SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  4 กุมภาพันธ์ – 10 กุมภาพันธ์ 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

แอมเนสตี้ฯ เปิดงานวิจัย เด็กถูกละเมิดสิทธิชุมนุมและเสรีภาพ ช่วงปี 63-65 ชี้ไทย ‘ไม่คุ้มครองเด็ก’ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดงานวิจัยชื่อ “เรากำลังเรียกคืนอนาคตของเรา: สิทธิของเด็กในการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย” งานวิจัยได้สัมภาษณ์เด็กที่ถูกละเมิดสิทธิชุมนุมและเสรีภาพการแสดงออกในช่วงปี 2563 – 2565 ระบุว่า ประเทศไทย ขาดการคุ้มครองเด็กทั้งที่เป็นรัฐภาคีตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC)ทั้งการดำเนินคดี ติดตามคุกคาม กดดันโรงเรียนและผู้ปกครองจนเกิดความรุนแรงทั้งในครอบครัวและที่โรงเรียน รวมถึงช่วงสองปีที่ผ่านมา จากการชุมนุมประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากเข้าร่วมและคาดว่าเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมอายุน้อยที่สุดต่ำกว่า 18 ปี ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ซึ่งประเด็นนี้กฎหมายระหว่างประเทศมองว่าเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางและต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะเด็กไม่มีความสามารถในการคุ้มครองตนเอง และการชุมนุมเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมจึงต้องหาทางปกป้อง โดยประเทศไทย ก็ได้แสดงเจตจำนงในการคุ้มครองสิทธิเด็กในการชุมนุมด้วยโดยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ในทางปฏิบัติไทยยังคงมีความลักลั่นอยู่มาก ดังเห็นได้จากประเด็นการชุมนุมและแสดงออกของเด็ก รัฐไทยมีเพียงท่าทีรับทราบแต่ไม่ได้สนับสนุน และที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมโดยสงบจำนวนมากถึง 284 คน รวมทั้งสิ้น 111 คดี และส่วนใหญ่คดียังอยู่ในชั้นสอบสวน โดยคดีส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่ : แอมเนสตี้ฯ เปิดงานวิจัย เด็กถูกละเมิดสิทธิชุมนุมช่วงปี 63-65 ชี้ไทยไม่คุ้มครองเด็ก | ประชาไท Prachatai.com

สหภาพคนทำงาน ร่วมกับเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและ MWG ทวงถามการจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนทุกสัญชาติ 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 สหภาพคนทำงาน ร่วมกับเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และ Migrant Working Group (MWG) เดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคม จังหวัดนนทบุรี เพื่อทวงถามการดำเนินการการจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนทุกสัญชาติ ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ โดยสรุป ได้แก่ หนึ่ง สำนักงานประกันสังคมต้องจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมภายในเดือนมีนาคม 2566 และ สอง สำนักงานประกันสังคมต้องแก้ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งข้อ 16 (1) เพื่อให้ผู้ประกันตนทุกสัญชาติมีสิทธิในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

จากการปราศรัย ตัวแทนระบุว่า ณ เวลานี้ ว่าด้วยประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสถานะมรดกรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ของบอร์ดบริหารกองทุนชุดปัจจุบันที่ไม่มีความยึดโยงกับผู้ประกันตน และยังขัดกับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งการใช้เงินกองทุนนั้น เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพและไม่ช่วยเหลือผู้ประกันตนอย่างแท้จริง หรือปัญหาประเด็นการบ่ายเบี่ยงต่อหน้าที่ของกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมที่ละเลยการจัดการเลือกตั้งมานานหลายปี ซึ่งอาจสมควรกับการฟ้องศาลปกครองเพื่อเอาผิด ท้ายนี้ตัวแทนสหภาพคนทำงาน ยังได้เน้นย้ำอีกว่าสิทธิของแรงงานในการได้รับการคุ้มครองยามตกทุกข์ได้ยากผ่านการช่วยเหลือของกองทุนประกันสังคมและจ่ายเงินไปทุกเดือน ๆ แต่กลับขาดสิทธิในการบริหารจัดการเงิน ซึ่งแท้จริงสิ่งที่ควรจะเป็น คือ ระบบกองทุนประกันสังคมควรใช้เงินของคนทำงาน เพื่อดูแลให้คนทำงานในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย และ SDG 10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ และ 10.3 การขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

เข้าถึงได้ที่ : สหภาพคนทำงานร่วมกับ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและ Migrant Working Group (MWG) เดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคม จังหวัดนนทบุรี เพื่อทวงถามการดำเนินการการจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนทุกสัญชาติ – สหภาพคนทำงาน Workers’ Union

ชาวบ้านจะนะ ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าอนุสาวรีย์แพทย์ชนบท หลังเรียกร้องให้ ปลัด.สธ.
คืนธรรมาภิบาลให้ระบบสุขภาพไทย

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มนักรบผ้าถุง ภาคีเพื่อนหมอสุภัทรและผู้รักความเป็นธรรม ทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่หน้าอนุสาวรีย์แพทย์ชนบท บริเวณลานหน้าอาคารสำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี โดยใช้ผ้าขาวมัดมือ ปิดตา และใช้เทปกาวสีดำ ปิดปากของผู้ร่วมกิจกรรม พร้อมอ่านแถลงการณ์ถึงเจตนารมณ์ของชมรมแพทย์ชนบท ที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ อดีต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานชมรม และชาวบ้านยังไม่ได้รับคำตอบถึงเหตุผลในการสั่งย้าย แม้มาปักหลักที่กระทรวงฯ เป็นเวลาร่วมกว่า 4 วันแล้ว

โดยสรุปแถลงการณ์จากตัวแทนกลุ่มนักรบผ้าถุง ระบุว่า แพทย์ชนบทเป็นการรวมตัวของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน เริ่มต้นในปี 2519 ด้วยอุดมคติที่หวังสร้างระบบสุขภาพที่ลดความเหลื่อมล้ำในชนบท  ต่อมาพบว่าระบบสุขภาพถูกกระทบจากนโยบายของรัฐหรือการคุกคามจากทิศทางที่ไม่เหมาะสม  แพทย์ชนบทจึงออกมาขับเคลื่อนทักท้วงนโยบายที่ไม่เหมาะสมด้วย  ต่อสู้เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในระบบสุขภาพ แต่กลับนำมาซึ่งการถูกกลั่นแกล้งจากการเมือง ทำให้ประชาชน ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จึงลุกขึ้นมาเคียงข้างชมรมแพทย์ชนบทเพื่อปลดแอกจากการครอบงำของกระทรวงสาธารณสุข

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมและสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี 

เข้าถึงได้ที่ : ชาวบ้านจะนะ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าอนุสาวรีย์แพทย์ชนบท หลังปลัด.สธ.ไม่ตอบรับข้อเรียกร้องแม้ผ่านมากว่า 4 วัน ยืนยันอุดมการณ์แพทย์ชนบท คืนธรรมาภิบาลให้ระบบสุขภาพของไทย – The Reporters

รายงานใหม่ จากมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม เผย ‘เรืออวนลากคู่’ สร้างความเสียหาย

มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) เปิดเผยว่า เรืออวนลาก เป็นภัยต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่งคงทางอาหาร และระบบนิเวศทางทะเลในประเทศไทย ซึ่งเรืออวนลากที่สร้างความเสียหายกับสัตว์น้ำวัยอ่อนจนไม่สามารถเติบโตเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าได้ คือ เรืออวนลากคู่ ดังนั้นจึงต้องทำการปฏิรูปโดยด่วนที่สุด เนื่องจากจำนวนประชากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยลดลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชาวประมงในประเทศ โดยปริมาณที่จับได้ต่อหน่วยการลงแรงประมง (catch per unit effort: CPUE) ลดลงเกือบ 85% ในทะเลอันดามัน และลดลงกว่า 93% ในอ่าวไทย สาเหตุใหญ่อย่างนึง เป็นเพราะการลากอวนขนาดใหญ่ไปตามพื้นทะเล 

ทั้งนี้ เครื่องมืออวนลากที่สร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล นั้นคือ ‘อวนลากคู่’ ซึ่งสัตว์น้ำที่จับได้ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเป็น ‘ปลาเป็ด’  หรือ trash fish ซึ่งหมายถึงปลาที่ขายกันทั่วไปและส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนสายพันธุ์ที่สามารถเติบโตไปมีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยปลาเหล่านี้ถูกจับได้จากเรืออวนลากคู่ถึงร้อยละ 80 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ จากการกระทำดังกล่าวนับเป็นการผลาญทรัพยากรทางทะเลของไทยและทำลายความมั่นคงของระบบนิเวศไปในเวลาเดียวกัน และตอนท้ายรายงานในบทสรุปการวิเคราะห์ มูลนิธิฯ ได้ขอให้รัฐบาลไทยเริ่มดำเนินการยกเลิกการลากอวนคู่ เพื่อยุติผลกระทบและความเสียหายรุนแรงที่เกิดจากการจับสัตว์น้ำในลักษณะดังกล่าว รวมถึงนำมาตรการที่มีประสิทธิภาพภายใต้งบประมาณที่จำกัดมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาความโปร่งใสในอุตสาหกรรมการประมงไทย พร้อมเฝ้าระวังและยุติการทำประมงเกินขนาดและผิดกฎหมายได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบ 14.4 ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด และ 14.6 ภายในปี 2563 ห้ามการอุดหนุนการประมงบางประเภทซึ่งก่อทำให้เกิดศักยภาพการทำประมงที่มากเกินไป ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว 

เข้าถึงได้ที่ : รายงานชิ้นใหม่จากมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เปิดเผยว่า เรืออวนลลากคู่ ที่ลากอวนขนาดใหญ่ไปตามพื้นทะเล สร้างความเสียหาย ทำให้สัตว์น้ำในไทยลดลงอย่างมาก วอนปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเพื่ออลดความเสียหายต่อทะเล – Environman

รมต.สิ่งแวดล้อม การรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกมีแนวโน้มที่แย่ลง หลังผู้ประกอบการรายใหญ่กลับมาแจกอีกครั้ง

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า จากความพยายามของกระทรวงทรัพฯ ในการรณรงค์โครงการ “Everyday Say No to Plastic Bags” กำลังกลายเป็นนโยบายไฟไหม้ฟาง ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มที่แย่ลงในการจัดการขยะพลาสติก ที่รณรงค์ขอความร่วมมือ เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเริ่มกลับมาแจกถุงพลาสติกให้ผู้บริโภคอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามดำเนินการในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เป็นเครื่องมือในการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะยกระดับการจัดการขยะให้ดียิ่งขึ้น เพื่อจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นระบบ แม้ปัจจุบันการดำเนินงานดังกล่าว ยังไม่ค่อยเห็นเค้าลางที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก จึงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการจัดการต่อไปเช่นไร

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  12.2 บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573 12.5 ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ และ 12.6 สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น

เข้าถึงได้ที่ : “ผู้ประกอบการรายใหญ่กลับมาแจกถุงพลาสติกอีกครั้ง” รมต.สิ่งแวดล้อมเผย – Greennews

ประเทศไทย มอบความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่รัฐบาลตุรกี หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง 

เมื่อวาน 9 กุมภาพันธ์ 2566 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในนามรัฐบาลไทยมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเบื้องต้นให้แก่รัฐบาลสาธารณรัฐตุรกีผ่าน นางแซรัป แอร์ซอย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ซึ่งไทยได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่จังหวัดคาห์รามันมาราช สาธารณรัฐทูร์เคีย โดยห่างจากกรุงอังการาประมาณ 580 กิโลเมตร และบริเวณใกล้เคียง ในช่วงเช้าของวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 พร้อมขอมอบความช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 5 ล้านบาท พร้อมจัดส่งทีมหน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความช่วยเหลืออื่น ๆ ตามความต้องการ โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ทีมช่วยเหลือ/กู้ภัย จำนวน 42 นายจะเดินทางไปตุรกี พร้อมสิ่งของสำหรับการกู้ภัย การบรรเทาสาธารณภัย และเวชภัณฑ์ สถานการณ์นี้ทุกฝ่ายต่างพยายามระดมความช่วยเหลือกันทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.5 ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573 SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เข้าถึงได้ที่ : นายกฯ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง พร้อมมอบความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่รัฐบาลตุรกี ผ่านเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย – The Reporters 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น