เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 พร้อมเรียกร้องทั่วโลกยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติ

António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แถลงในการประชุมเตรียมการเพื่อการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA’s plenary meeting) ถึงลำดับประเด็นสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2566 โดยชี้ว่าปีนี้เป็นปีแห่งการชำระบัญชีหรือจัดการกับปัญหาความท้าทาย ซึ่งประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติต้องเปลี่ยนกรอบความคิดในการตัดสินใจจากการคิดเชิงระยะสั้นไปเป็นการคิดคำนึงถึงผลระยะยาว พร้อมกับต้องพัฒนาวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ในการแสดงทีท่าตัดสินใจเชิงลึกและเป็นระบบมากขึ้น 

ประเด็นสำคัญจากการแถลงของ António Guterres อาทิ

  • เราเริ่มต้นปี 2566 โดยมุ่งมองไปยังความท้าทายมากมายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในชีวิตของเรา ได้แก่ สงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจนที่รุนแรง และความแตกแยกขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่นนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
  • ประเด็นสำคัญของวาระการสร้างสันติภาพวาระใหม่ที่มีความสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ หลักสิทธิมนุษยชน คือการใช้การป้องกันเป็นหัวใจสำคัญ
  • ต้องพยายามดำเนินการมากขึ้นเพื่อสร้างสันติภาพในทุกแห่งหน โดยเฉพาะยูเครน อัฟกานิสถาน เมียนมา เฮติ ปาเลสไตน์ อิสราเอล และส่วนอื่น ๆ ของโลก
  • ให้คำมั่นกับรัฐสมาชิกว่าองค์การสหประชาชาติจะเพิ่มพูนความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการเสริมสร้างสันติภาพผ่านโครงการริเริ่ม ‘Action for Peacekeeping-Plus’ โดยมีสหภาพแอฟริกา (African Union) เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ
  • เรียกร้องให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ยกเลิกการใช้อาวุธดังกล่าวเป็นครั้งแรก และเน้นย้ำถึงอันตรายที่เกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเสนอว่าวาระใหม่เพื่อสันติภาพ รวมถึงการห้ามโจมตีทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนระหว่างประเทศ 
  • สิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจ และสิทธิในการพัฒนาเป็นลำดับความสำคัญอีกประการหนึ่ง โดยโครงสร้างระบบการเงินของโลก (global financial architecture) จำเป็นต้องอาศัย “ช่วงเวลาใหม่ของระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods)” ซึ่งจะสร้างหลักประกันการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่ระบบการเงินโลก โดยที่ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจและกลไกทุกอย่าง 
  • เรียกร้องให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (multilateral development banks: MDBs) เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ยอมรับแนวทางใหม่สำหรับความเสี่ยง และใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อดึงดูดเงินทุนภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนในขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • เรียกร้องให้มีการระดมทรัพยากรโดยทันทีเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเรื่องการจัดการความยากจนและลดการกีดกันทุกด้าน เพื่อให้มั่นใจว่า “ประเทศกำลังพัฒนามีสภาพคล่องในการลงทุนด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า การเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาด งานที่มีคุณค่า และการคุ้มครองทางสังคม” 
  • เรียกร้องประเทศสมาชิก “ยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติที่ไร้ความปรานี ไม่หยุดยั้ง และไร้สติ” โดยใช้ “การหยุดชะงักเพื่อยุติการทำลายล้าง” โดยจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (climate justice) โดยเร่งการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซมากที่สุด 
  • เรียกร้องให้มีการขยายความร่วมมือผ่านข้อตกลง ‘Climate Solidarity Pact’ ในกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่และประเทศที่ร่ำรวย “เพื่อรักษาอุณหภูมิ 1.5°C ให้คงอยู่” 

การลำดับประเด็นสำคัญของ António Guterres ยังมีความมุ่งหมายหวังสร้างการเคารพความหลากหลายและความเป็นสากลของสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิในความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นพื้นฐานของสังคมที่มีส่วนร่วม และสิทธิของคนรุ่นหลัง จึงน่าติดตามต่อว่าตลอดปี 2566 ประเทศสมาชิกทั่วโลกจะขยับขับเคลื่อนอย่างสอดคล้องกับคำแนะนำของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้อย่างไร

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีคือเงินที่จะต้องระดมไปยังประเทศเปราะบางสู้ Climate Change แต่ประเทศร่ำรวยจะทำสำเร็จหรือไม่?
เลขาธิการ UN แถลง 10 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2021
– เลขาธิการ UN ย้ำ โลกจะต่อสู้กับ climate change ได้ เมื่อประเทศ G20 เห็นตรงกัน – แสดงบทบาทนำ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ 
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา: UN Secretary-General Outlines Priorities for the UN for 2023 (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น