องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ระบุว่า ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในวัยรุ่น หรือ ช่วงเด็กอายุระหว่าง 5 – 19 ปี จากปี 2518 มีเพียง 4% แต่ปี 2559 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 18% แนวโน้มภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น นับเป็นลางร้าย เพราะโรคอ้วนในวัยรุ่นนั้น จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจเกี่ยวเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” หรือ (สปป.ลาว) มีจำนวนประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินและกิจกรรมทางกาย ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคอ้วนเพิ่มขึ้นและภาวะโภชนาการต่ำ (undernutrition) ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ทำให้ปัญหาทุพโภชนาการของวัยรุ่นในเขตเมืองของลาวกลายเป็นปัญหาที่สำคัญด้านสาธารณสุข จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเรื่อง “Overweight and Obesity Coexist with Thinness among Lao’s Urban Area Adolescents” โดย ผศ.พ.ต.ต.หญิง ดร.คัติยา อีวาโนวิช สอนมะนี แก้วลังสี และ ดร.นนท์ธิยา หอมขำ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรราว 6.8 ล้านคน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ทำให้สามารถย้ายจากประเทศที่มีรายได้น้อยไปสู่ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ (Lower – Middle Income) ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจและจำนวนประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พฤติกรรมการกินและกิจกรรมทางกายภายในประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง ผลการสำรวจตัวชี้วัดทางสังคมของลาว (Lao Social Indicator Survey : LSIS) ปี 2554-2555 เกี่ยวกับข้อมูลโภชนาการของมารดาและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่า 44% ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะแคระแกร็น และอีก 27% มีน้ำหนักน้อยเกินไป ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาโภชนาการใน สปป.ลาว งานวิจัยฉบับนี้ จึงพยายามมุ่งเน้นที่จะศึกษาไปที่ประเด็นด้านสาธารณสุข เพื่อประเมินความชุกของภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และภาวะผอมแห้ง โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ วัยรุ่นในเขตเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ เนื่องจากช่วงวัยรุ่น มีความต้องการทางโภชนาการสูงเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตและพัฒนาการให้เหมาะสมตามช่วงวัย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบภาวะโภชนาการ ก่อนที่สุขภาพจะถูกทำลายไป
งานวิจัยฉบับนี้ ได้ศึกษาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นในนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาว ผ่านวิธีการศึกษา การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการศึกษาภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) เป็นการสำรวจเพื่อค้นหาความชุกของโรค (การวัดในระดับบุคคล) ของวัยรุ่นจำนวน 300 คน อายุระหว่าง 15-19 ปี โดยเก็บรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ปี 2561 ผ่านการใช้แบบสอบถามตอบด้วยตัวเอง (self-administered questionnaire) ในการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับส่วนสูงและน้ำหนัก และใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยวิธีทดสอบไคสแควร์ของเพียร์สัน การทดสอบของฟิสเชอร์ และการถดถอยโลจิสติกแบบตัวแปรเดียวและหลายตัวแปร นำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ทางสถิติ
ด้วยประเด็นดังกล่าว เพื่อศึกษาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นในนครหลวงเวียงจันทน์ งานวิจัยนี้สอดคล้องความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
จากงานวิจัยดังกล่าว ได้ผลการศึกษาโดยสรุปที่น่าสนใจ อาทิ
- ลักษณะทั่วไปของผู้เข้าร่วม จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นจำนวน 300 คน พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งมีอายุ 17 ปี 41.3% โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 16.93 ปี (SD±1.00) โดยวัยรุ่นส่วนใหญ่ 78.0% มีความรู้เรื่องโภชนาการที่ดี แต่มีเพียง 6.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้น ที่มีทัศนคติที่ดีต่อการบริโภคอาหาร ซึ่งวัยรุ่น 67% มีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม มีเพียง 1.7% ของวัยรุ่นเท่านั้นที่มีพฤติกรรมการกินที่ดี
- จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า 23.3% ของวัยรุ่น สปป.ลาว ที่เรียนในโรงเรียนเอกชนและรัฐบาลในเขตหนึ่งของนครหลวงเวียงจันทน์ มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ขณะที่ 10.3% ของกลุ่มประชากรเดียวกันได้รับผลกระทบจากภาวะผอมแห้ง
- ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับของภาวะน้ำหนักเกิน ผอม และโรคอ้วน ผลการวิเคราะห์จาก multiple logistic regression analysis โดยนำเสนอเป็นค่า adjusted odds ratio (aOR) และ 95% confidence interval (CI) ของ aOR ของการศึกษาพบว่า
- วัยรุ่นที่มีระดับการเคลื่อนไหวร่างกายต่ำ (physical activities) มีความเสี่ยงสูงต่อการมีน้ำหนักเกิน/อ้วน 18.6 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีระดับกิจกรรมทางกายปกติ/สูง (95% CI: 5.51–61.56)
- วัยรุ่นที่อาศัยอยู่กับผู้ปกครอง มีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเกินและ/หรือเป็นโรคอ้วนน้อยกว่า (aOR = 0.3: 95% CI: 0.08–0.79)
- วัยรุ่นที่ไม่ได้รับข้อมูลโภชนาการจากครู มีความเสี่ยงสูงที่จะมีน้ำหนักเกิน/อ้วน 2.1 เท่า (95% CI: 1.11–3.80) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับข้อมูล ซึ่งผลการศึกษา ได้บ่งชี้ว่า 47.3% ของกรณีทั้งหมด ครูซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพและโภชนาการสามารถป้องกันความเสี่ยงของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนของวัยรุ่นได้ (aOR = 2.05, 95% CI = 1.11–3.80) แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันความเสี่ยงของภาวะผอมแห้ง ซึ่งโรคผอมมีมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เรียนโรงเรียนเอกชน
นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวพบจุดแข็งและข้อจำกัดที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ
- ช่วยเติมเต็มข้อมูลด้านโภชนาการของวัยรุ่น ข้อมูลด้านโภชนาการส่วนใหญ่ เน้นการศึกษาไปที่เรื่องมารดาและบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ทำให้ข้อมูลภาวะโภชนาการของวัยรุ่นลาวมีอย่างจำกัด ซึ่งหากปัญหาภาวะโภชนาการของวัยรุ่นถูกละเลย อาจส่งผลทางลบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงส่งผลเสียต่อแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
- การตรวจสอบภาวะโภชนาการและปัญหาด้านน้ำหนัก หากตรวจสอบตั้งแต่ต้นจะช่วยให้ผู้มีอำนาจสามารถดำเนินนโยบาย เพื่อแทรกแซงในการลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคเหล่านี้ได้
- การสำรวจภาคตัดขวาง ไม่สามารถนำมาสู่ข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่าตัวแปรใดเป็นสาเหตุให้เกิดโรค รวมถึงการศึกษาครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายมีเพียงวัยรุ่นที่เข้าเรียนในโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ผลการศึกษาที่ค้นพบไม่สามารถระบุปัญหาภาวะโภชนาการของประชากรวัยรุ่นลาวได้ทั้งหมด
กล่าวโดยสรุป วัยรุ่นลาวในเขตเมืองกำลังเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) เพื่อปรับปรุงภาวะโภชนาการของวัยรุ่น จำเป็นต้องมีวิธีการประสานงานร่วมกันของหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหานโยบายด้านอาหารและโภชนาการให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งการศึกษาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ครู มีความสำคัญในการให้ข้อมูลด้านโภชนาการ เช่นนั้นแล้ว จึงควรมีการบรรจุความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและพลศึกษาไว้ในหลักสูตรของโรงเรียน เพื่อพัฒนาให้วัยรุ่น มีความรอบรู้ด้านโภชนาการ (nutrition literacy) อย่างครอบคลุมมากขึ้น
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573 เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา
ข้อมูลงานวิจัย: Ivanovitch, K., Keolangsy, S., Homkham, N. Overweight and Obesity Coexist with Thinness among Lao’s Urban Area Adolescents. Journal of Obesity. 2020 (11):1-12. https://doi.org/10.1155/2020/5610834
ชื่อผู้วิจัย -สังกัด: ผศ.พ.ต.ต.หญิง ดร.คัติยา อีวาโนวิช สอนมะนี แก้วลังสี และ ดร.นนท์ธิยา หอมขำ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)