นวัตกรรมเพื่อสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย มีทิศทางการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน อย่างไร? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล’

ชวนอ่านงานวิจัย “ศึกษาทิศทางการพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่เหมาะสมกับประเทศไทย” โดย รศ. ดร.ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวสู่การปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พลังงาน การเกษตร สาธารณสุข รวมถึงการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก (sustainable development goals: SDGs) โดยพัฒนาและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก

ในยุคที่เต็มไปด้วยการแข่งขันด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความท้าทายในการขับเคลื่อนต่อการพัฒนาประเทศคือ “การขยายผลเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ประชาชน” เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางนวัตกรรมของสังคม การสร้างเครือข่ายธุรกิจ การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ กำลังการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนากำลังคน โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือ “เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน” ภายใต้กรอบประเด็นนวัตกรรมเพื่อสังคม (social innovation) 9 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ด้านการเชื่อมโยงระหว่างอาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ด้านภาครัฐและการศึกษา 4) ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 6) ด้านความเป็นเมือง 7) ด้านสุขภาพ 8) ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) ด้านการจัดการภัยพิบัติ

งานวิจัยของ รศ. ดร.ธนิท ในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทิศทางการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนและสังคมไทย เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก รวมถึงกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยนี้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผลการศึกษาสามารถสรุปประเด็นสำคัญแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. การวิเคราะห์นโยบายนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยการศึกษา รวมรวบ และวิเคราะห์ความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 เป้าหมาย และแผนนโยบายของ 18 หน่วยงานในประเทศ โดยวิเคราะห์ภายใต้กรอบประเด็นนวัตกรรมเพื่อสังคม 9 ด้าน พบว่า มีความสอดคล้องกับ “ด้านภาครัฐและการศึกษา” และ “ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” แสดงให้เห็นถึงประชาคมโลก รวมถึงประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในประเทศ และการพัฒนาควรเป็นไปในความยั่งยืนโดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

2. การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติภายใต้หัวข้อ “ทิศทางการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคม” จากการร่วมระดมความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในมุมมองของบุคลากรในประเทศไทย โดยได้พิจารณาจากผลการวิเคราะห์ SDGs 17 เป้าหมายและแผนนโยบายของ 18 หน่วยงานในประเทศ ในการประชุมได้จำแนกประเด็นนวัตกรรมออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ด้านความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร น้ำ และพลังงาน ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการภัยพิบัติ และด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 
  • กลุ่มที่ 2 ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม ด้านความเป็นเมือง และด้านภาครัฐและการศึกษา
  • กลุ่มที่ 3 ด้านสุขภาพ และด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

3. การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติภายใต้หัวข้อ “Thailand Future Week 2018 International Workshop on Future of Social Disruption and Sustainable Development Goals” ได้ลำดับความสำคัญของทิศทางการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนและสังคมไทย โดยสามารถสรุปทิศทางในการพัฒนาในแต่ละด้าน 3 อันดับแรก ได้ดังนี้

ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

  1. ขยะชุมชน
  2. น้ำเสีย
  3. ขยะทางการเกษตร

ด้านความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร น้ำ และพลังงาน

  1. การพึ่งพาพลังงานด้วยตนเองของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานเพื่อลดปัญหาการบริหารจัดการเชื้อเพลิง
  3. การบริหารจัดการน้ำ เช่น ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบผันน้ำชลประทานด้วยพลังงานสะอาด

ด้านภาครัฐและการศึกษา

ด้านภาครัฐ

  1. นวัตกรรมการบริการสาธารณะ
  2. ความเสมอภาคและการเข้าถึง
  3. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ด้านการศึกษา

  1. การเรียนรู้ตลอดชีวิต/ความคิดสร้างสรรค์
  2. เรียนรู้การปรับตัว
  3. เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง

ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม

ด้านการเงิน

  1. เงินทุนขนาดเล็กสำหรับกิจการเพื่อสังคม
  2. นวัตกรรมทางการเงิน
  3. ประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างและการเปิดเผยข้อมูล

ด้านการจ้างงานและสวัสดิการสังคม

  1. การจ้างงานสำหรับกลุ่มที่ด้อยโอกาส
  2. การพัฒนาเยาวชน
  3. การเพิ่มทักษะอาชีพ

ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน

  1. อาหารอินทรีย์
  2. การเกษตรอัจฉริยะ
  3. การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรและเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

ด้านความเป็นเมือง

ด้านเทคโนโลยี

  1. เมืองอัจฉริยะ (smart city)
  2. การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง
  3. การแบ่งพื้นที่: การเสริมสร้างพลังชุมชนและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง

ด้านฐานข้อมูลและการจัดการ

  1. รูปแบบการจราจรแบบสมาร์ทและการขนส่งสาธารณะ
  2. การจัดการที่จอดรถและการจัดการข้อมูลการขนส่งสาธารณะ
  3. ความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน (การเปิดเผยข้อมูล)

ด้านสุขภาพ

  1. สวัสดิการผู้สูงอายุ
  2. โทรเวชกรรม (telemedicine)
  3. ตำรับยาไทยแผนโบราณ

ด้านการท่องเที่ยว

  1. การท่องเที่ยวชุมชน/วัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
  2. แอปพลิเคชันแบบดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยว (เสริมสร้างศักยภาพของมัคคุเทสก์ในท้องถิ่นเพื่อให้ประสบการณ์ในท้องถิ่น)
  3. สร้างวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่า

ด้านการจัดการภัยพิบัติ

  1. การจัดการน้ำท่วม
  2. ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communication technology: ICT)
  3. การวางแผนและการจัดทำงบประมาณ

กล่าวโดยสรุป ทิศทางการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนและสังคมไทย พบว่า มีความเห็นที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการจัดการทรัพยากร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ได้เล็งเห็นถึงสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันที่ควรได้รับการแก้ไข ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น รวมถึงการจัดการทรัพยากร ต่อยอดองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ชุมชน ความคิดสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงผู้ได้รับผลประโยชน์เป็นสำคัญ อาทิเช่น เกษตรกร กลุ่มกิจการเพื่อสังคม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงพลเมืองและประชาสังคมในประเทศ เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแบบองค์รวมในประเทศต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทางบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับชาติและระดับภูมิภาค
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Kanokphorn Boonlert

    Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น