ชวนอ่านงานวิจัย “ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด สำหรับอุตสาหกรรมรายสาขา (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (บูรณาการ))” โดย รศ. ดร.อุรุยา วีสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมระดับรายสาขา ให้นำเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การป้องกันมลพิษ ลดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน และน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (cleaner technology: CT) เป็นแนวคิดและเทคนิคในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดการเกิดของเสียให้น้อยที่สุด โดยมีการเก็บข้อมูลและตรวจประเมินอย่างเป็นระบบ ทำให้รู้สาเหตุของผลกระทบ และหาทางป้องกันและแก้ไขได้ถูกต้อง ทั้งในด้านบุคลากร วิธีการปฏิบัติ และการจัดการเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญของปัญหา ความเหมาะสมในการนำมาปรับปรุงและปฏิบัติใช้ในองค์กร และมีความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา จึงช่วยลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย รวมทั้งลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
อุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้ เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดไปสู่การปฏิบัติใช้จริงให้กับอุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิต และตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้สามารถพัฒนาเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ในการดำเนินโครงการ มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนโรงงานเข้าร่วมและสำรวจความพร้อมของโรงงานเบื้องต้น โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อนำมาประกอบในการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด เช่น จำนวนโรงงาน กำลังการผลิต ชนิดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และประกอบการคัดเลือกวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพที่เหมาะสม ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
โรงงานจากอุตสาหกรรมการทำเครื่องดื่มจากผักหรือผลไม้ในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ มีจำนวนทั้งสิ้น 9 โรงงาน ได้แก่
- บริษัท โคโคนัท แฟคทอรี่ จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม
- บริษัท โชคมหาชัย เบเวอร์เรจ จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำผลไม้ผสมว่านหางจระเข้
- บริษัท เถกิงอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำสับปะรดเข้มข้น
- บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม
- บริษัท โทฟุซัง จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำเต้าหู้พร้อมดื่ม
- บริษัท แนทฟู้ดส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ เครื่องดื่มสมุนไพร
- บริษัท เพชรส้มทอง จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำผลไม้จากน้ำผลไม้เข้มข้น
- โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ผลิตภัณฑ์คือ น้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์
- บริษัท อำพลฟูดส์ โพรงเซสซิ่ง จำกัด ผลิตภัณฑ์คือ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม
การเข้าให้คำปรึกษาในแต่ละโรงงาน รศ. ดร.อุรุยา ได้ร่วมจัดตั้งทีม CT ของแต่ละโรงงาน พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมพนักงานภายใน (in-house training) แก่ทีม CT เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการตรวจประเมินโรงงาน ตลอดจนสามารถดำเนินงานด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดในโรงงานได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งดำเนินการกำหนดและตรวจวัดปัจจัยหลักที่บ่งชี้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน โดย รศ. ดร.อุรุยา ได้ร่วมกับโรงงานทำการประเมินและรวบรวมวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการป้องกันมลพิษ (CT option) ที่มีศักยภาพ ครอบคลุมประเด็นด้านวัตถุดิบ พลังงาน น้ำ สารเคมี และ/หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นสำคัญ พร้อมทั้งศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความเป็นไปได้ทางเทคนิคของแต่ละมาตรการ
สำหรับวิธีการและผลประหยัดต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากการดำเนินการดังกล่าว พบว่า มีผลประหยัดรวม 62,827,692 บาทต่อปี เพื่อให้บุคลากรของโรงงานที่เข้าร่วมโครงการเกิดความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดได้ดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องให้ความรู้ ออกแบบ คำนวณค่าใช้จ่ายในการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ รวมทั้งร่วมดำเนินการและประเมินผลความคุ้มค่าในการนำ CT Option ที่ได้รับการคัดเลือกไปปฏิบัติจริง และทำการตรวจวัดปัจจัยหลักที่บ่งชี้ประสิทธิภาพของการผลิตก่อนและหลังการปรับปรุง เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของ CT Option ของโรงงานแต่ละแห่งโดยมีผลประหยัดรวม 21,876,389 บาทต่อปี
กล่าวโดยสรุป การนำเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทำให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านวัตถุดิบ พลังงาน น้ำ สารเคมี และลดการเกิดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความรู้และจัดอบรมให้แก่บุคลากรของโรงงาน เพื่อให้โรงงานนั้นสามารถดำเนินการด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดในโรงงานได้อย่างยั่งยืน
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)