จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
กระทรวงยุติธรรม และ กสม. ออกแถลงการณ์ทบทวนระเบียบคุมขัง-ประกันตัว
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงยุติธรรมหารือและออกแถลงการณ์ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในประเด็นความห่วงใยสวัสดิภาพของผู้ต้องขัง กรณี ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมทางการเมืองที่ปัจจุบันอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวแก่นักโทษทางการเมืองคนอื่น ๆ โดยสาระสำคัญของการหารือและแถลงการณ์ ได้แก่ 1) กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาดำเนินการปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราว 2) กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับในปัจจุบันเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิดหรือความเห็นต่าง 3) กระทรวงยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุนหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ผ่านกลไกของกองทุนยุติธรรม และ 4) กสม. จะให้การสนับสนุนในการจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐทั้งสองแล้ว ภาคส่วนอื่น ๆ ก็มีการเคลื่อนไหวต่อกรณีเดียวกัน โดยภาคการเมือง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา เพื่อสอบถามถึงบรรทัดฐานการให้สิทธิประกันตัวกับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีทางการเมือง รวมทั้งเรียกร้องให้ยึดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้านนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นำโดย รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ เข้าหารือกับกระทรวงยุติธรรม โดยขอให้กรมราชทัณฑ์อัปเดตอาการของ ตะวัน-แบม และเสนอให้ผู้ต้องหา/จำเลยที่ศาลยังไม่ตัดสินคดี ใช้การใส่กำไลอีเอ็มแทนการคุมขัง ขณะที่ภาคประชาชนจากหลายเครือข่ายซึ่งได้รวบรวม 6,514 รายชื่อ change.org รวมตัวกันเดินขบวนไปยังศาลฎีกา เพื่อยื่นรายชื่อดังกล่าวสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เข้าถึงได้ที่: กระทรวงยุติธรรม และ กสม. ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีตะวัน-แบม พร้อมทบทวนระเบียบคุมขัง-ประกันตัวคดีผู้เห็นต่าง (The Standard)
แจ้งเตือนค่าฝุ่น PM2.5 ผ่านไลน์ ฟีเจอร์ใหม่จากความร่วมมือของ กทม. และไลน์ คอมพานี
วันที่ 30 มกราคม 2566 ประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และ พิชญ์ หมื่นรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) ลงนามร่วมกันในบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการ LINE ALERT ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มฟีเจอร์แจ้งเตือนค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงการส่งข่าวสารที่เกี่ยวกับคุณภาพอากาศและสถานการณ์ของมลพิษทางอากาศที่อาจเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ทั้งนี้ LINE ALERT เป็นบัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงที่พัฒนาและดำเนินการโดย LINE ประเทศไทย การแจ้งเตือนครอบคลุมถึงการอัปเดตสถานะภัยพิบัติ (disaster update) เบอร์ติดต่อฉุกเฉิน (emergency call) การเช็กพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ (risk area) ข้อมูลโรงพยาบาลใกล้เคียง และการแนะนำวิธีการป้องกันตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้สนใจรับการแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM2.5 ผ่านฟีเจอร์ใหม่นี้ สามารถเพิ่มเพื่อนได้โดย ค้นหาไอดี @linealert หรือ คลิก https://lin.ee/l40xtWN
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
เข้าถึงได้ที่: กทม. จับมือ LINE ประเทศไทย แจ้งเตือนค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ บน LINE ALERT (Today)
รมว. กระทรวงดิจิทัลฯ ชี้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวิถีชีวิตของบางกลุ่ม หวังผลักดันให้ถูกกฎหมาย
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีการขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ว่าเรื่องนี้ต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรวบรวมพยานหลักฐานและจับกุมผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย รวมถึงประสานข้อมูลกันในการขอปิดกั้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงฯ ก็ทำมาตลอด พร้อมเสนอแนวคิดด้วยว่าประเทศไทยควรทำให้ “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย” เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากคนส่วนมากยอมรับได้ก็ควรให้มีการขายและเก็บภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อเอาภาษีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลพี่น้องประชาชนในเรื่องอื่น ลดภาระประชาชน ไม่ทำกฎหมายให้ขัดต่อวิถีชีวิตประชาชน มันจะแก้ปัญหาเรื่องส่วยและแก้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันได้” นอกจากนี้ ชัยวุฒิ ยังอ้างถึงว่าประเทศในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ต่างก็ปลดล็อกให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายทั้งสิ้น
สำหรับกฎหมายของไทย ปัจจุบันระบุว่า ผู้ครอบครองมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ลักลอบนำเข้าโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่กรมควบคุมโรคออกมาเตือนล่าสุดเมื่อ 31 มกราคม 2566 ว่าสารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารพิษอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งคนที่สูบและคนที่อยู่รอบข้างที่ได้รับควันหรือละอองไอสีขาว เนื่องจากนิโคตินเป็นสารเสพติดโดยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เมื่อเสพนิโคตินแล้วจะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด สารนิโคตินทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหดตัวและทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย และ 3.a เพิ่มความเข้มแข็งการดำเนินงานของกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบในทุกประเทศตามความเหมาะสม
เข้าถึงได้ที่: ‘ชัยวุฒิ’ พร้อมดัน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ให้ถูกกฎหมาย ย้ำ ควรเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี แก้ปัญหาคอร์รัปชัน (The Reporter)
CPJ กังวลกฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ของอังกฤษจะเป็นเครื่องมือปิดปากสื่อ
วันที่ 27 มกราคม 2566 เมเดลีน เอิร์บ ที่ปรึกษากองบรรณาธิการฝ่ายเทคโนโลยีของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalist: CPJ) วิเคราะห์ว่าร่างกฎหมาย “ความปลอดภัยออนไลน์” ฉบับใหม่ของอังกฤษ จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ รวมถึงเสี่ยงต่อการทำลายการเข้ารหัสข้อมูลที่จะกระทบต่อการสื่อสารอย่างปลอดภัยและกระทบต่อการทำข่าวเกี่ยวกับผู้อพยพ เนื่องจากระบุให้โซเชียลมีเดียต้องแจ้งต่อรัฐบาลอังกฤษทุกครั้งที่มีการอัปโหลดวิดีโอเกี่ยวกับการที่ผู้อพยพข้ามแดนเข้าสู่อังกฤษ
ด้าน มิเชลล์ ดอเนลัน รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และกีฬา ของอังกฤษ เคยแถลงถึงเรื่องนี้ไว้ก่อนหน้านี้ว่าการโพสต์วิดีโอเกี่ยวกับการข้ามแดนของผู้อพยพ “ในทางบวก” นั้นอาจจะนับเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในแง่ที่ว่าเป็นการ “ส่งเสริมการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” โดยที่ดอเนลัน เรียกร้องให้มีการถอดเนื้อหาเหล่านี้ออกจากพื้นที่สื่อต่าง ๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาขุนนางอังกฤษและอาจจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมก่อนนำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายในปีนี้
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
เข้าถึงได้ที่: CPJ หวั่นกฎหมายไอทีใหม่ของอังกฤษกระทบเสรีภาพสื่อ-ความปลอดภัยไซเบอร์ (ประชาไท)
UN DESA เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจโลก ชี้การเติบโตที่ชะลอตัวส่งผลต่อ SDGs
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department of Economic and Social Affairs: UN DESA) เผยแพร่รายงาน “World Economic Situation and Prospects 2023” ฉบับปรับปรุงล่าสุด โดยเนื้อหาสำคัญระบุว่าการเติบโตของผลิตภาพของโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.9% ในปี 2566 พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีมาตรการทางการคลังที่แข็งแกร่งเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกและสนับสนุนวาระการพัฒนา
นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังแนะนำให้มีการลงทุนภาครัฐเชิงกลยุทธ์ ทั้งการศึกษา สุขภาพ โครงพื้นฐานดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการบรรเทาและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบทางสังคมอย่างคุ้มค่า ช่วยเร่งให้ผลิตภาพของโลกเกิดการเติบโต อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างการตั้งรับปรับตัวต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศต้องได้รับการหนุนเสริมให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อขยายการช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินกรณีฉุกเฉิน ลดหนี้สินในประเทศกำลังพัฒนา และขยายการจัดหาเงินทุนสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 8 โดยเฉพาะ เป้าหมายย่อยที่ 8.2 บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม 8.3 ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่าและให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา 17.4 ช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุความยั่งยืนของหนี้ระยะยาว 17.13 เพิ่มพูนเสถียรภาพเศรษฐกิจมหาภาคของโลก 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
เข้าถึงได้ที่: Tepid Economic Growth Threatens SDGs, Warns UN Flagship Report (IISD)
WHO เรียกร้องให้แบ่งปันวัคซีนแก่ประเทศยากจน พร้อมแนะแก้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่ร่างข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 (pandemic treaty) แก่ประเทศสมาชิก โดยมีเนื้อหาสำคัญ ได้แก่ 1) กำหนดมาตรการให้มีการสำรอง 20% ของการพัฒนาวัคซีนไว้สำหรับประเทศยากจน 2) การปรับปรุงระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 บางชนิดไม่ติดลิขสิทธิ์ และ 3) เครือข่ายซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ของ WHO Global Pandemic ใหม่เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกระจายมาตรการตอบโต้ที่ดีและยุติธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงแผนการชดเชยทั่วโลกสำหรับการบาดเจ็บจากวัคซีน
ทั้งนี้ การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 และมีกำหนดจะดำเนินต่อไปจนถึงปี 2567 ซึ่งประเทศสมาชิกได้ตกลงว่าสนธิสัญญาจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะบังคับใช้อย่างไร โดย Fadela Chaib โฆษกขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงข้อตกลงข้างต้นว่า “นี่เป็นโอกาสครั้งเดียวในชั่วอายุคนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการคุ้มครองและปรับปรุงสุขภาพของผู้คนในโลก”
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.6 เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศและในภูมิภาคแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี และการเข้าถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
เข้าถึงได้ที่: Draft WHO pandemic deal pushes for equity to avoid COVID ‘failure’ repeat (Reuters)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กุมภาพันธ์ 6, 2023