โลกกำลังเผชิญความเสี่ยงรูปแบบ ‘ใหม่’ และวนเวียนความเสี่ยง ‘เก่า’ ที่กลับมาอีกครั้ง แต่อาจเด่นชัดและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยแพร่ รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) กล่าวถึง ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครนที่ยังส่งผลกระทบต่อโลก โดยเฉพาะเรื่อง “ค่าครองชีพ” ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วง 2 ปีข้างหน้า รวมถึงประเด็นความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความซบเซาทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี
รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 นำเสนอผลจากการเก็บข้อมูลผ่านการสำรวจ Global Risks Perception Survey (GRPS) ล่าสุด โดยได้สำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีต่อความเสี่ยงโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น (2 ปี) และความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาว (10 ปี) และเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงโลก World Economic Forum ได้วิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงผ่าน 5 มิติ ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ (economic) มิติสังคม (societal) มิติสิ่งแวดล้อม (environmental) มิติภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) และมิติเทคโนโลยี (technological)
จากเนื้อหารายงานการสำรวจในปี 2565 – 2566 สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
- ความเสี่ยงมิติสังคม “วิกฤตค่าครองชีพ” ติดอันดับ 1 ของความเสี่ยงโลกมีโอกาสรุนแรงที่สุดในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ ความเสี่ยงมิติสิ่งแวดล้อม ติดอันดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะยาว 10 ปี ถึง 6 อันดับ จาก 10 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับ 2 ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับ 3 ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหตุสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อันดับ 4 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ อันดับ 6 วิกฤตด้านทรัพยากรธรรมาติ และ อันดับ 10 เหตุความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 และสงครามในยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูง ซึ่งรัฐบาลและธนาคารกลาง อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ การแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical tensions) และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินอย่างเป็นวงกว้างในระยะยาว
- สงครามเศรษฐกิจ จะกลายเป็นเรื่องปกติ ใน 2 ปีข้างหน้า การปะทะระหว่างมหาอำนาจโลกจะทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ ขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถาม GRPS คาดหวังว่าการปะทะกันระหว่างรัฐ จะคงอยู่ในลักษณะสงครามทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ในอีก 10 ปีข้างหน้า
- เทคโนโลยี จะทำให้ความไม่เท่าเทียมรุนแรงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงจากความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล
- วิกฤตอาหาร เชื้อเพลิง และต้นทุน ทำให้ความเปราะบางทางสังคมรุนแรงขึ้น ขณะที่การลงทุนลดลงด้านการพัฒนามนุษย์ทำให้ความสามารถการตั้งรับปรับตัว (resilience) ในอนาคตลดลงตามไปด้วย
จากรายงานดังกล่าว ความเสี่ยงในประเด็นต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น โลกจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันและมองถึงวิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ในการสร้างเส้นทางสู่โลกที่ดีขึ้น ครอบคลุม และมั่นคงต่อไป
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | เปิดรายงานความเสี่ยง 2020 – โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
– อ่านรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2564 ดูผลกระทบที่มีต่อ “ความเป็นเมือง”
– SDG Updates | เมื่อความเสี่ยงหลักของทศวรรษคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – สรุปประเด็นสำคัญในรายงาน Global Risks Report 2022
– SDG Updates | เสริมภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย ผ่านกลไกการประกันและการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.10) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศเพื่อส่งเสริมและขยายการเข้าถึงการธนาคาร การประกัน และบริการทางการเงินแก่ทุกคน
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา: Global Risks Report 2023 | World Economic Forum
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย