ชวนอ่านงานวิจัย “ประเมินผลโครงการคลินิกเทคโนโลยีและโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561” โดย รศ. ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการดำเนินงานคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพและความพร้อม จัดตั้งเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้หมู่บ้านและชุมชนนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีการแพร่กระจายสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นการผสมผสานกับการดำเนินงานเครือข่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยี (คลินิกเทคโนโลยี) พัฒนามาเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (หมู่บ้าน วท.)
โครงการหมู่บ้าน วท. นี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้สมาชิกมีทักษะและความชำนาญ ขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนในชนบท สร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน เช่น การแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ การสังเกต การระบุปัญหา การทดลอง การจดบันทึก การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลและการสรุปผล เพื่อปรับปรุงทัศนคติ (attitude) ให้เกิดกระบวนการคิดอย่างวิทยาศาสตร์
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มอบหมายให้ รศ. ดร. ธีร และคณะที่ปรึกษา จัดทำรายงานการประเมินผลการดำเนินงาน หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2561 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินโครงการ รวมถึงประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของหมู่บ้าน วท. ซึ่งการศึกษาครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการหมู่บ้าน วท. ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
- การประเมินเพื่อแสดงสถานภาพของหมู่บ้าน วท. ที่ได้รับงบประมาณในปี 2561 จำนวน 68 หมู่บ้าน ว่ามีระดับของการพัฒนาหมู่บ้านในระดับใด โดยสามารถแบ่งสถานะหมู่บ้านได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับยั่งยืน ระดับเข้มแข็งเติบโต และระดับอยู่รอด
- หลักเกณฑ์การประเมินและวัดระดับการพัฒนาหมู่บ้าน วท. ว่าสถานการณ์การพัฒนาของหมู่บ้าน วท. มีความเข้มแข็งอยู่ในระดับใด วิเคราะห์จากคะแนนประเมินความพร้อมในการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่
- ด้านความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีหลักที่ได้รับการถ่ายทอด
- ด้านความพร้อมในการเป็นต้นแบบการบริหารจัดการ
- ด้านการมีส่วนร่วมและการจัดสรรผลประโยชน์ของชุมชนในเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอด
- ด้านการบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
- ด้านความสามารถในการขยายผลสู่ชุมชนอื่น
ผลการประเมินตามเกณฑ์พัฒนา สามารถสรุปได้ดังนี้
- การดำเนินงานระดับหมู่บ้านใหม่สามารถผ่านเกณฑ์การประเมินมีสถานภาพ “อยู่รอด” จำนวน 31 จาก 33 หมู่บ้าน
- หมู่บ้านต่อเนื่องปี 2 ผ่านเกณฑ์การประเมินมีสถานภาพ “เข้มแข็งและเติบโต” จำนวน 14 จาก 14 หมู่บ้าน
- การดำเนินงานหมู่บ้านต่อเนื่องปี 3 สามารถผ่านเกณฑ์การประเมินมีสถานภาพ “ยั่งยืน” จำนวน 20 จาก 21 หมู่บ้าน
- รวมหมู่บ้าน วท. ที่มีผลการดำเนินงานสามารถผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 65 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 95.58
โดยปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จเกิดจากการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างชุมชนและผู้ดำเนินโครงการ มีการระดมความคิดเห็น ค้นหา คัดเลือกและคัดสรร โดยอัตราส่วนระหว่างผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นกับงบประมาณการลงทุน (B/C ratio) ที่วิเคราะห์ได้ นำมาเทียบกับงบประมาณสนับสนุนรวมจากทุกโครงการ มูลค่า 53.71 ล้านบาท (196 โครงการฯ) สามารถสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้ 64.67 ล้านบาท
กล่าวโดยสรุป จากผลการประเมินการดำเนินงานของหมู่บ้าน วท. แสดงให้เห็นว่า หมู่บ้านในโครงการสามารถดำเนินงานได้ตรงตามเป้าหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนพัฒนาหมู่บ้าน เกิดการเรียนรู้และปรับกระบวนทัศน์ รวมถึงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาอย่างจริงจัง
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทางบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับชาติและระดับภูมิภาค
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)