Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  11 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

มติ ครม. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย เฉพาะ ม.22-25

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ ‘พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ’ ซึ่ง พ.ร.บ. ทั้งฉบับจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ แต่ตัดสินใจขยายกำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้เฉพาะมาตรา 22-25 ไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำหนังสือขอเลื่อนด้วยเหตุผลว่ายังต้องมีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในเรื่องการใช้อุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง และแนวทางการปฏิบัติอื่น ๆ

ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แสดงความผิดหวังต่อมติดังกล่าว โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า “กสม. ได้รับทราบปัญหาและข้อจำกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องความพร้อมด้านอุปกรณ์การบันทึกภาพและเสียง ความพร้อมของบุคลากรในการปฏิบัติตามกฎหมาย และความไม่ชัดเจนในแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง อย่างไรก็ดี กสม. และผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีทางออกและข้อยกเว้นอยู่แล้ว และเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน” 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่: กสม. ผิดหวัง ครม. มีมติเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย (กสม.) และ ครม. มีมติเลื่อนบังคับใช้ ‘พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ’ 4 มาตรา (Thairath Plus)

แอมเนสตี้ ประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565” (Media Awards 2022) ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ โดยรางวัลดังกล่าวแบ่งเป็นประเภทข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทรายการโทรทัศน์ ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ และภาพถ่ายในหัวข้อ “Protect the Protest” ประเภทสื่อมวลชน และ “Hope” ประเภทบุคคลทั่วไป

ตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัล อาทิ “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการอุ้มหาย ซ้อมทรมาน แต่เราหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในชายแดนใต้” โดยสำนักข่าวออนไลน์ The Momentum ซึ่งนำเสนอประเด็นการซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านมุมกว้างทั้งปัจจัยเอื้อและผลกระทบที่โหดร้าย หรือผลงานชุด “28 ปี เหมืองดงมะไฟ รอยเลือดและคราบน้ำตา” โดยสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 ซึ่งนำเสนอการต่อสู้ต่อเนื่องภายหลังการปิดเหมืองดงมะไฟเพื่อให้ชาวบ้านท้องถิ่นมีส่วนร่วมสำคัญจัดการและดูแลทรัพยากรในท้องที่

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่: ผลรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565 (Amnesty Thailand)

เครือข่ายน้ำยวมฯ ยื่นหนังสือล่าสุดถึงนายกฯ หวังค้านโครงการผันน้ำยวม

วันที่ 15 กุมภาพันธ์​ 2566 ผู้นำชุมชนท้องถิ่นในนาม ‘เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน’ ร่วมกันทำหนังสือเพื่อค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) ถึงนายกรัฐมนตรี โดยยื่นข้อเสนอสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ขอให้ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) 2. ขอให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน และ 3. ขอให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 

นอกจากนี้ หนังสือยังระบุถึงข้อกังวลอีกหลายประเด็น อาทิ กระบวนการจัดทำรายงาน EIA ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่จัวหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูลโครงการที่รอบด้านและเพียงพอ ไม่ได้ทราบข้อมูลผลดีหรือผลเสียของโครงการอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวในการยื่นหนังสือครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นภายหลังชาวบ้านสังเกตพบว่ามีบุคคลจากกรุงเทพฯ เดินทางมาเก็บตัวอย่างน้ำที่ลำห้วยแม่งูด

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 6 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.6 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี 2563 SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.5 ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่: ‘เครือข่าย ปชช.ลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน’ ทำหนังสือถึงนายกฯ ค้านโครงการ ‘ผันน้ำยวม’ 1.7 ล้าน (ประชาไท)

เชียงใหม่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งอันดับ 1 ของโลก อีกหลายจังหวัดวิกฤตหนัก

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเปิดเผยว่าภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.หนองคาย จ.เลย และ จ. หนองบัวลำภู โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ เข้าขั้นวิกฤติหนัก เนื่องจากขึ้นอันดับ 1 ของโลก เมืองที่มีค่าฝุ่น PM2.5 บนเว็บไซต์ IQ AIR 

ด้านกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก พบว่า ระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2566 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ ทั้งนี้ สาเหตุที่สถานการณ์ฝุ่นเลวร้ายขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่แล้งจัด การสะสมเชื้อเพลิงสูง รวมถึงการเร่งเผาก่อนประกาศห้าม 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ 

เข้าถึงได้ที่: เชียงใหม่ ค่ามลพิษสูงสุดอันดับ 1 โลก ฝุ่น PM2.5 คลุมทึบเมือง (ประชาชาติธุรกิจ) และ (มลพิษอากาศภาคเหนือพุ่ง ระดับอันตรายต่อสุขภาพ พบจุดความร้อนมากในพื้นที่ภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน (Environman)

รายงาน ILO ชี้การจ้างงานทั่วโลกปี 2566 จะโตเพียง 1 เปอร์เซ็นต์

เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่รายงาน World Employment and Social Outlook: Trends 2023 หรือ WESO Trends ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์ตลาดแรงงานและแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลก โดยประเด็นสำคัญที่ระบุในรายงาน อาทิ ปี 2566 การจ้างงานทั่วโลกจะเติบโตเพียง 1.0 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านคน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะบีบบังคับให้คนจำนวนมากยอมรับงานที่มีคุณภาพต่ำ ค่าจ้างต่ำ และขาดความคุ้มครองทางสังคม

นอกจากนี้รายงานยังเปิดเผยแนวโน้มตลาดแรงงานระดับภูมิภาค โดยภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกการเติบโตของการจ้างงานต่อปีคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ภูมิภาคยุโรปและภูมิภาคเอเชียกลางได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากความขัดแย้งในยูเครน คาดว่า การจ้างงานจะลดลงในปี 2566 นี้ ส่วนอัตราการว่างงานน่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการเติบโตของประชากรวัยทำงานมีจำกัด

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน 

เข้าถึงได้ที่: เปิดรายงาน ILO ประเมินปี 2023 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว คาดคนว่างงานเพิ่ม 3 ล้านคน (Thairath Plus)

WHO เผยเเพร่ ICD เวอร์ชันล่าสุด เพื่อช่วยความแม่นยำการค้นหาสถิติโรค

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 องค์การอนามัยโลกระบุว่าได้เผยแพร่บัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องฉบับที่ 11 (International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problem: ICD) เวอร์ชันปี 2566 ซึ่งเป็นผลที่ได้จากข้อมูลจำนวนมากจากผู้นำกระแส นักแปล นักวิทยาศาสตร์ และหุ้นส่วนความร่วมมือ โดยมีข้อเสนอมากกว่า 500 รายการที่ประมวลผลมาตั้งแต่ปี 2565

ICD ฉบับล่าสุดนี้ มีการพัฒนาให้รองรับการเข้าถึงในภาษาที่หลากหลายขึ้น ทั้งภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย และตุรกี ขณะที่อีกกว่า 23 ภาษากำลังดำเนินการพัฒนาให้สามารถใช้เข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงรหัสทางการแพทย์และพัฒนาตารางการสืบค้นข้อมูลของโรคให้มีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.18 ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลทีมีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้

เข้าถึงได้ที่: ICD-11 2023 release is here (WHO)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version