แม้ไม่อาจคว้าถ้วยฟุตบอลแห่งชาติอาเซียน หรือ “AFF Cup” มาครองเป็นสมัยที่สามได้ แต่ในเรื่องการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดูเหมือนว่าเวียดนามจะก้าวขยับอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 Ramla Khalidi ผู้แทนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ที่ประจำอยู่ในเวียดนาม กล่าวชื่นชมเวียดนามถึงความสำเร็จในการลดความยากจนและการพัฒนาเช่นเดียวกับความมุ่งมั่นของประเทศต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ว่า “เวียดนามได้รับความนับถือจากประชาคมโลกและ UNDP สำหรับความสำเร็จในการลดความยากจนและการพัฒนามนุษย์”
Ramla Khalidi ระบุถึงความพยายามและความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของเวียดนาม อีกหลายประการ อาทิ
- เวียดนามได้ทำให้เกิดตัวอย่างเชิงบวกมากมายแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการขจัดความอดอยาก เเละการเร่งสร้างงานแก่คนและครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 40%
- การเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและบริการสุขภาพ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำสะอาดอย่างทั่วถึง
- ความมุ่งมั่นของเวียดนามในการขับเคลื่อน SDGs เห็นได้ชัดจากการผนวก SDGs เข้ากับ 115 Vietnam SDGs ซึ่งรวมอยู่ในแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติของเวียดนาม
- การจัดหาวัคซีนอย่างรวดเร็วและกระจายอย่างทั่วถึงในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวอย่างการดำเนินการของรัฐบาลที่ดีในการวางแผนและดำเนินโครงการระดับชาติที่ซับซ้อนได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งยังส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2565 โดยการเติบโตของจีดีพีในปีนี้อาจสูงถึง 8% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มาก รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของการบริโภคภายในประเทศในกลุ่มคนจนและคนเกือบจนด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้แทน UNDP ชี้ว่าเวียดนามยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยแม้จะมีความพยายามในประเทศอย่างมากในการตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างการตั้งรับปรับตัวสำหรับชุมชนที่เปราะบาง ทว่ายังคงมีความเสี่ยงสูงในการได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในหลายภาคส่วน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการเกษตรและอาหาร น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเมืองและการคมนาคมขนส่ง
Khalidi เห็นว่าการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรเทาสาเหตุของภาวะโลกร้อนอย่างเร่งด่วนโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเป้าหมายเป็นศูนย์ภายในปี 2593 จะต้องใช้เงินเพิ่มอีก 30 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปีในการลงทุนภาครัฐและเอกชน Khalidi จึงแนะนำว่าการลงทุนของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ความต้องการของคนภายในประเทศยังคงเข้าถึงและตอบสนองได้ โดยเฉพาะบริการที่จำเป็น เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา น้ำสะอาดและสุขอนามัย พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อม กำหนดเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชนและความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance: ODA) ใหม่ ๆ สำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report: SDR) ประจำปี 2565 ที่จัดทำโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) จะพบว่าเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 55 ของโลก และอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามหลังประเทศไทยที่อยู่ในอันดับ 44 ของโลกเพียงประเทศเดียว จึงน่าจับตามองว่าต่อจากนี้เวียดนามจะลงทุน ริเริ่มดำเนินการ และผลักดันนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือแผนพัฒนาในการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs อย่างไร และจะสามารถแซงหน้าไทยขึ้นมาเป็นประเทศที่มีดัชนี SDG อันดับ 1 ของอาเซียนได้หรือไม่
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– จะยุติความยากจนอย่างไรภายในปี 2573 เมื่อเกิดใน ‘รัฐที่เปราะบาง’ ก็มีโอกาสยากจนขั้นรุนแรงแล้ว 50%
– เวียดนามชูยุทธศาสตร์ชาติ Decision 450 หวังปกป้องสิ่งแวดล้อม-สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในปี 2573
– ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ และการว่างงาน แซงหน้าโควิด-19 เป็น 2 อันดับแรกที่ผู้คน “กังวล” มากที่สุด
– การสนับสนุนเงินทุนในโครงการขจัดความยากจน สามารถลดจำนวนการทารุณกรรมในเด็กและการละเลยทอดทิ้งเด็กได้
– UNDESA ออกรายงาน ‘SDGs Report 2021’ พบผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกเพิ่มขึ้นในรอบ 20 ปี
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
– (1.a) สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งต่างๆ รวมถึง การยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อที่จะจัดให้มีแนวทางที่เพียงพอและวิธีการที่เป็นไปได้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG2 ยุติความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา: Vietnam wins global respect for human development achievements: UNDP Representative (VietnamPlus)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย