ชวนอ่านงานวิจัย “พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2561” โดย รศ. ดร.อุรุยา วีสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 มาตรา 24 ให้จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกระทรวงพลังงาน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน และมีการจัดตั้งหน่วยบริหารกองทุนชื่อว่า สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.)
สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วางแผน และเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ และพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการกองทุน จัดสรรเงินกองทุนให้เป็นไปตามแนวทางและนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ รวมถึงจัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุน
เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงานของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รศ. ดร.อุรุยา จึงดำเนินโครงการศึกษาวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อให้การปฏิบัติงานของกองทุนฯ สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีทิศทางการดำเนินงานระยะยาวที่ชัดเจน สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศ การอนุรักษ์พลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
- เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการของกองทุนฯ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์อนุรักษ์พลังงาน ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ และเกณฑ์การชี้วัดของกรมบัญชีกลาง
- เพื่ออำนวยการให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนฯ และดำเนินการในแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เพื่อให้ทราบระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการกองทุนฯ ต่อการให้บริการของกองทุนฯ
- เพื่อปรับปรุงการดำเนินการตามผลสำรวจความพึงพอใจ สำหรับนำมาประกอบการจัดทำแผนเพื่อดำเนินการในปีต่อไป ให้กองทุนฯ ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อให้กองทุนฯ มีภาพรวมกระบวนการหลัก (core process) และกลไกการควบคุมกระบวนการหลักที่ชัดเจน
- เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานของกองทุนฯ ถึงการเปลี่ยนแปลงและเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานตามโครงสร้างการดำเนินงานใหม่
.ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับวิธีการศึกษาวิจัย ประกอบด้วย
- จัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2561 โดยการทบทวนและวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวของกองทุนฯ ในอดีตที่ผ่านมา
- สำรวจความพึงพอใจและความคิดเห็นของผู้รับบริการกองทุนฯ โดยเตรียมความพร้อม กำหนดประเด็น และออกแบบสอบถาม เพื่อประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการกองทุนฯ จากผู้รับบริการกองทุนฯ ในด้านต่าง ๆ โดยครอบคลุมประเด็นตามตัวชี้วัดที่กระทรวงการคลังกำหนด
- จัดทำแผนการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการกองทุนฯ โดยวิเคราะห์จากผลสำรวจความพึงพอใจ ผู้ได้รับบริการกองทุนฯ ที่ดำเนินการสำรวจในปี 2560
- ศึกษาและวิเคราะห์ภาพรวมกระบวนการของกองทุนฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุนฯ
- พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการองค์กรในด้านต่าง ๆ ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยทบทวนผลการดำเนินการในด้านบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน การบริหารจัดการสารสนเทศ และการบริหารทรัพยากรบุคคล
ผลการศึกษาในโครงการวิจัยนี้ พบว่า แผนยุทธศาสตร์กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2561 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการระบบกองทุนฯ มี 4 กลยุทธ์ คือ
- การพัฒนากลไกและระบบบริหารกองทุนให้มีสภาพคล่องและมีประสิทธิภาพ
- การทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบ กลไก และขั้นตอนการขอรับการสนับสนุนทุน
- การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการบริหารจัดการกองทุนฯ
- การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการเงินและความเสี่ยงของกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพ
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มี 3 กลยุทธ์ คือ
- การสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงาน
- การบูรณาการและเสนอแนะนโยบายพลังงาน
- การเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความร่วมมือในการจัดสรรทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอนุรักษ์พลังงานไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ มี 2 กลยุทธ์ คือ
- การส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานในเชิงพาณิชย์
- การบริหารทรัพย์สินทางปัญญาด้านการอนุรักษ์พลังงานเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรสู่ความเป็นเลิศ มี 4 กลยุทธ์ คือ
- การถ่ายโอนภารกิจและเร่งรัดการจัดตั้ง ส.กทอ.
- การพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับภารกิจของกองทุนฯ
- การพัฒนากระบวนการและเครื่องมือสนับสนุนการจัดการองค์กร
- การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์องค์กร
จากการสำรวจความพึงพอใจและความคิดเห็นของผู้รับบริการกองทุนฯ จำนวน 337 ราย พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- ผู้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 86.65 และมีความพึงพอใจมากที่สุดต่อการให้บริการของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาพรวม อยู่ที่ระดับคะแนนเฉลี่ย 4.27 จากคะแนนเต็ม 5.00
- เมื่อพิจารณาระดับความพึงพอใจตามประเด็นคุณภาพการให้บริการของกองทุนฯ แสดงให้เห็นว่า ผู้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่ รองลงมาคือ นโยบายและการกำกับดูแล สิ่งอำนวยความสะดวก และกระบวนการหรือขั้นตอนการให้บริการ ตามลำดับ
- ส่วนผลการสำรวจความพึงพอใจผู้ที่เคยยื่นขอรับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัย การลงทุนด้านพลังงาน แต่ไม่ได้รับทุน จำนวน 16 ราย พบว่า ผู้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและมากที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 87.50 โดยมีความพึงพอใจมากต่อการให้บริการของกองทุนฯ ในภาพรวม อยู่ที่ระดับคะแนนเฉลี่ย 3.88 จากคะแนนเต็ม 5.00
- เมื่อพิจารณาระดับความพึงพอใจตามประเด็นคุณภาพการให้บริการของกองทุนฯ แสดงให้เห็นว่า ผู้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่ รองลงมาคือ นโยบายและการกำกับดูแล กระบวนการหรือขั้นตอนการให้บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวก ตามลำดับ
นอกจากนี้ รศ. ดร.อุรุยา จัดทำแผนการปรับปรุงการให้บริการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีบัญชี 2561 ประกอบด้วย 4 แผนงานหลัก มีรายละเอียดดังนี้
- แผนงานที่ 1 การให้บริการของเจ้าหน้าที่ ควรสร้างทัศนคติที่ดีในการให้บริการ โดยกำหนดให้ผู้รับบริการจากกองทุนฯ เป็นเป้าหมายของการทำงานและเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องอำนวยความสะดวกและช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ
- แผนงานที่ 2 กระบวนการหรือขั้นตอนการให้บริการ กระบวนการหรือขั้นตอนการให้บริการ ควรวางระบบให้ผู้รับบริการจากกองทุนฯ เข้าถึงการบริการของกองทุนฯ ได้ง่ายและมีความถูกต้องภายใต้กระบวนงาน ขั้นตอน และระยะเวลาการให้บริการที่ชัดเจน
- แผนงานที่ 3 สิ่งอำนวยความสะดวก ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับองค์กรให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงภารกิจและบทบาทหน้าที่ของกองทุนฯ โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ใน 5 ลำดับแรก คือ 1) โทรทัศน์ 2) อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) 3) สื่อสิ่งพิมพ์ 4) วิทยุ และ 5) เจ้าหน้าที่กองทุนฯ และหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ
- แผนงานที่ 4 นโยบายและการกำกับดูแลของกองทุนฯ ควรสร้างและปรับภาพลักษณ์ของกองทุนฯ โดยเลือกใช้ช่องทางและรูปแบบการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติที่ถูกต้อง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกองทุนฯ
สุดท้าย การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุน จากการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการหลักกับผู้รับผิดชอบในแต่ละกระบวนการ และกลไกได้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงกระบวนการของกองทุนฯ และการกำหนดกลไกการควบคุมตามกระบวนการหลัก ดังนี้
- ปรับโครงสร้างในการจัดสรรเงินกองทุนฯ ในรูปแบบของการสนับสนุนและส่งเสริมโครงการตามกิจกรรมต่าง ๆ ด้านพลังงงาน โดยควรยกเลิกหน่วยผู้เบิก 2 หน่วย คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งเป็นหน่วยพิจารณากลั่นกรอง ก่อนเสนอต่อกองทุนฯ เปลี่ยนให้ทางหน่วยงานที่ขอรับทุนทำการประสานตรงที่กองทุนฯ เพื่อลดการประสานงาน ความล่าช้า ความไม่ต่อเนื่อง และสร้างความชัดเจนในการทำงาน รวมถึงให้ยกเลิกการใช้ที่ปรึกษาฯ ในการวิเคราะห์และจัดทำเอกสารประกอบในแต่ละโครงการ และให้บุคลากรตามโครงสร้างใหม่ของกองทุนฯ เป็นผู้ดำเนินการ
- ปรับงานฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนฯ โดยปรับการทำงานฝ่ายเลขานุการของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้อยู่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.ฉ) ภายใต้การกำกับดูแลของผู้จัดการ ส.กทอ. แทนผู้อำนวยการ สนพ.
- ปรับโครงสร้างสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation and Promotion Fund Office) หรือ ส.กทอ. โดยรับการแบ่งกลุ่มงานภายใน ส.กทอ. ออกเป็น 9 กลุ่มงาน จากเดิม 7 กลุ่มงาน โดยการเพิ่มกลุ่มงานประชาสัมพันธ์แยกมาจากกลุ่มงานบริหารงานทั่วไปเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางของการประชาสัมพันธ์และการสร้างภาพลักษณ์องค์กร เนื่องจากงานประชาสัมพันธ์ถือเป็นหัวใจหลักขององค์กร
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลกภายในปี 2579
– (7.3) เพิ่มอัตราการปรับปรุง ประสิทธิภาพการใช้ พลังงานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2579
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)