เรียนรู้บทเรียนจากเคนยาและไทยในวิกฤตโควิด-19  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนมีบทบาทอย่างไร พร้อมค้นหาแนวทางการรับมือและอุปสรรค

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 เป็นวิกฤตระดับโลกที่ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ในช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานหลากหลายฟากฝ่าย ได้พยายามออกมาตรการและนโยบายในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิ ไต้หวัน ภาครัฐและเอกชน ได้มีการทำงานร่วมกันในการรับมือกับโควิด-19 ขณะที่ เกาหลีใต้ ได้สร้างแอปพลิเคชันขึ้นเพื่อติดตามผู้ติดเชื้อ แต่อีกด้านหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนาในหลายประเทศ กลับยังขาดความชัดเจนในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว อันเนื่องมาจากยังพบปัญหาของระบบการรักษาพยาบาลที่ไม่เท่าเทียม และขาดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญ เพื่อตอบคำถามว่าประเทศอื่น ๆ มีการจัดการกับการแพร่ระบาดอย่างไร นำมาสู่การค้นคว้าของงานวิจัยเรื่อง “Community Health Workers as Street-level Quasi-Bureaucrats in the COVID-19 Pandemic: The Cases of Kenya and Thailand” โดย รศ. ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ. ดร.อรอร ภู่เจริญ สถาบันพัฒนานโยบาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้เลือกสาธารณรัฐเคนยาและประเทศไทยขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา

สถานการณ์โควิด-19 ของสาธารณรัฐเคนยาและประเทศไทย ในปี 2563 ช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน สาธารณรัฐเคนยา แม้จะมียอดผู้ป่วยโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น แต่แนวโน้มของยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิต ก็ยังดีกว่าแอฟริกาใต้และประเทศอื่น ๆ โดยตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาด ช่วงปลายเดือนมีนาคมปี 2563 รัฐบาลของเคนยาและไทย ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติและกำหนดเคอร์ฟิวในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันการระบาดและกำหนดมาตรการอื่น ๆ ได้แก่ การกักตัว 14 วันสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ การจำกัดการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ กำหนดการเว้นระยะห่างทางสังคมในพื้นที่สาธารณะ ตลอดจนการปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า และสถานบันเทิง ทั้งนี้ ทางการเคนยาและไทย ยังได้ระดมกำลังพร้อมฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม. เกี่ยวกับเทคนิคในการป้องกันโควิด-19  เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีส่วนในการถ่ายทอดความรู้ด้านความปลอดภัยมาตรการป้องกันให้แก่ประชาชน

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ‘เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชน’ (Community Health Workers: CHWs) นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการช่วยชดเชยการขาดแคลนและการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ทั่วถึงในพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะในประเทศเคนยาและไทย ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชน มีบทบาทสำคัญในการคัดกรองและติดตามสมาชิกในชุมชน ส่งผลให้ตรวจพบเชื้ออย่างรวดเร็วและเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชน นับเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยในการกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ณ เวลานั้น ด้วยประเด็นดังกล่าว งานวิจัยฉบับนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน และเป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

เพื่อสำรวจบทบาทและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชน (Community Health Workers: CHWs) หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของสาธารณรัฐเคนยาและประเทศไทย งานวิจัยฉบับนี้ ได้ใช้กรณีศึกษาระหว่างประเทศในการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ (comparative analysis) ผ่านวิธีดำเนินการวิจัย โดยการทบทวนวรรณกรรมเชิงลึก จากเอกสารต่าง ๆ ทั้งงานวิชาการ รายงานของหน่วยงาน และเอกสารทางการของรัฐบาล นำมาใช้ในการศึกษาตีความ (interpretive approach) ร่วมกับการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (semi-structured Interview) โดยได้ออกแบบคำถามแบบกว้าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนในสาธารณรัฐเคนยาและประเทศไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสัมภาษณ์ทั้งสิน 22 คน เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนของไทย 12 คน และเคนยา 10 คน 

จากงานวิจัยดังกล่าว ค้นพบผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ

  • จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนของประเทศเคนยาและไทย พบว่า การปฏิบัติงานมีความคลุมเครือและไม่แน่นอน ซึ่งช่วงปลายเดือนมีนาคมปี 2563 ยังไม่มีแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนของเคนยา ได้นำแนวทางในการจัดการกับโรคอีโบลา (ebola) มาปฏิบัติใช้เป็นแนวทางในการสอดส่องดูแลชุมชนก่อนจะมีคำสั่งจากรัฐบาลออกมา
  • ขณะที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนของประเทศไทย ในฐานะ “ตัวแทนของรัฐ” ต้องรออำนาจการสั่งการจากรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการและนโยบายถึงจะดำเนินการได้ เนื่องจากระบบสาธารณสุขของไทยเป็นแบบการรวมศูนย์อำนาจ (centralization) เน้นสายการบังคับบัญชา คำสั่งจึงมีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ เคนยา เจ้าหน้าที่มีฐานะเป็น “ตัวแทนพลเมือง” สามารถค้นหาข้อมูลและหารือแนวทางการเพื่อดำเนินการเชิงป้องกันได้ด้วยตนเอง ซึ่งทำให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
  • ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่สุดที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนของเคนยาและไทยต้องเผชิญคือความไม่ตรงกันระหว่างสิ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ขณะเดียวกันทรัพยากรกับไม่เพียงพอในการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่จะต้องแจกจ่ายให้แก่ชุมชนหรือกลุ่มเปราะบาง
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชนของเคนยา อาศัยเงินทุนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Governmental Organizations: NGOs) ในพื้นที่หรือเงินของตนเอง ในการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) หรือสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย สบู่ และเจลทำความสะอาดมือ เนื่องจากรัฐบาลขาดงบประมาณในการสนับสนุน ขณะที่ ประเทศไทย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชน สามารถใช้เงินทุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวอภิปรายผลที่น่าสนใจไว้หลายประการ อาทิ

  • บริบทของสถาบันทางการเมือง มีผลต่อพฤติกรรมและแรงจูงใจในการให้บริการสาธารณะของผู้ปฏิบัติงานระดับแนวหน้า ซึ่งผลการศึกษาพบว่า บุคลากรสาธารณสุขในระบบสาธารณสุขแบบกระจายอำนาจ (decentralization) จะมีแรงจูงใจมากกว่าบุคลากรในระบบสาธารณสุขแบบรวมศูนย์ อย่างน้อยก็ในแง่ของการลงทุนเงินส่วนตัวสำหรับบริจาคเพื่อซื้อหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ
  • แม้ว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชน จะไม่ถือว่าเป็นข้าราชการประจำของรัฐ แต่การศึกษาพบว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับชุมชน คาดหวังว่าตนเองจะสามารถปฏิบัติงานเสมือนผู้ให้บริการที่มีความชำนาญ (professional service) และสามารถใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้
  • ผู้กำหนดนโยบาย ควรให้ความสำคัญในการออกแบบกรอบการบริหารด้านสถาบัน (institutional framework) ของอาสาสมัครพลเมือง หรือ กึ่งราชการ (quasi- bureaucratic) ระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้สามารถดำเนินนโยบายสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาแนวทางแก้ไขได้ด้วยตนเองเมื่อจำเป็น

กล่าวโดยสรุป แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 จะคลี่คลายลงแล้ว แต่กรณีศึกษาของเคนยาและไทย นับมีความสำคัญต่อประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ซึ่งจากงานวิจัย “Community Health Workers as Street-level Quasi-Bureaucrats in the COVID-19 Pandemic: The Cases of Kenya and Thailand” สะท้อนให้เห็นว่าบุคลากรแนวหน้าได้ช่วยลดช่องว่างระหว่างรัฐบาลและประชาชน ซึ่งการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนและชุมชนในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท และบนความไม่แน่นอนเพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตครั้งใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้ ปรับตัว อยู่เสมอ อาจช่วยลดการสูญเสียที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในอนาคต

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

ข้อมูลงานวิจัย: Sudhipongpracha, T., Poocharoen, O.-O. (2021). Community Health Workers as Street-level Quasi-Bureaucrats in the COVID-19 Pandemic: The Cases of Kenya and Thailand. Journal of Comparative Policy Analysis: Research and Practice, 23(2):234-249. DOI:10.1080/13876988.2021.1879599.

ชื่อผู้วิจัย – สังกัด: รศ. ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ. ดร.อรอร ภู่เจริญ สถาบันพัฒนานโยบาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on มกราคม 26, 2023

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น