Site icon SDG Move

สรุปสาระสำคัญ การสัมมนาวิชาการในหัวข้อ Developing research strategy drawing upon experiences of orchestrating Macquarie’s research strategy in harmony with global megatrends that are likely to impact our future world.

โดย Professor Sakkie Pretorius 
Deputy Vice-Chancellor Research
Macquarie University, Sydney Australia

เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค 
ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สรุป

สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยคณะกรรมการ Reinventing University ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย จัดการสัมมนาวิชาการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ในหัวข้อ Developing research strategy drawing upon experiences of orchestrating Macquarie’s research strategy in harmony with global megatrends that are likely to impact our future world โดยมี Prof. Sakkie Pretorious, Deputy Vice-Chancellor Research ของมหาวิทยาลัย Macquarie University ผู้เชี่ยวชาญด้าน Synthetic Biology และ Research Partnership Strategy เป็นผู้บรรยาย สาระสำคัญของการสัมมนาวิชาการครั้งนี้คือการที่วิทยากรเล่าให้ฟังถึงกระบวนการในการเตรียมการ (orchestrate) ให้เกิดยุทธศาสตร์การวิจัยที่เป็นอันหนึ่งสอดประสานอันเดียวกันกับแนวโน้มสำคัญของโลกและมุ่งให้ผลการวิจัยส่งผลกระทบทางบวกต่อโลก รวมถึงแนะนำให้รู้จักเกี่ยวกับประเด็นวิจัยและศูนย์วิจัยในปัจจุบันและที่จะตั้งขึ้นในอนาคตอีกด้วย มหาวิทยาลัยไทยอาจนำกระบวนการและเป้าหมายด้านวิชาการ (academic objectives) ของมหาวิทยาลัย Macquarie ไปประยุกต์ใช้เพื่อการขับเคลื่อนความเป็นเลิศด้านการวิจัยของตนได้


บทนำ

สถานการณ์ตั้งต้นของมหาวิทยาลัย Macquarie คือ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคนเก่งคนเชี่ยวชาญอยู่ไม่น้อย แต่ไม่เกิดความร่วมมือในการผลักดันงานวิจัย (collectives) ให้ก้าวไปข้างหน้า โจทย์คือจะทำอย่างไรให้การทำวิจัยของมหาวิทยาลัยพัฒนาจากการเป็นหัตถอุตสาหกรรมในครัวเรือน (cottage industry) ไปเป็นอุตสาหกรรมขนาดที่ใหญ่และอาศัยความร่วมมือที่หลากหลาย (large industry and collectives) ได้อย่างไร

วิทยากรเล่าให้ฟังถึงการใช้กระบวนการการมองอนาคต (foresight) ไปถึงปี 2578 โดยเริ่มจากการวางวิสัยทัศน์ไปถึงอนาคตที่ต้องการ (preferred future) ในปี 2578 สแกนขอบฟ้า (horizon scanning) และวิเคราะห์แนวโน้มของโลก (megatrened) คาดการณ์ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ และออกแบบยุทธศาสตร์ของการวิจัยและขับเคลื่อนไปตามยุทธศาสตร์นั้น แม้อนาคตจะไม่แน่นอน แต่แผนวิจัยนี้ก็จะขับเคลื่อนไปตลอดช่วง 10 ปี แม้จะมีต้องมีการปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นบ้างแต่ก็ยังคงอยู่ในโฟกัสที่วางไว้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเพิ่งมีการวางแผนอนาคตการวิจัยอีก 10 ปีของมหาวิทยาลัย


01 – Megatrend ที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ

แนวโน้มระดับโลกที่มหาวิทยาลัยวิเคราะห์ ประกอบด้วย 7 ประเด็นหลักคือ 

ขณะเดียวกัน โลกก็กำลังก้าวเข้าสู่ความผันผวนและขาดเสถียรภาพทั้งในด้านของภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเศรษฐกิจ หลังจากการระบาดของโควิด 19 สิ่งปกติที่เคยเป็นมาหลายเรื่องถูกตั้งคำถาม เช่น การที่ประเทศหนึ่งๆ ไม่รุกรานอีกประเทศหนึ่ง การไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ เงินเฟ้อควรจะต่ำ ทุกบ้านควรมีไฟฟ้าใช้ เป็นต้น 


02 – Research focuses และ Academic objectives. 

ในแนวโน้มโลกเหล่านี้ แต่ละคณะมีหน้าที่ในการวางแผน ตระเตรียมการ (orchestrating) การวิจัยเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายระดับโลก โดยมี research focus ทั้งหมด 5 ด้านที่มุ่งกำหนดอนาคต คือ 

งานวิจัยในแต่ละ focus นั้นควรมีเป้าหมายทั้งวิชาการ (academic objectives) 4 ประการหลัก

ประการแรก เร่งสมรรถนะด้านการวิจัยให้เป็นผู้นำในระดับโลก ด้วยการพัฒนาและดึงดูดนักวิจัยชั้นนำมาทำงานที่มหาวิทยาลัย เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัย สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยระดับโลกและปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านการวิจัย 

ประการที่สอง เตรียมพร้อมนักวิจัยคุณภาพสูงระดับโลก ด้วยการดึงดูดนักวิจัยระดับ MRes และ PhD คุณภาพสูง ให้คำปรึกษาที่สร้างแรงบันดาลใจ และให้มุมมองจากประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมงานวิจัย (transformative research experience) ให้เชื่อมโยงงานวิชาการกับโลกความจริง และให้การสนับสนุนคุณภาพระดับโลกแก่นักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา 

ประการที่สาม สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในฐานะสถาบันวิจัยที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ด้วยการสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ความร่วมมือทางวิชาการที่ลึกซึ้งและนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาจริง สร้างหุ้นส่วนความร่วมมือแบบเสริมพลังกับผู้ใช้งานวิจัย และสร้างระบบสนับสนุนการวิจัย

ประการที่สี่ ผลิตงานวิจัยที่สร้างผลการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ด้วยการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าที่นำไปสู่นวัตกรรม ส่งเสริมงานวิจัยที่เน้นการแก้ไขปัญหาและความท้าทาย เปิดรับและสนับสนุนความหลากหลายของการมีส่วนร่วมของการวิจัยและผลกระทบ

มหาวิทยาลัยมียุทธศาสตร์ในการขยายความเป็นเลิศด้านการวิจัยในกลุ่มประเด็นที่ความเชี่ยวชาญ แต่ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามศาสตร์ด้วย เนื่องจากความคิดใหม่ ๆ อันเยี่ยมยอด ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนคนเดียวหรือศาสตร์เดียวแต่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ข้ามศาสตร์ มหาวิทยาลัยจึงสนับสนุนความเป็นเลิศในทุกด้านที่มหาวิทยาลัยมี และหาโอกาสสร้างประเด็นการวิจัยร่วมข้ามศาสตร์ (consilience) หากเป็นไปได้ โดยประเด็นยุทธศาสตร์การวิจัยที่ควรให้ความสำคัญคือ 


03 – ศูนย์วิจัยและประเด็นวิจัยสำคัญของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัย Macquarie มีโครงสร้างการบริหารจัดการคณะและศูนย์วิจัยที่น่าสนใจ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยมีจำนวนคณะทั้งหมด 4 คณะ ประกอบด้วย (1) Faculty of Arts, (2) Macquarie Business School, (3) Faculty of Medicine, Health & Human Sciences และ (4) Faculty of Science and Engineering ซึ่งภายใต้ 4 คณะนี้มี schools และ departments ย่อยกว่า 35 หน่วยงาน

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยยังมี สถาบัน (institutes) และ ศูนย์ (centres)ด้านการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงอยู่หลายศูนย์และมีวิธีการบริหารจัดการที่น่าสนใจ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยมี สถาบัน และ ศูนย์ทั้งหมด 12 แห่ง ประกอบด้วย

มหาวิทยาลัยยังมีแผนที่จะตั้งศูนย์วิจัยขนาดใหญ่อีก 10 ศูนย์สำหรับอนาคตตอบประเด็นการวิจัยเพื่ออนาคต 10 ประเด็น ศูนย์วิจัยที่จะตั้งขึ้นนี้ประกอบด้วยศูนย์ประเภท consilience centres (ศูนย์สำหรับประเด็นงานวิจัยข้ามศาสตร์) 5 ศูนย์ และประเภท strength-at-scale อีก 5 ศูนย์ โดยในเอกสารได้มีการกล่าวถึงว่า ประเด็น 10 ประเด็นที่จะกลายเป็นศูนย์วิจัยมีประเด็นอะไรบ้าง คณะหรือสถาบันใดเป็นเจ้าภาพ มีประเด็นย่อยคืออะไรและเป้าหมายปลายทางคืออะไร


04 – ทิ้งท้าย: การบริหารงานวิจัยแบบ orchestrating a symphony 

การบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนกับการที่ไวทยากรเป็นผู้กำกับจังหวะและน้ำหนักการเล่นของนักดนตรีในวงซิมโฟนี่ ซึ่งต้องทั้งอาศัยความยอดเยี่ยมของผู้เล่นระดับปัจเจกและการทำงานเป็นทีมที่ยอดเยี่ยม การทำงานร่วมกันแบบวงซิมโฟนี่ในงานวิจัยจะเกิดขึ้นได้หากมหาวิทยาลัยสามารถสร้างกระบวนการที่ทำให้เกิดการจัดลำดับเป้าหมายที่ให้ความสำคัญ (priorities objectives) และจุดโฟกัส (focus) ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และเกิดความร่วมมือข้ามศาสตร์ที่ทุกคนเห็นร่วมกัน 

ในอนาคตที่ผันผวน งานวิจัยอาจต้องปรับตัว แต่สิ่งที่ต้องคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงในระยะยาวคือจุดโฟกัส อยู่ที่ประเด็นวิจัยที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมความร่วมมือ (collaborate) และการสรรสร้างนวัตกรรม (innovate) ของมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศ (excellence) ในประเด็นนั้น ๆ แล้วผลักดันการขยายผล (scale up) เพื่อสร้างคุณค่า (create value) ที่แท้จริงและผลกระทบให้เกิดต่อสังคมและโลก

นอกจากนี้ จากการถามตอบช่วง Q&A ทำให้ตระหนักว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดประเด็นการวิจัยของมหาวิทยาลัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง วิทยากรเล่าว่าเขาใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เขาจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ(workshop) 6 วันติดกันในหนึ่งสัปดาห์ คนร่วมแต่ละครั้งราว 100 คน เพื่อให้ทราบถึงความเชี่ยวชาญ ความคิด และความต้องการของชุมชนในมหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้ทิศทางและแผนวิจัยระยะยาวของมหาวิทยาลัยออกมา แม้ว่าจะยังไม่ทราบถึงกระบวนการโดยละเอียด แต่มันชัดเจนว่า มหาวิทยาลัย Macquarie ใช้กระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์การวิจัยแบบล่างขึ้นบน(bottom up)

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยให้คุณค่ากับทั้งผู้เชี่ยวชาญ(expert) ที่อาจจะอยากทำงานคนเดียวหรือเข้าสังคมไม่เก่ง และคนที่สามารถทำงานและร่วมวิจัยเป็นทีมได้ ทางมหาวิทยาลัยไม่บังคับให้คนต้องเข้ามามีส่วนร่วม หากเขาทำหน้าที่ของเขาได้ดีและไม่ได้ขัดขวางการขับเคลื่อนในภาพใหญ่มหาวิทยาลัยก็ควรสนับสนุนเขาตามปกติ แต่ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ คนกลุ่มที่ทำงานคนเดียวเริ่มน้อยลงเมื่อเห็นว่ามหาวิทยาลัยมีการสนับสนุนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขาและเชื่อมโยงไปยังประเด็นวิจัยหลักของมหาวิทยาลัยด้วย ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยนั้นก็มีเป็นธรรมดาแต่วิทยากรให้ข้อคิดว่าเขามักจะคิดว่าคนเหล่านี้อย่างไรก็คงมีแน่นอนสัก 10% ก็คงต้องปล่อยให้เป็นไป แต่ผลงานจะพิสูจน์ความพยายามเอง ซึ่งก็เป็นไปตามคาดที่เมื่อเกิดความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของมหาวิทยาลัยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็เบาบางลงไป


05 – Key takeaway ที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยไทย

ประการแรก การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มีความยึดโยงกับบริบทโลกเสียก่อนเพื่อให้การวิจัยของมหาวิทยาลัยไทยสามารถมีบทสนทนากับโลกได้ ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นมาของมหาวิทยาลัยไทยคือ ประเทศไทยเองมีความท้าทายที่สำคัญอยู่ไม่น้อย แต่ความท้าทายเหล่านี้หาได้แยกขาดจากความท้าทายระดับโลกไม่ มหาวิทยาลัยไทยต้องหาทางผสานความท้าทายระดับโลกและระดับประเทศเข้าด้วยกันอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างโฟกัสด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก

ประการที่สอง ประเด็นการวิจัยของมหาวิทยาลัยต้องมีความ ครอบคลุม (inclusive) คือ คณะและภาควิชาต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกันเป็นขบวนใหญ่ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งนักวิจัยที่มีความเป็นเลิศแม้ว่าประเด็นของเขาจะเป็นประเด็นเฉพาะที่อาจไม่ได้เชื่อมโยงกับประเด็นวิจัยของมหาวิทยาลัยก็ตาม มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ orchestrate ให้นักวิจัยเหล่านี้มีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยกับประเด็นวิจัยของมหาวิทยาลัยในระยะยาว

ประการที่สาม โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสนับสนุนการวิจัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง การได้นักวิจัยศักยภาพสูง ทั้งที่ผลิตเองและดึงเข้ามา ผู้ช่วยวิจัยและทีมสนับสนุนศักยภาพสูง ก็จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการวิจัยระดับโลก โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพสำหรับการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการและการสร้างความร่วมมือ งบประมาณการวิจัย ระบบข้อมูลภายในมหาวิทยาลัย การสร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่ออำนวยความสะดวกและขยายผลจากการวิจัย และปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ มีผลอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยระดับโลกในมหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นการสนับสนุนของมหาวิทยาลัย

ประการสุดท้าย ยุทธศาสตร์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องระยะยาว มิใช่เป็นยุทธศาสตร์รายปี หรือยุทธศาสตร์ตามวาระของผู้บริหาร ซึ่งยุทธศาสตร์งานวิจัยจะเป็นประเด็นระยะยาวได้ก็ต่อเมื่อยุทธศาสตร์เหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นอย่างมีส่วนร่วมจากประชาคม มิใช่เป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารยุคใดยุคหนึ่งเท่านั้น ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยไทยอาจต้องหาวิธีการทำให้ระบบการสนับสนุนทุนวิจัยมีความเป็นระยะยาวมากขึ้นในบริบทที่ระบบสนับสนุนการวิจัยของประเทศยังคงผูกติดอยู่กับปีงบประมาณและยากที่จะสร้างความต่อเนื่องระยะยาวให้เกิดขึ้นได้

Author

Exit mobile version