ชวนอ่านงานวิจัย “ประเมินผลมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ของสถานบริการสาธารณสุข ระดับประเทศ ปี 2558” โดย รศ. ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของกรมควบคุมโรค ดำเนินงานผ่านสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
โรคติดต่ออุบัติใหม่ในปัจจุบัน นับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่ควรให้ความสนใจ เนื่องจากโรคมีความซับซ้อนและสามารถส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก โดยช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีโรคติดเชื้อเกิดขึ้นใหม่แทบทุกปี ได้แก่ โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากสัตว์หรือสัตว์ป่า และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ การเคลื่อนย้ายของประชากรการเดินทาง ติดต่อการค้าระหว่างประเทศ ความชุกชุมของสัตว์พาหะนำโรค การขาดความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในการป้องกัน ควบคุมโรคของประชาชนการปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย และหากเกิดขึ้นแล้วอาจระบาดไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม
เช่นนั้นแล้ว ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องมีการประเมินการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมโรค สำหรับเตรียมการเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรองรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ อาทิ การป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่การดูแลผู้ป่วย การสำรองยาต้านไวรัส การจัดหาและให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งป้องกันการระบาดเป็นวงกว้าง
เพื่อติดตามประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการฯ ในภาพรวมระดับประเทศ พร้อมนำผลการประเมินที่ได้มาปรับปรุง พัฒนา มาตรการการดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในอนาคตต่อไป รศ. ดร.สิริมา และคณะ จึงศึกษาวิจัยนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม โรคไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยปีงบประมาณ 2558 ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP model) ในการประเมินบริบท ประเมินกระบวนการ และประเมินผลผลิต
งานวิจัยฉบับบนี้ มีกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลทุกระดับที่ปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ตามแผนยุทธศาสตร์ เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2556-2559) จำนวน 459 ราย โดยเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก ที่ได้พัฒนาขึ้นตามมาตรการ ในแผนยุทธศาสตร์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา
เพื่อเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 1 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
ผลการศึกษางานวิจัยข้างต้น สามารถสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้
- การประเมินบริบท พบว่า มีการประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง โดยเน้นสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก มากกว่าร้อยละ 80.0
- การประเมินกระบวนการ พบว่า มีการดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่จากส่วนกลาง ร้อยละ 99.0 มีกลไกการขับเคลื่อนมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 95.8 มีการประเมินความเสี่ยงของโรคสำคัญในพื้นที่ร้อยละ 89.4 และจัดทำแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด ร้อยละ 83.3
- การประเมินผลผลิต พบว่า มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ร้อยละ 83.9 และมีการฟื้นฟูองค์ความรู้/แนวทางการวินิจฉัยและตรวจรักษาโรคของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร้อยละ 65.6
นอกจากนี้ รศ. ดร.สิริมา และคณะ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ควรพัฒนากลไกการขับเคลื่อนมาตรการลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ และสนับสนุนการ สร้างเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
- ข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติงาน ควรสนับสนุนให้พื้นที่ได้เตรียมความพร้อม และฝึกซ้อมแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สอดคล้องกับมาตรการและประเด็นปัญหาสำคัญ รวมทั้งมีการสรุปบทเรียนหลังการฝึกซ้อมสม่ำเสมอทุกปี
กล่าวโดยสรุป การจัดทำงานวิจัย “การประเมินผลมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ของสถานบริการสาธารณสุขระดับประเทศ ปี 2558” ของ รศ. ดร.สิริมา และคณะ จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่การป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทย เป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะโรคอุบัติใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่ทันคาดคิด การปรับปรุงและพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานอยู่เสมอ จะนับเป็นประโยชน์ต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุข และประชาชนในสังคมอีกจำนวนมาก
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)