วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 มีการประชุมร่วมรัฐสภาเป็นพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องเร่งด่วน “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาสื่อมวลชน พ.ศ. …” โดยมี ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของคณะรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ ส.ส. หลายคน และการวิพากษ์วิจารณ์ขององค์กรด้านสื่อมวลชนถึงการใช้อำนาจของประธานรัฐสภาในการเรียกประชุมนัดพิเศษเพื่อผลักดันให้กฎหมายควบคุมสื่อบังคับใช้เร็วที่สุด
ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ตั้งต้นจากมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ
- ให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการปฏิบัติตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
- รายได้หลักของสภาวิชาชีพฯ มาจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นรายปีตามที่สภาร้องขอตามความจำเป็น แต่ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท
- โทษจากการฝ่าฝืนจากการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ได้แก่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิโดยเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้ อาจสั่งให้มีการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนด้วย และในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมเห็นว่าการฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย จะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปก็ได้
ส.ส. พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลหลายคน แสดงปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาร่างกฎหมายข้างต้น โดยระบุว่ารัฐบาลควรถอนร่างฯ ออกไป เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหา โดยเฉพาะคำว่า “จริยธรรมอันดี” ที่มีขอบเขตคำจำกัดความ จนอาจนำไปสู่การตีความ หรือใช้ดุลพินิจในการควบคุมสื่อ ซึ่งแต่ละคนก็มองไม่เหมือนกันได้ อาทิ พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่ารัฐบาลเสนอร่างกฎหมายที่ไม่จำเป็น ลิดรอนอิสรภาพของสื่อมวลชน อีกทั้งซ้ำซ้อน เป็นภาระในการจัดสรรงบประมาณ ขณะที่ จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ถามเรื่องการขีดเส้นสื่อแท้ สื่อเทียม บางสื่อไม่เข้าเกณฑ์แต่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ เรียกว่าสื่อหรือไม่ พร้อมทั้งไม่เห็นด้วยกับการโยงกับกรมประชาสัมพันธ์
ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนหลายองค์กรออกแถลงการณ์ค้านรัฐสภาดันร่างฯ อาทิ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 โดยใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า “…ความพยายามจัดทำร่าง พ.ร.บ.สื่อ และผลักดันให้มีผลบังคับใช้ ด้วยข้ออ้าง ‘เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระและเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน’ ตามที่ปรากฏในเจตนารมณ์ของการตราร่าง พ.ร.บ.นี้ อุปมาได้กับการ ‘สร้างภาพลวงตา’ ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เพียงต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายกว่า 30 ฉบับ ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเท่านั้น แต่ยังถูกกำกับและตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากภาคประชาสังคม และประชาชน โดยไม่มีความจำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้นในการตราร่าง พ.ร.บ.นี้..”
ขณะที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน ระบุว่า “..สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่ารัฐสภาควรคำนึงถึงการรับรู้ และความมีส่วนร่วมของสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายใด ๆ โดยตรงในฐานะเจ้าภาพที่ย่อมรู้ว่ากฎหมายจะเข้าสภาช่วงเวลาใด สมควรที่จะกำหนดเวลาจัดเวทีสาธารณะล่วงหน้า เพื่ออธิบายให้เข้าใจในวงกว้างและก็ให้หลักประกันในหลักการที่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมที่เกี่ยวข้อง แต่กลับละเลยเหมือนไม่ให้ความสำคัญกับผู้ที่จะถูกบังคับใช้และเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ และมีทีท่าจะเร่งรีบรวบรัดให้กฎหมายออกมามีผลบังคับใช้ใน 3 วาระ..”
ทั้งนี้ การออกมาคัดค้านต่อการพิจารณาร่างฯ ในการประชุมครั้งล่าสุดนี้ มีมูลเหตุจากกระแสข่าวที่ว่าจะมีความพยายามผลักดันผลักดันให้ผ่าน ‘3 วาระรวด’ เพื่อให้ทันช่วงที่อายุสภาผู้แทนราษฎรเหลืออยู่ไม่มากก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่าหากปล่อยผ่าน ผลกระทบจะตกมาถึงผู้ที่ทำงานสื่อ ทั้งในแง่ของเสรีภาพในการนำเสนอข่าว การจัดการรายได้จากกิจการสื่อมวลชน ไปจนถึงการกำหนดโทษกรณีที่ผิดจริยธรรมสื่อซึ่งเป็นคำที่กว้างและเปิดกว้างแก่การตีความและแทรกแซงเพื่อควบคุม
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
แหล่งที่มา:
– สรุปเสียงค้าน-เห็นด้วย ร่างกฎหมายจริยธรรมสื่อฯ ประชุมร่วมรัฐสภานัดพิเศษกำลังพิจารณา (Today)
– ความเป็นมาและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน (สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ)
– 3 องค์กรวิชาชีพสื่อ ค้านรัฐสภาเร่งรัดดัน ‘พ.ร.บ.สื่อ’ หลังพบซ่อนปัญหาไว้เพียบ (The Matter)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย