จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 26 มกราคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
สธ.แจ้งเตือนทุกจังหวัดเฝ้าระวัง PM2.5 หากเกินมาตรฐานให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯรับมือ
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เว็บไซต์สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ข้อมูล เตือนให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น พร้อมเตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการใน 23 จังหวัดและให้สถานพยาบาลเตรียมยาและเวชภัณฑ์ หลังพบข้อมูลคนป่วยแล้วกว่า 2 แสนราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 9 หมื่นกว่าราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ได้ระบุว่า หากจังหวัดใดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกิน 51 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC) เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ส่วนจังหวัดที่มีค่า PM 2.5 ระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ให้เปิดศูนย์บัญชาการสถานการณ์ (Operation Center : OC) ระดับจังหวัดรองรับ รวมถึงให้เร่งรัดสื่อสารความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 แจ้งเตือนถึงความเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพ ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีจังหวัดที่ต้องเผชิญกับค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานแล้วกว่า 24 จังหวัด โดยจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ขณะที่อีก 23 จังหวัด อยู่ระหว่างเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573 และ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
เข้าถึงได้ที่ : สธ.แจ้งเตือนเฝ้าระวัง PM2.5 พบคนป่วยแล้วกว่า 2 แสนราย แจ้งสถานพยาบาลเตรียมยาและเวชภัณฑ์รับมือ | ประชาไท Prachatai.com
รายงานของ WHO ที่ผ่านมาสะท้อนความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมของ ‘เด็ก’
ตลอดหลายปีที่ผ่าน จากรายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) บ่งชี้ว่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมและมลพิษ เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การเจ็บป่วย และความบกพร่องทางร่างกายของเด็ก ซึ่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม (environmental risk) ประกอบด้วย 5 อันดับสูงสุด ได้แก่ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศ สารเคมี น้ำและสุขอนามัย กัมมันตรังสี อันเป็นเหตุให้ผู้คนบนโลกต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งยังต้องแบกรับภาระโรคที่เกิดจากความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เปราะบางที่สุดอย่างเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและชุมชนยากจน ที่ยังคงขาดความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดต่อสุขภาพของเด็ก โดยความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมนั้น มีสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 25 ของภาระโรคของเด็กที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 5 ปี ปัญหาสุขภาพของเด็กมักจะมาจากการเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ที่เล่นและสถานที่เรียนรู้
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573 SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.b ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
เข้าถึงได้ที่ : เด็ก ภาวะถดถอย และภาระความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม – greenpeace
ศาลรับฟ้อง หลังชาวระยอง 832 ราย ยื่นฟ้อง SPRC และ PTTGC ให้ฟื้นฟูทะเลจากเหตุน้ำมันรั่ว
เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Rising Sun Law’ ของบริษัท กฎหมาย ไรซิ่ง ซัน จำกัด ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดระยองมีคำสั่งรับฟ้อง และเนื่องจากการยื่นฟ้องในคดีนี้มีการเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โจทก์ที่ฟ้องคดีจะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมศาลต่อศาล ซึ่งคดีนี้โจทก์ได้มีการยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลด้วย แต่ศาลได้มีคำสั่งยกร้อง ไม่อนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หลังชาวระยองทั้งที่เป็นชาวประมงพื้นบ้าน พ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเล รถเร่ชายหาด และผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว รวม 832 ราย ร่วมกับสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง พร้อมทีมทนายความจาก Rising Sun Law เดินหน้ายื่นฟ้อง บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC และ PTTGC ให้ฟื้นฟูทะเลจากกรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลระยองอย่างต่อเนื่องเป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นจำเลยที่ 2 จากกรณีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลระยองอย่างต่อเนื่องกว่า 400,000 ลิตร จากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SINGLE POINT MOORING SYSTEM) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 อันเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
เข้าถึงได้ที่ : ศาลรับฟ้อง หลังชาวระยองเดินหน้ายื่นฟ้อง SPRC และ PTTGC ให้ฟื้นฟูทะเลจากเหตุน้ำมันรั่ว | ประชาไท Prachatai.com
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เร่งสางปมปัญหาที่ดิน ‘เกาะหลีเป๊ะ’ เดินหน้าดำเนินคดีนายทุนรุกพื้นที่
พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ
วันที่ 25 มกราคม 2566 นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดี โฆษกกรมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงกรณีการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จากประเด็นปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินระหว่างชาวเลอูรักลาโว๊ย บนเกาะหลีเป๊ะ กับผู้ประกอบการ คณะกรรมการฯ กรมที่ดินได้ชี้ยืนยันแนวเขต หนังสือแสดงสิทธิการครอบครองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 11 ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ จากหนังสือชี้ว่า การครอบครองดินส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรีสอร์ท มีหนังสือแสดงสิทธิการครอบครองที่ดิน น.ส.3 และ ส.ค.1 โดยมีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ น.ส.3 เลขที่ 11 ด้วย และจากการตรวจสอบพื้นที่ พบว่า ตามเอกสาร น.ส.3 เลขที่ 11 พื้นที่จำนวน 81 – 3 – 40 ไร่ พื้นที่บางส่วนได้ซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเลดั้งเดิม และมีบางส่วนของชุมชนอยู่นอกพื้นที่ น.ส.3 เลขที่ 11 การแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบที่ดินตามหลักฐานเอกสาร น.ส.3 ส.ค.1 พร้อมที่ตั้งของที่อยู่อาศัยของราษฎรชาวเล และทำแผนที่แนวเขตที่ดินในรูปของคณะกรรมการฯ
ในส่วนกรณีที่นายทุน ได้มีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทางอุทยานฯ ได้ดำเนินคดีพื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ มาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน รวม 44 คดี โดยมีคดีสิ้นสุดแล้ว 22 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 18 คดี ชั้นศาล 4 คดี ล่าสุดจากการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 กรมที่ดินได้ชี้ยืนยันแนวเขตร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ พบว่า มีรีสอร์ทเข้าทำประโยชน์นอกพื้นที่จำนวน 2 แห่ง ทำให้จึงได้ดำเนินการตรวจยึดสระน้ำของรีสอร์ทที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง จากที่ได้ดำเนินคดีไปแล้ว รวม 3 คดี ขณะที่ ชุมชนชาวเลที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ น.ส.3 เลขที่ 11 นั้น กรมอุทยานฯ จะดำเนินการสำรวจตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หากพบว่าเป็นนายทุนครอบครองทางกรมจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม
เข้าถึงได้ที่ : กรมอุทยานแห่งชาติฯ เร่งแก้ปมปัญหาหลีเป๊ะ ดำเนินคดีนายทุนรุกพื้นที่ ตั้งคณะกรรมการทุกภาคส่วนร่วมตรวจสอบ – Facebook Environman
เงินช่วยเหลือของญี่ปุ่น อาจกลายเป็นเงินสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า
Human Rights Watch เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2565 Yokogawa Bridge Corp. โอนเงินกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ Myanmar Economic Corporation (MEC) บริษัทของกระทรวงกลาโหมพม่า โดยเงินจำนวนนี้ เป็นเงินเพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจเป็นการสนับสนุนกิจการของกองทัพในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าทางอ้อม Human Rights Watch จึงเรียกร้องให้ รัฐบาลญี่ปุ่น ควรระงับความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมที่ดำเนินอยู่ทั้งหมดที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทหารของพม่า เพราะเป็นการส่งเสริมการก่ออาชญากรรมอย่างกว้างขวางและเป็นระบบตั้งแต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นควรให้หลักประกันว่า บริษัทญี่ปุ่น รวมถึง Yokogawa Bridge Corp. จะยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับหน่วยงานที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของหรือควบคุม ซึ่งที่ผ่านมา MEC เป็นบริษัทที่สร้างรายได้มหาศาลผ่านธุรกิจในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และโทรคมนาคม ซึ่งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป และแคนาดา ได้คว่ำบาตร MEC ไปแล้วก่อนหน้า
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.8 เสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของธรรมาภิบาลระดับโลก และ SDG 17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.19 ต่อยอดจากข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในการพัฒนามาตรการวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่ : เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของญี่ปุ่น อาจกลายเป็นเงินสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า-Thairath
จัดการประชุม IMPAC ครั้งที่ 5 ร่วมหารือแนวทางปกป้องพื้นที่มหาสมุทรโลกให้ได้ร้อย 30 ภายในปี 2573
เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพของโลกได้ลดลง สัตว์หลายพันชนิดอาจสูญพันธุ์ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่าน จากการประชุม UN Biodiversity Conference หรือ CBD COP 15 ได้ตกลงรับกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล (Global Biodiversity Framework : GBF) ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะอนุรักษ์ร้อยละ 30 ของพื้นที่บนบก มหาสมุทร พื้นที่ชายฝั่งทะเล และน่านน้ำทั่วโลก ภายในปี 2573 และเพื่อกำหนดแนวทางปกป้องพื้นที่มหาสมุทรโลกให้ได้ร้อย 30 จึงกำหนดให้ระหว่างวันที่ 3-9 กุมภาพันธ์ 2566 มีการจัดประชุม International Marine Protected Areas Congress ครั้งที่ 5 (IMPAC5) ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งรวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองและไม่ใช่ชนเผาพื้นเมือง ชุมชน ผู้นำ และประชาชาติ ได้มีโอกาสมาประชุมร่วมกันเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์พื้นที่มหาสมุทรและความยั่งยืน
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563 และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
เข้าถึงได้ที่ : MPA Congress to Chart Path to Protecting 30% of Global Ocean by 2030 | News | SDG Knowledge Hub | IISD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย