ได้ยากขึ้นกว่าเดิม และอาจทำให้คนที่เคยได้รับยาต้านเชื้อเอชไอวีต้องหลุดออกจากระบบ รวมถึงจะมีผลให้งบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค งบป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี งบประมาณระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เฉพาะส่วนของผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองถูกชะลอไปอย่างไม่มีกำหนด
การชะลองบประมาณดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากที่เป็นผู้ที่อยู่กลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง อาทิ การฉีดวัคซีนที่จำเป็นและสำคัญในเด็ก การให้ยาป้องกันในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี การให้ยายุติการตั้งครรภ์ และการให้ถุงยางอนามัยแก่ผู้ที่อยู่กลุ่มนอกสิทธิบัตรทองถูกยกเลิกให้บริการจากสถานบริการเดิม โดยต้องไปรับบริการจากสถานบริการอื่นตามสิทธิอื่นที่มีอยู่เท่านั้น ทำให้เกิดความสับสนและความไม่สะดวกต่อการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขของประชาชน ซึ่งขัดต่อเป้าหมายของประเทศไทยที่จะยุติปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 คนต่อปี ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560 – 2573 ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะยุติการระบาดของเอชไอวีและเอดส์ได้ หากลงทุนเพิ่มกับมาตรการที่มีประสิทธิผลสูงและถูกต้อง แต่การชะลองบประมาณและการเข้าถึงยาได้ยากขึ้น อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และผู้เกี่ยวข้อง กรณีการให้บริการป้องกันเอชไอวีของผู้ที่ไม่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในหน่วยบริการภาคประชาสังคม (Community Based Organization :CBO) ได้ข้อสรุปว่า ขอความร่วมมือให้ในระหว่างที่กำลังแก้ปัญหาด้านกฎหมาย หากสะดวกให้บริการป้องกันโรคเอชไอวีกลุ่มนอก สิทธิบัตรทอง ยังให้บริการต่อไปได้ โดยให้บันทึกข้อมูลไว้ก่อนแล้วรอเบิกจ่ายกับ สปสช. ภายหลัง แต่หากหน่วยบริการยังไม่ประสงค์จะให้บริการ ก็ขอให้แจ้งมายัง สปสช. เพื่อประสานจัดระบบบริการไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยผู้รับบริการที่ประสบปัญหา สามารถโทรสายด่วน 1330 กด 16 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่อง 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ได้รับบริการ
ท้ายที่สุดนี้ หวังว่าความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางที่ดีและมีการระดมและกระจายทรัพยากรด้านสาธารณสุขให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง เพราะการชะลองบประมาณและการเข้าถึงยาได้ยากขึ้น อาจสร้างการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เด็กที่ติดเชื้อ HIV กว่า 48 เปอร์เซ็นต์เข้าไม่ถึงการรักษา UN จับมือรัฐบาล-ภาคประชาสังคมจัดตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อเร่งยุติโรคเอดส์ในเด็กภายในปี 2573
– UNAIDS จัดวงประชุมในหัวข้อ “แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อยุติโรคเอดส์ : 10 ปี ถึง 2030”
– WHO มีแผนที่จะส่งยาต้านไวรัส เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในยูเครน
– นำเสนอภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีสุขภาพดีบนสื่อให้มากขึ้น สามารถช่วยลดการตีตราที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อได้
– ผู้ติดเชื้อ HIV ในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางเพิ่มขึ้น เพราะระบบสุขภาพต้องทุ่มทรัพยากรเพื่อจัดการโควิด-19
– UNESCO และ WHO ผลักดัน ‘โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ’ เพื่อให้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา:
– อยากให้เอดส์=0 แต่จำกัดการเข้าถึงยา? เมื่อรัฐไม่อนุญาตให้ภาคประชาสังคมแจกยาต้าน HIV-Thematter
– ภาคปชช. ผุดแคมเปญ #PrEPต้องเข้าถึงได้ จี้ ‘อนุทิน’ ต้องกระจายจุดจ่ายยา PrEP PEP หลัง ‘สปสช.’ มีมติ ลดงบฯ ป้องกัน HIV | ประชาไท Prachatai.com
– ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ห่วงกรณี สปสช.ชะลอจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค | ประชาไท Prachatai.com
– ทุกสิทธิรับบริการป้องกัน “HIV” ภาคประชาสังคมยังจัดบริการได้ตามปกติ – คมชัดลึก
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย