Site icon SDG Move

WHO ริเริ่มกรอบในการทำงาน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต จาก ‘มะเร็งเต้านม’ ลง 2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (The Union for International Cancer Control: UICC) กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น ‘วันมะเร็งโลก’ (World Cancer Day) จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า ในแต่ละปี มีผู้หญิงมากกว่า 2.3 ล้านคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งมะเร็งเต้านมนั้น เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโรคมะเร็งในผู้หญิง และส่งผลกระทบร้ายแรงที่สุดโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (low and middle-income countries : LMICs)  ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการริเริ่มกรอบในการทำงาน ‘Global Breast Cancer Initiative’ ขึ้น โดยมุ่งมั่นที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมลง 2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี 

แม้ว่าประเทศที่มีรายได้สูงจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมลงได้ถึงร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี 2533 แต่สำหรับผู้หญิงในประเทศที่ยากจนนั้น หนึ่งในความท้าทายหลัก คือ การได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างทันท่วงที ซึ่งคาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ทั่วโลก จะมีผู้ป่วยมากกว่า 3 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านรายในแต่ละปี ซึ่งประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม จะเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (LMIC)

เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้เหมาะสมและมีคุณภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้ก่อตั้ง Global Breast Cancer Initiative  หรือ GBCI ขึ้นในปี 2564 เพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลทั่วโลกเกี่ยวกับวิธีการเสริมสร้างระบบการตรวจหา วินิจฉัย และรักษามะเร็งเต้านม พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ โดยจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของสหประชาชาติและองค์กรพันธมิตรอื่น ๆ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลกและทุกภาคส่วนที่มีเป้าหมายร่วมกันในการลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมลง 2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละประเทศ และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ GBCI ได้ดำเนินการตามกรอบแนวคิดสามเสาหลัก ได้แก่ หนึ่ง การส่งเสริมสุขภาพและตรวจหาเชื้อในระยะแรกเริ่ม สอง การวินิจฉัยอย่างทันท่วงที และ สาม การจัดการดูรักษามะเร็งเต้านมแบบครบวงจร ในการเป็นกรอบเพื่อจัดการกับมะเร็งเต้านม

อย่างไรก็ดี การจัดการกับโรคมะเร็งในประเทศต่าง ๆ นั้น มะเร็งเต้านม ถือเป็นมะเร็งประเภทแรก ๆ ที่ต้องจัดการเนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในผู้หญิง โดยมะเร็งเต้านมพบมากที่สุดในผู้หญิงร้อยละ 86 ของประเทศ ดังนั้น การมีกรอบการทำงานนับเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่ช่วยให้การดำเนินการลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในปีต่อ ๆ ไปว่าควรมีการดำเนินการและปรับปรุงแผนไปในทิศทางเช่นไร 

สำหรับประเทศไทย Global Cancer 2020 เปิดเผยข้อมูลว่า พบมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิง และเป็นอันดับ 3 ทั้งเพศชายและหญิง โดยพบมะเร็งเต้านมรายใหม่ 22,158 ราย ต่อปี หรือชั่วโมงละ 2.5 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 8,266 รายต่อปี หรือ ชั่วโมงละ 0.94 คน จึงถือว่ามะเร็งเต้านมเป็นภัยร้ายต่อผู้หญิงทั้งในระดับโลก และในประเทศไทย

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
World Cancer Day 2021 – มะเร็งเต้านม แซงหน้ามะเร็งปอดขึ้นอันดับหนึ่ง มะเร็งที่ตรวจพบมากที่สุด 
รัฐบาลอังกฤษเปิดโอกาสให้ผู้หญิงแจ้งประสบการณ์ที่มีกับระบบสุขภาพ เพื่อพัฒนา ‘ยุทธศาสตร์สุขภาพของผู้หญิง’ 
Global Women’s Health Index ครั้งแรกของดัชนีชี้สุขภาพของผู้หญิงจากหลากมิติ 
SDG Updates | จาก ‘มะนาวโซดาแก้มะเร็ง’ ถึง ‘ครีมฝาแดงขาวไวในเจ็ดวัน’ – Health Literacy สัมพันธ์อย่างไรต่อการบรรลุ SDGs 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
WHO launches bid to tackle inequalities behind global breast cancer threat | UN News 
The Global Breast Cancer Initiative – WHO 
Global breast cancer initiative implementation framework: assessing, strengthening and scaling up of services for the early detection and management of breast cancer: executive summary – WHO
ภาพรวมของสถานการณ์ และยุทธศาสตร์ในการควบคุมมะเร็งเต้านม 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version