มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอันลิงเกอร์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน จัดการสัมมนาสาธารณะในชื่อ “Net Zero Thailand: มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในประเทศไทย โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย และการประยุกต์ใช้สำหรับประเทศไทย” (Toward Net Zero Thailand with Insights from the US & Australia and Application for Thailand) เพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกหวังนำไปสู่การวิเคราะห์แนวทางในการบรรลุพันธสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ และยืนยันความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัย
วันที่ 20 มกราคม 2566 เวลา 09:00 – 11:00 น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอันลิงเกอร์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Andlinger center for energy and the environment) จัดการสัมมนาสาธารณะ “Net Zero Thailand: มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในประเทศไทย โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย และการประยุกต์ใช้สำหรับประเทศไทย” (Toward Net Zero Thailand with Insights from the US & Australia and Application for Thailand) ณ ห้องประชุม ศ.424Y (ห้องประชุมอาจารย์ ป๋วย) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมี ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะผู้จัดงาน กล่าวต้อนรับผู้นำเสนอและผู้ร่วมงาน หลังจากนั้น ศ.ดร.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กล่าวเปิดงาน พร้อมยืนยันถึงความร่วมมือระหว่าง “TU-Princeton” ในการเป็นกลไกภาควิชาการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ตามที่ได้ให้คำมั่นเอาไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)
กิจกรรมหลักของการสัมนนาครั้งนี้ คือการนำเสนองานวิจัยในหัวข้อ “Insights from Net Zero America & Australia and Application for Thailand” โดย Dr. Chris Greig จากศูนย์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอันลิงเกอร์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ริเริ่มการวิจัยระดับนานาชาติ และกำลังสนับสนุนการดำเนินงานที่คล้ายกันในประเทศไทย อินเดีย บราซิล ชิลี และอิสราเอล การนำเสนอครั้งนี้ Dr. Chris Greig ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึก ข้อค้นพบสำคัญจากกรณีศึกษาในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียโดยมีใจความสำคัญว่า กระบวนการ “Net Zero America” (NZA) ที่ได้ศึกษานั้นมีความแตกต่างจากการศึกษาก่อนหน้านี้ทั้งในแง่แนวทางที่มุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่แตกต่างกัน ระดับของการใช้พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนบทบาทของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และฟอสซิลจากเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงขนาดใหญ่
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่สุทธิเป็นศูนย์สามารถจ่ายได้ และมีต้นทุนบริการด้านพลังงานต่อปีเทียบเคียงได้กับปัจจุบัน แต่จะเผชิญกับความเสี่ยงที่สำคัญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างกว้างขวาง ความท้าทายด้านใบอนุญาตทางสังคม การระดมแรงงาน และการระดมการพัฒนาและทุนการก่อสร้าง
ในช่วงท้ายของการเสวนาได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้อภิปราย และแลกเปลี่ยนข้อคำถามกับผู้นำเสนอโดยมี รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เป็นผู้ดำเนินรายการ ประเด็นส่วนใหญ่ที่ผู้เข้าร่วมให้ความสนใจและเห็นว่าเป็นความท้าทายสำคัญคือการนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ซึ่ง Dr. Chris Greig ให้ความเห็นว่ากระบวนการวิเคราะห์ และการนำไปปรับใช้ด้วยแนวทางเดียวกันนี้มีความท้าทายกว่าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
SDG Move จะทำการสรุปสัมมนาฉบับเต็มเป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ให้ทุกท่านเข้าถึงได้ในเร็ว ๆ นี้
เข้าถึงเอกสารประกอบการสัมมนาได้ที่นี่
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร