TU SDG Seminars | งานวิจัยจะหนุนเสริมระบบสุขภาพไทยให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างไร – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย หัวข้อ “ก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ” โดย รศ. ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา วิทยาลัยสหวิทยาการ และหัวข้อ “โครงการประเมินผลลัพธ์และยกระดับการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “กองทุน” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” โดย ผศ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงประสานและกระจายอำนาจแก่สาธารณสุขในท้องถิ่น งานสัมมนาทั้ง 2 หัวข้อข้างต้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี เเละเป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง

01 – บทสรุปการสัมมนาหัวข้อ “ก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ”

การสัมมนาหัวข้อ “ก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ” มีประเด็นสำคัญที่ได้จากการนำเสนอของ รศ. ดร.ธัชเฉลิม ดังนี้

  • การนำเสนองานวิจัย หัวข้อวิจัย และโครงการที่ผ่านมา : การถ่ายโอนหน่วยบริการปฐมภูมิไปยังหน่วยท้องถิ่นสามารถมองได้ 2 นัยยะ ประการที่ 1 นัยยะเชิงทฤษฎี และ ประการที่ 2 นัยยะเชิงกฎหมาย นัยยะเชิงทฤษฎี เป็นนัยยะที่ใช้มุมมองทางด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ นัยยะนี้มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระจายอำนาจ แต่อาจไม่ช่วยเก้ไขความเหลื่อมล้ำได้ในทันที เพราะการถ่ายโอนดังกล่าวต้องมีระบบที่เอื้อต่อท้องถิ่นและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับนัยยะเชิงกฎหมาย การถ่ายโอนเป็นการกระทำตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจตั้งแต่ปี 2542 และสามารถเสนอร่างหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขประจำตำบลไปสู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 

    ทั้งนี้ งานวิจัยที่กล่าวถึงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าประเทศไทยเสียเวลากับเรื่องการประเมินความพร้อมมากไป แต่ยังไม่มีการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างความพร้อมที่ต้องใช้กระบวนการทางความคิด เช่น การใช้องค์ความรู้บูรณาการหลากหลายศาสตร์ โดยเนื้อหาของงานวิจัยมีการนำเสนอฉากทัศน์หลังจากการถ่ายโอนอำนาจว่าจะมีลักษณะเป็น “มือใหม่หัดขับ” และ “รัฐราชการที่อุ้ยอ้าย” กล่าวคือ องค์กรบริหารส่วนจังหวัดจะต้องเผชิญความท้าทายในการเป็นมือใหม่เรื่องการบริหาร ซึ่งความท้าทายนี้จะมาพร้อมกับความยากในการทำงานจากรัฐราชการที่เชื่องช้าและไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่สามารถละทิ้งได้ มีความจำเป็นที่จะต้องแนะนำและให้คำปรึกษา การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จากการปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมอง (mindset) ในการพัฒนา
  • กระบวนการวิจัยที่มีความสำคัญต่องานวิจัย : โจทย์ในการทำวิจัยครั้งนี้จะต้องเป็นการคิดใหม่ ทำใหม่ วิจัยแบบใหม่ กล่าวคือ 1) research to policy: การทำงานวิจัยทุกอย่างและตีพิมพ์เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำไปใช้ประโยชน์ได้ 2) prototyping: การคิดต้นแบบและนำเสนอให้จังหวัดพบเห็นบ่อยครั้ง รวมถึงให้จังหวัดอื่น ๆ เข้ามาศึกษาต่อ 3) AABR  (agency area based approach) สร้างการรับรู้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ในโรงพยาบาลแต่ละพื้นที่ให้รู้ใจความสำคัญของปัญหากันทุกภาคส่วน ลดความกังวลของทุกฝ่ายผ่านคำแนะนำในการขับเคลื่อนและเดินหน้าในการถ่ายโอน 
  • อุปสรรคและความท้าทายของการทำวิจัยในปัจจุบัน : กล่าวคือ การลงพื้นที่นั้นมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ระบบสาธารณสุขไทยเป็นจุดแข็งและเก็บข้อมูลไม่ยาก สามารถขอความร่วมมือเชิงข้อมูลได้
  • ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน : การทำวิจัยในอนาคต สิ่งสำคัญคือหัวข้อวิจัย หากเป็นประโยชน์จะสามารถก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมได้ การวิจัยครั้งนี้ที่มีหมุดหมายว่าหากต้องการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ การยึดติดกับระบบเดิม ๆ ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป จึงเป็นโอกาสในการเรียนรู้อุปสรรคเพื่อนำมาเป็นโจทย์ในการวิจัยในการแสวงหาความรู้และอุดรอยรั่ว  รวมไปถึงการวิจัยโดยทั่วไปมักคิดเกี่ยวกับการบริหารกำลังคนให้เต็มที่ แต่ลืมคำนึงถึงความเหมาะสมและกำลังในการทำงานของบุคลากร ดังนั้นระบบและหน่วยต่าง ๆ ควรร่วมกันในการจัดการระบบและแบ่งเบาภาระการดูแลซึ่งปัจจุบันมีแต่หน่วยงานให้ทุนในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี แต่ไม่คำนึงถึงระบบที่เอื้อและแบ่งเบาภาระแก่ตัวบุคลากร

ขณะที่ประเด็นสำคัญจากการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ร่วมสัมมนากับนักวิจัยแนวหน้า รศ. ดร.ธัชเฉลิม แสดงความคิดเห็นถึงมุมมองในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีว่าปัจจุบันแม้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่ต้องการการดูแล แต่ความล่าช้าของภาครัฐในประเด็นนี้อาจทำให้การมุ่งเน้นกลุ่มวัยนี้ไม่เหมาะสมอีกแล้ว ควรมุ่งให้ความสำคัญที่กลุ่มวัยก่อนสูงอายุมากกว่า ปัญหาจะไม่หมดไปหากภาครัฐยังดำเนินงานในรูปแบบเดิม ๆ ดังนั้นประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือการปรับทัศนคติของข้าราชการ และทบทวนประเด็นมุ่งเน้นของการวิจัยว่าสิ่งที่ศึกษามีอะไรที่เหมาะสมต่อการเตรียมความพร้อมของสังคมให้ดูแลตนเอง

นอกจากนี้ รศ. ดร.ธัชเฉลิม ยังให้ความเห็นด้วยว่า การวิจัยมีหลายรูปแบบ การศึกษางานวิจัยในอดีตเป็นการเก็บข้อมูล ไม่มีงานวิจัยใดที่มีความสมบูรณ์แบบ ยิ่งล้มเหลว ยิ่งเกิดการเรียนรู้ สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ SDGs กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็นสำคัญคือ ควรทำอย่างไรในการร่วมทำงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยสามารถช่วยการดำเนินงานของส่วนท้องถิ่นได้ มาตรการนี้อาจช่วยให้การทำวิจัยและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องเดียวกันได้


02 – บทสรุปการสัมมนาหัวข้อ “โครงการประเมินผลลัพธ์และยกระดับการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” 

​​การสัมมนาหัวข้อ “โครงการประเมินผลลัพธ์และยกระดับการดำเนินงานของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “กองทุน” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” ผศ.วีรบูรณ์กล่าวถึงงานวิจัยที่ผ่านมาว่าเป็นการวิจัยที่ทำร่วมกับ สปสช. ในการประเมินผลลัพธ์และยกระดับการดำเนินงานกองทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการคัดเลือกกองทุนที่มีการดำเนินงานในระดับดีมาศึกษา ทำให้ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ 35 ท้องถิ่น ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยได้ข้อเสนอที่พบดังนี้

  • การมุ่งไปสู่การสร้างผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ การรายงายผลลัพธ์กองทุนในปัจจุบันอยู่ในรูปของตัวเลข หากกองทุนมีการติดตามต่อถึงการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม จะสามารถเห็นผลลัพธ์ของกองทุนได้มากกว่า (แต่ในปัจจุบันยังไม่มีระบบติดตาม)
  • การยกระดับความพร้อมและความสามารถของกลไกท้องถิ่น เนื่องจากหัวใจสำคัญของกองทุนคือกลไกท้องถิ่น การที่ท้องถิ่นมีความเข้าใจการใช้กองทุน มีกลไกพี่เลี้ยงเชื่อมภาคประชาชนจะทำให้กลุ่มประชาชนสามารถเข้าใจข้อมูลและสามารถจัดการบริหารกองทุนได้เหมาะสม
  • การให้ความสำคัญต่อนวัตกรรม หลายกองทุนดำเนินการหลักอยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือการต่อยอดจากทุนหรือภูมิปัญญาเดิมเพื่อประยุกต์ใช้อย่างหลากหลายไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันอย่างเดียว รูปแบบที่สอง หลายกองทุนนำเทคโนโลยีมาขยายระบบบริการของท้องถิ่น การที่สิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากระบบและกฎระเบียบ หากจำกัดการทำงานมากเกินไป นวัตกรรมใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นได้ยาก

นอกจากนี้ ผศ.วีรบูรณ์ ยังเพิ่มเติมในประเด็นความท้าทายของการทำวิจัยอีกว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติงานค้นพบข้อเท็จจริงและสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง นักวิจัยมีหน้าที่ตั้งคำถาม เปิดมุมมองของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับชุมชนเท่านั้น รวมไปถึงการจะทำให้เกิดประโยชน์ได้จริง ผู้วิจัยจะต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย สำหรับมุมมองการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พบเห็นโอกาสในการปฏิรูประบบสุขภาพอยู่ในระดับพื้นที่ที่ประชาชนเอื้อมถึง คือ ระดับอำเภอและตำบล ซึ่งเข้าถึงกระบวนการของกองทุนได้ง่ายกว่า ทั้งนี้จากการทำงานร่วมกับกองทุนประกันสุขภาพคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และ คณะกรรมการเขตเพื่อสุขภาพประชาชน (กขป.) พบว่า ทั้ง 3 งานมีความพยายามอย่างมากจากหน่วยงานสาธารณสุขในการปฏิรูประบบสาธารณสุข แต่สิ่งสำคัญคือการดำเนินงานนั้นต้องการโอกาสและพื้นที่สำหรับทดลอง หากกฎระเบียบหรือการตรวจสอบมีมากก็จะส่งผลให้การทำงานมีความซ้ำแบบเดิมและไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้

ขณะที่การสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ร่วมสัมมนากับนักวิจัยแนวหน้า มีประเด็นสำคัญอย่างน้อย 2 ประเด็นซึ่งมาจาก 2 คำถาม ได้แก่ คำถามแรก มุมมองในการขับเคลื่อนงานวิจัยในด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง โดย ผศ.วีรบูรณ์ ให้คำตอบว่าโอกาสของการปฏิรูปมีอยู่ในทุกพื้นที่ การเข้าไปวิจัยมีส่วนทำให้เกิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่มากขึ้น ประกอบกับปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงของคนในระบบสาธารณสุข เป็นคนรุ่นใหม่ที่พร้อมต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง อีกหนึ่งคำถามคือการสอบถามถึงข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัย ผศ.วีรบูรณ์ ระบุว่า ผลจากการทำงานน่าจะใช้ประโยชน์ได้น้อย แต่ผลจากประสบการณ์หรือความรู้ ยังอยากสนับสนุนให้ทุกฝ่ายทำงานกับพื้นที่และกลไกระบบสุขภาพของท้องถิ่น การทำวิจัยต้องรับรู้และเข้าใจบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพ เพราะมีภาระงานหนัก การลงพื้นที่ควรเป็นการเสนอแนวทางการทำงานมากกว่าการประเมินถูกผิด

กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาทั้งสองหัวข้อได้ชี้ชัดให้เห็นถึงความสำคัญของการผลิตงานวิจัยเพื่อหนุนเสริมเเละขับเคลื่อนการกระจายอำนาจของระบบสุขภาพไทยให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญในกระบวนการศึกษาวิจัยประเด็นข้างต้นคือการคิดใหม่ ทำใหม่ เเละวิจัยเเบบใหม่ โดยมุ่งศึกษาเเละเสนอเเนะเเนวทางการเสริมสร้างพลังของหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องทั้งการรับรู้เเละการดำเนินงาน

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ : https://youtu.be/aXBjiG6S5a4 
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : sdgmove.com

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ เป้าหมายย่อยที่ 
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา 
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ตวงขวัญ ลือเมือง – ถอดความ
อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on เมษายน 11, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น