การศึกษาตามโครงการ Area Need ปีที่ 1 ทำให้ทราบความต้องการความรู้สำหรับแก้ไขปัญหาสำคัญของแต่ละพื้นที่ แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลและการศึกษาปัญหาสำคัญของพื้นที่อยู่ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรงทำให้แทบทุกพื้นที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา และการรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ทว่าเมื่อเริ่มดำเนินการโครงการปีที่ 2 สถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง ทั้งยังมีปัญหาอื่น ๆ เกิดขึ้นประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่แผนพัฒนาระดับประเทศหลายแผนเข้าสู่การดำเนินการตามแผนฉบับใหม่ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 การมีแผนวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ฉบับสมบูรณ์ อาจส่งผลให้ความต้องการพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์
ดังนั้น การศึกษาในปีที่ 2 จึงเริ่มต้นด้วยการทบทวนความสำคัญของประเด็นปัญหาเพื่อให้การค้นหาช่องว่างความรู้ และกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์มีความชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการปัจจุบันของพื้นที่ ในปีที่ 2 มีการดำเนินตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.คืนข้อมูล
จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ที่ร่วมกระบวนการ เพื่อนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาในปีก่อน และให้ผู้เข้าร่วมพิจารณาความสำคัญ ความรุนแรงของผลกระทบ ในประเด็นที่ได้จัดทำขึ้นอีกครั้ง เพื่อทบทวนลำดับความสำคัญก่อนวิเคราะห์ช่องว่างในการปฏิบัติการและช่องว่างความรู้ในการบรรลุความต้องการที่สำคัญ
2. ทบทวนลำดับความสำคัญของประเด็น
ในการทบทวนลำดับความสำคัญของประเด็น คณะผู้วิจัยใช้ mentimeter ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับสอบถาม ระดมความเห็นมาใช้ในการให้ผู้เข้าร่วมประชุมให้คะแนนจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาเพื่อทบทวนว่า “ประเด็นที่ได้จากปีที่ 1 ยังสำคัญอยู่หรือไม่?” ผ่านคำถาม 4 คำถาม ได้แก่
- ปัญหานั้นยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลอยู่หรือไม่?
- ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อคนวงกว้าง (scale) มากน้อยเพียงใด?
- มีผู้ได้รับความรุนแรงจากผลกระทบ (depth) มากน้อยเพียงใด?
- ในการแก้ปัญหานี้มีประสิทธิผลเชิงนโยบายมากน้อยเพียงใด
จากการให้คะแนนจะทำให้ได้ประเด็นที่แต่ละภาคให้ความสำคัญที่เป็นปัจจุบัน
3. พื้นที่มีความรู้และนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้หรือไม่
เมื่อได้ประเด็นสำคัญที่เป็นปัจจุบันแล้ว ต่อมาจึงเข้าสู่การหาช่องว่างความรู้ (knowledge gap) เพื่อสำรวจว่างานวิจัยที่มีอยู่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาหรือไม่โดยค้นหางานวิจัยจากฐานข้อมูลระบบ NRIIS และสำรวจถึงแผนงาน นโยบายว่ามีเพียงพอต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่หรือไม่ โดยพิจารณาการมีอยู่ทั้งแผนระดับจังหวัด ระดับกลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาระดับตำบล ชุมชน
หากสำรวจแล้วพบว่ามีงานวิจัยและนโยบายเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนั้นก็จะใช้กลไก ววน. ในการสนับสนุนให้เกิดการใช้ความรู้ แต่หากสำรวจแล้วพบว่าไม่มีหรือไม่เพียงพอ กลไก ววน. จะทำให้ที่เป็นหน่วยเชื่อมร้อยกับส่วนกลางเพื่อกำหนดนโยบาย ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ที่นำมาสู่การสนับสนุนการผลิตความรู้เพิ่มเติมเพื่ออุดช่องว่างความรู้ที่มีอยู่ต่อไป
● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
– Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้ชายแดน
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ ไปจนถึง เมษายน 2566