Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนมกราคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  14 – 20 มกราคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

กระทรวง พม. จับมือ สโมสรซอนต้า ผลักดันแม่เลี้ยงเดี่ยวมีงานทำ

วันที่ 17 มกราคม 2566 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมนำเสนอโครงการเสริมพลัง สร้างอาชีพเติมรอยยิ้มแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัว ณ สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ นายกสโมสรซอนต้ากรุงเทพ 1 (Zonta Club) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ให้บริการด้านสาธารณกุศลและมุ่งยกระดับสถานภาพของสตรี

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญ คือเพื่อสนับสนุนให้แม่เลี้ยงเดี่ยวและสตรีที่ประสบปัญหาทางสังคมที่ผ่านการอบรมอาชีพจากสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพได้มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพจริง สามารถมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ อีกทั้งเป็นศูนย์บริการแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว และศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้คำปรึกษาครบวงจร (Help Desk) โดยใช้สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ กรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์กลางด้านอาชีพ (Career Hub) และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสโมสรซอนต้า 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.4 ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผ่านการให้บริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม 5.5 สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และ 5.c เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.3 ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า และ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม 

เข้าถึงได้ที่: พม. จับมือสโมสรซอนต้า เตรียมหนุนแม่เลี้ยงเดี่ยวมีพื้นที่ประกอบอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

ไทยอินเดีย กระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข หวังพัฒนาการวิจัย ยาและเวชภัณฑ์

วันที่ 17 มกราคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้พบปะและหารือกับ นายมานซุกร์ ลัคมาน มันดาวิยา (Mansukh Laxman Mandaviya) รมว.สวัสดิการสาธารณสุขและครอบครัว (Minister for Health and Family Welfare) และ รมว.เคมีภัณฑ์และปุ๋ย (Minister for Chemicals and Fertilizers) ของอินเดีย ระหว่างการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส-คลอสเตอร์ สมาพันธรัฐสวิส

เรื่องสำคัญของการหารือดังกล่าวคือการกระชับความร่วมมือการวิจัย ยาและเวชภัณฑ์ โดยมีการผลักดันประเด็นร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ อย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การป้องกันภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ การเตรียมการ และการตอบสนอง 2) การแก้ปัญหาด้วยสาธารณสุขดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาการให้บริการสุขภาพเพื่อสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3) การเสริมสร้างความร่วมมือภาคเภสัชกรรม เพื่อให้มีมาตรการตอบโต้ทางการแพทย์ เช่น วัคซีน การบำบัดรักษา และการวินิจฉัย โดยเน้นที่คุณภาพ การเข้าถึง และความสามารถในการจ่ายเงิน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.b สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อ และ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง  SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม 

เข้าถึงได้ที่: ไทย-อินเดีย กระชับความร่วมมือการวิจัย ยาและเวชภัณฑ์ รองนายกฯ อนุทิน หนุน 3 ประเด็นด้านสุขภาพเพิ่มจุดแข็ง 2 ประเทศ ชื่นชมอินเดียเป็นประธาน G20 ชูโลกหนึ่งเดียวไม่แบ่งแยกการพัฒนา (เพจเฟซบุ๊ก The Reporters)

ตำรวจเยอรมนีจับกุม ‘เกรต้า ธันเบิร์ก’ ระหว่างประท้วงร้องยุติการขยายเหมืองถ่านหิน

วันที่ 17 มกราคม 2566 เกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัย 20 ปี ถูกตำรวจเยอรมันควบคุมตัวเพราะเข้าร่วมการประท้วงการขยายเหมืองถ่านหินที่หมู่บ้านลุตเซรอธ (Lützerath) ในเยอรมนี โดยสาเหตุของการควบคุมตัวพุ่งเป้าไปที่การเกรต้าร่วมทำลายรั้วกันพื้นที่และเดินเข้าไปบริเวณหลุมถ่านหินซึ่งเป็นพื้นที่อันตราย

การประท้วงดังกล่าวดำเนินมาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยสาเหตุของการประท้วงเกิดจากการที่บริษัทโรงงานไฟฟ้าจะมีการเผ่าถ่านหินลิกไนต์ (Lignite) เพื่อนำมาเป็นพลังงานที่จะนำไปสู่การสูงขึ้นของอุณหภูมิโลก เพราะถ่านหินชนิดนี้สร้างมลพิษมากที่สุดในบรรดาถ่านหินชนิดอื่น ๆ  และยังมีการขับไล่ชาวบ้านในหมู่บ้านลลุตเซรอธเพราะจำเป็นต้องใช้พื้นที่เพื่อขุดเจาะเหมืองอีกด้วย อย่างไรก็ดีบริษัทโรงงานไฟฟ้าและพรรคกรีน (Green Party) ของเยอรมนี ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าการขยายเหมืองจะเพิ่มการปล่อยมลพิษมากกว่าเดิม โดยให้เหตุผลว่ายุโรปสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซได้  

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่: ‘เกรต้า ธันเบิร์ก’ ถูกตำรวจเยอรมันรวบตัว เหตุประท้วงต่อต้านเหมืองถ่านหินที่ส่งผลต่อโลกร้อน (The Matter)

พรรคก้าวไกลติงเหตุเรือน้ำมันระเบิดที่ปากแม่น้ำกลอง รัฐต้องเดินหน้ากฎหมาย PRTR

วันที่ 18 มกราคม 2566 อานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จ.สมุทรสงคราม ลงพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำกลองเพื่อตรวจสอบผลกระทบจากกรณีเรือบรรทุกน้ำมันระเบิด และเคลื่อนไหวสำคัญเรียกร้องภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและชุมชน ขณะที่มาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว อานุภาพ เสนอว่าต้องเน้นไปที่นโยบายระดับประเทศ ผ่านการออกกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เคยนำเสนอร่างไปแล้ว แต่ปัจจุบันยังถูกดองอยู่ที่คณะรัฐมนตรีไม่ให้นำขึ้นมาพิจารณา โดยอ้างว่าเพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน

เหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันระเบิดครั้งนี้ส่งผลมีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บอีกหลายราย และทำให้บ้านเรือนประชาชนทั้งในตำบลแหลมใหญ่และตำบลใกล้เคียงได้รับความเสียหายกว่า 100 ราย ขณะที่ภาครัฐกลับมีข้อข้อมูลปริมาณน้ำมัน รวมทั้งสารเคมีอื่น ๆ ที่มีอยู่ทั้งบนเรือและในอู่ซ่อมเรือน้อยมาก ทำให้การเตรียมการในอาจไม่ทันท่วงที ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสภาพสารเคมี 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.5 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.5 ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิด และ 12.6 สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่: เรือน้ำมันระเบิดแม่กลอง ‘คนก้าวไกล’ บี้รัฐเลิกดอง ‘กม.การปลดปล่อย-เคลื่อนย้ายมลพิษ’ (ประชาไท) 

จำนวนประชากรจีนหดตัว หวั่นกระทบการจ้างงานและเศรษฐกิจในประเทศ

วันที่ 17 มกราคม 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยข้อมูลประชากรทั่วประเทศ ว่าปี 2565 จีนมีลดลงราว 850,000 คน เหลือราว 1.41175 พันล้านคน นับเป็นการหดตัวลงมากสุดนับตั้งแต่ปี 2504 โดยอัตราการเกิดของประชากรจีนในปี 2564 อยู่ที่เพียง 6.77 ต่อประชากร 1,000 คน ลดลงจากปี 2564 ซึ่งมีอัตราเกิดอยู่ที่ 7.52 ต่อประชากร 1,000 คน อีกทั้งยังเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตของประชากรจีนเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 7.37 ต่อประชากร 1,000 คน นับเป็นอัตราส่วนสูงสุดตั้งแต่ปี 2517 ซึ่งจีนอยู่ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม และเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งจีนมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรอยู่ที่ 7.18 ต่อ 1,000 คน

สถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยสามเรื่อง ได้แก่ 1) เศรษฐกิจจีนอาจเกิดการชะลอตัว เนื่องจากรายได้ที่ลดลงและหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้ด้านสุขภาพและสวัสดิการที่เพิ่มสูงขึ้น 2)​ กำลังแรงงานและการผลิตที่ลดลงของจีน จะทำให้ค่าใช้จ่ายและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 3) คาดการณ์ว่าเดือนเมษายนปี 2566 อินเดียจะมีจำนวนประชากรแซงจีน ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่อินเดียสามารถยกมากล่าวอ้างในการเรียกร้องเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.7 สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.1 ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง และ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ

เข้าถึงได้ที่: ประชากรจีนลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี อินเดียจ่อขึ้นแท่นประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลกปีนี้ (Today) และ อินเดียจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อแซงจีนเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก (BBC News Thai)

ทีมวิจัยจาก MIT ไอเดียเจ๋ง พัฒนาแผ่นโซลาร์เซลเฉียบบาง หวังใช้งานง่ายขึ้น

ทีมวิจัย ONE lab จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาแผ่นโซลาร์เซลที่มีขนาดบางเฉียบและน้ำหนักเบากว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปถึง 100 เท่า แต่มีความทนทาน ยืดหยุ่น และสามารถนำไปติดบนพื้นผิวต่าง ๆ ได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อกิโลกรัมได้มากกว่าถึง 18 เท่า

กระบวนการผลิตแผ่นโซลาร์เซลดังกล่าว ทีมวิจัยเลือกใช้วัสดุที่ใช้หมึกและเทคนิคการผลิตที่สามารถปรับขนาดได้ เพื่อให้ง่ายในการปรับใช้ต่อยอดที่สุด โดยเริ่มจากการเคลือบวัสดุนาโนที่อยู่ในรูปของหมึกอิเล็กทรอนิกส์ ลงบนแผ่นใสชนิดลอกออกได้ จากนั้นใช้เทคนิคการพิมพ์สกรีนแบบง่าย ๆ พิมพ์ตัวอิเล็กโทรด หรือตัวนำไฟฟ้า ไว้ด้านบนโซลาร์เซลล์อีกชั้นจากนั้นก็ลอกแผ่นโซลาร์เซลล์ออก อย่างไรก็ตาม การนำแผ่นโซลาร์เซลนี้ไปใช้ยังมีความกังวลในเรื่องของการปกป้องหน้าของแผ่นโซลาร์เซลไม่ให้เกิดความเสียหายเมื่อสัมผัสกับอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมวิจัยต้องพัฒนาต่อไป 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก และ SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.b สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม

เข้าถึงได้ที่: MIT พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดบางเฉียบ แปะพื้นผิว สร้างแหล่งพลังงาน (TNN Online) และ #ENERGY ทีมนักวิจัยจาก MIT ได้พัฒนาแผ่นโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดบางเฉียบ น้ำหนักเบา มีความทนทานและยืดหยุ่น และสามารถนำไปติดบนพื้นผิวต่างๆได้ง่าย​(เพจเฟซบุ๊ก Environman)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version