โครงการจัดทําแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน (Area Need) แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคใต้ชายแดน และยังแบ่งพื้นที่ของภาคต่าง ๆ ออกเป็นกลุ่มพื้นที่ย่อยสำหรับการศึกษาทั้งสิ้น 18 กลุ่มย่อย โดยยึดการแบ่งกลุ่มตามที่ตั้งของจังหวัดในเขตติดต่อกันหรือต่อเนื่องกันเป็นหลัก จากนั้นพิจารณาความสอดคล้องหรือเกื้อหนุนกันของประเด็นยุทธศาสตร์หรือทิศทางการพัฒนา ประกอบกับความเกี่ยวเนื่องทางเศรษฐกิจ การผลิต การค้า การลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่า ความได้เปรียบในการแข่งขันร่วมกัน รวมไปถึงการแก้ไขประเด็นสำคัญ เร่งด่วนที่จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมกันระหว่างจังหวัด
ภาคใต้ชายแดน
ภาคใต้ชายแดนประกอบด้วยปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยไม่มีการแบ่งกลุ่มจังหวัดย่อย
1. ประเด็นสำคัญและเร่งด่วนของภาคใต้ชายแดนแบ่งเป็น 3 มิติ ดังนี้
- มิติสังคม ประกอบด้วย 1) ปัญหายาเสพติด 2) ปัญหาการศึกษา
- มิติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1) การค้าชายแดนน้อยลง 2) งานและเศรษฐกิจที่เติบโตน้อย 3) สถานการณ์แรงงานที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 4) เศรษฐกิจภาคการเกษตรถดถอย
- มิติสันติภาพ ประกอบด้วย 1) การเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 2) ความปลอดภัยและการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3) สถานการณ์ความรุนแรงยังไม่ดีขึ้น 4) ผลกระทบของสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน
*ภาคใต้ชายแดนไม่มีประเด็นการพัฒนาที่สำคัญและเร่งด่วนในมิติสิ่งแวดล้อม แต่เพิ่มเติมมิติสันติภาพเนื่องจากเป็นบริบทเชิงพื้นที่
2. ความต้องการของพื้นที่ภาคใต้ชายแดน
ภาคใต้ชายแดนมีความต้องการทั้งสิ้น 2 มิติ ได้แก่
- มิติสันติภาพ ประกอบด้วย
- การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในเรื่องการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น [SDG 16]
- การพูดคุยสันติภาพที่ต้องการแก้ไขโครงสร้างคณะพูดคุยให้มีสัดส่วนตัวแทนจากท้องถิ่นมากขึ้น [SDG 16]
- การป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการสรรหาคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องมีสัดส่วนพลเรือนมากกว่าหน่วยงานความมั่นคง [SDG 16]
- มิติสิ่งแวดล้อม พื้นที่ต้องการความรู้เข้ามาจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับประเด็นต่อไปนี้
- ปัญหาการจัดการน้ำ [SDG 6]
- ปัญหาการจัดการขยะ [SDG11, SDG12]
- ปัญหาจากโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม [SDG6, SDG12, SDG13, SDG14, SDG15]
- ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [SDG6, SDG12, SDG13, SDG14, SDG15]
- ชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทยถูกทำลายด้วยโครงการกำแพงกันคลื่น [SDG14]
หมายเหตุ: ความต้องการความรู้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกเสนอเพิ่มเข้ามา เนื่องจากในการจัด workshop นั้นทีม SDG Move และทีมภาคเห็นว่า ประเด็นการคุยควรมีให้ครบมิติความยั่งยืน
3. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
จากความต้องการพัฒนาของภาคใต้ชายแดนข้างต้น คณะทำงานของโครงการที่รับผิดชอบศึกษาภาคใต้ชายแดน ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การริเริ่มดำเนินการ ดังนี้
- การจัดตั้งเครือข่ายวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำหรับสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ด้วยสภาพทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และประเด็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนในพื้นที่แห่งนี้
- การศึกษาและการทำความเข้าใจกับความไว้วางใจทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความไว้วางใจต่อกันในหมู่ประชาชน หรือความไว้วางใจระหว่างการบริหารงานของรัฐบาลกับประชาชน
คณะวิจัยภาคใต้ชายแดน: ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ. ดร.เเพร ศิริศักดิ์ดำเกิง มหาวิทยาลัยศิลปากร เเละคณะ
● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
– Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ ไปจนถึง เมษายน 2566
อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ