Site icon SDG Move

มหันตภัยร้ายที่คุกคามสุขภาพ ‘เชื้อดื้อยา’ อาจทำให้ผู้คนมากกว่า 10 ล้านคน เสียชีวิตได้ภายในปี 2593

การดื้อยาต้านจุลชีพ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสุขภาพของทั้งคน สัตว์ และพืช รวมถึงความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจ 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme :UNEP) เผยแพร่รายงาน “Bracing for Superbugs: Strengthening environmental action in the One Health response to antimicrobial resistance”  ที่เมืองบริดจ์ทาวน์ ประเทศบาร์เบโดส ระบุว่า ผู้คนมากกว่า 10 ล้านคน อาจเสียชีวิตได้ภายในปี 2593 เนื่องจาก “การดื้อยาต้านจุลชีพ” (antimicrobial resistance : AMR) เเละได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลดการปนเปื้อนที่เกิดจากยาหรือเภสัชภัณฑ์ ภาคเกษตร และภาคบริการด้านสุขภาพ พร้อมสะท้อนว่าสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา การแพร่และการกระจายของ ‘Superbug’ หรือเชื้อดื้อยา เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาย่อมส่งผลต่อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ

รายงานฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและอธิบายถึงความแตกต่างและความเชื่อมโยงของมิติด้านสิ่งแวดล้อมกับการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยนำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ พร้อมแสดงให้เห็นว่ามิติด้านสิ่งแวดล้อมกับการดื้อยาต้านจุลชีพนั้นมีหลากหลายแง่มุม การตอบสนองจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบร่วมกัน เช่น หลักสุขภาพหนึ่งเดียว (one health) ในการสร้างความตระหนักว่าสุขภาพคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อมมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดและต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน 

จากเนื้อหารายงานสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ อาทิ

อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ที่ผ่านมา นับว่าปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของปัญหาภัยคุกคามด้านสุขภาพของทั่วโลก ซึ่งในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 1.27 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมีสาเหตุโดยตรงมาจากการติดเชื้อดื้อยา และเกือบห้าล้านคนเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยา คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตโดยตรงเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2593 ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลกในปี 2563 เช่นนั้นแล้ว ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ จำเป็นต้องอาศัยการติดตามอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปและให้แก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพได้อย่างเป็นระบบ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ประเทศยากจนยังขาดการเข้าถึงยาปฏิชีวนะที่จำเป็น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อดื้อยา 
Merck ให้สิทธิบริษัทยา 27 แห่งผลิตยาต้านโควิด-19 ‘โมลนูพิราเวียร์’ เพื่อขายราคาถูกให้ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง
แม่น้ำกว่า 200 สายทั่วโลกปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ยา หลายสายมีระดับเป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
อินเดียกับการให้มีน้ำสะอาดใช้ในครัวเรือนชนบทภายในปี 2567 ต้องเร่งแก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนสารหนู ที่กระทบต่อสุขภาพของประชากรหลักล้าน 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
Bracing for Superbugs: Strengthening environmental action in the One Health response to antimicrobial resistance | UNEP 
Reduce pollution to combat ‘superbugs’ and other anti-microbial resistance | UN News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version