วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดแฟ้มคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปี 2566 ณ โรงแรมลาโค่ เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยนายมงคล ศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าปัจจุบันแผนการดำเนินการในปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดการคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจสอบบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐ การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงแรมในเขตกำหนดเขตพื้นที่ มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมถึงคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การออกใบอนุญาตโรงงานทุกชนิด และคดีเกี่ยวกับเหมืองแร่ นั้นมีมากกว่า 254 คดี แบ่งเป็นการตรวจสอบเบื้องต้น 172 คดี และไต่สวนข้อเท็จจริง 82 คดี
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า
- ภาคเหนือ มี 11 คดี ตรวจสอบเบื้องต้น 8 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 3 คดี โดย 1 ใน 3 เป็นคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- ภาคกลาง มี 52 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 38 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 14 คดี โดยมีคดีใหญ่กว่าหมื่นไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่จะต้องตรวจสอบต่อไป
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 58 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 40 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 18 คดี
- ภาคตะวันออก มี 15 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 13 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 2 คดี
- ภาคตะวันตกมี 29 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 21 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 8 คดี
- ภาคใต้ มี 89 คดี โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 52 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 37 คดี โดยมีคดีเยอะสุดในพื้นที่ จ.ภูเก็ต
นายมงคล ยังระบุถึง 10 คดีที่น่าสนใจในปี 2566 ได้แก่
- การบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สนามทดสอบรถยนต์
- การบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับคดีที่ 1
- การออกโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจในเขตเขาและความลาดชันเกิน 35% อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 300 ไร่ อยู่ในขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหา โดยเกี่ยวกับกลุ่มทุนน้ำเมา
- อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกโฉนดที่ดิน 2 แปลง บนหาดฟรีด้อม ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถออกโฉนดได้ โดยได้เรียกรับเงินในการดำเนินการจำนวน 120 ล้านบาท ซึ่งเสร็จภายในปีนี้แน่นอน
- การออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ และรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาพนมเบญจา โดยเป็นกรณีที่กรมป่าไม้ไปขีดแนวเขตแล้วไม่ตรงกับแผนที่ โดยขีดให้มีช่องว่างทำให้กลุ่มทุนที่เป็นบริษัทยาเข้าไปออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องโดยตรวจสอบพบกระแสการเงิน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
- ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกโฉนดที่ดิน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 41-3-28 ไร่ เกินกว่าหลักฐานเดิมที่แจ้งไว้คือ 34-3-16 ไร่ หรือเพิ่มมากว่า 7-3-12 ไร่ โดยนำพื้นที่ป่าและที่ดินของนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิมารังวัดรวมด้วย
- ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บุกรุกถือครองพื้นที่สวนป่าไม้สักของรัฐบาล รวมพื้นที่ 49 ไร่เศษ เหตุเกิดที่สวนป่ากิวทัพยั้ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ข้าวต้ม-ป่าห้วยลึก ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ซึ่งใกล้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว
- นายก อบต.เชิงทะเล จ.ภูเก็ต กับพวก ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในโครงการลาคอลิน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารวก-ป่าเขาเมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และพื้นที่ห้ามก่อสร้างตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งคดีดังกล่าวอาจจะมีการชี้มูลยกทั้งสภาท้องถิ่น มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนสถาบันการเงิน
- เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต สาขาถลาง กับพวกรวม 16 ราย ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนเกาะแรด เนื่องจากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่มีบุคคลใดเข้าไปถือครองและทำประโยชน์จำนวน 6 แปลง ซึ่งมีการแจ้งข้อหาแล้ว มีความเกี่ยวกับกลุ่มทุนประกอบกิจการรถยนต์
- การทุจริตออกใบจอง น.ส. 3 ก. และโฉนดที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ ในพื้นที่ ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ โดยเกี่ยวกับกลุ่มทุนด้านการเกษตร กว้านซื้อที่ดินเอาใบจองไปออกโฉนด และถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
คดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์ป่าไม้ไทยที่ปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาการลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดของ พบว่า ณ ปี 2563 พื้นที่ป่าไม้ของไทยอยู่ที่ 102,353,484.76 ไร่ คิดเป็น 31.64% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ลดลงราว 35,213,391 ไร่ จากปี 2516 หรือเมื่อ 47 ปีก่อนหน้า ซึ่งมีพื้นที่ป่าอยู่ราว 138,566,875 ไร่ การหยุดยั้งการทำลายและยื้อแย่งครอบครองพื้นที่ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าของไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หลายภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งอาจเน้นไปที่การจัดการกับการทุจริตก่อนเป็นเรื่องแรก เนื่องจากเป็นสะพานสำคัญที่เปิดทางให้ผู้มีอำนาจ นักการเมือง และนักธุรกิจ สามารถบุกรุกและทำลายพื้นที่ทางธรรมชาติได้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– CPI เผยดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2565 พบไทยคะแนนดีขึ้น 1 คะแนน รั้งอันดับ 101 ของโลก แต่สถานการณ์ทุจริตในประเทศยังน่ากังวล
– รายงานสังเคราะห์ของ UNEP เผยภูมิภาคทั่วโลกเห็นร่วมหาทางยุติการฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้รับรองสิทธิ์ของธรรมชาติไว้ในกฎหมาย
– พื้นที่ป่ามรดกโลก 257 แห่ง ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากถึง 190 ล้านตันต่อปี
– 7 ข้อเรียกร้องจาก‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ถึง รมว.ทรัพยากรฯ หวังนำเรื่องเข้าที่ประชุมเอเปคป่าไม้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.5) ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ
แหล่งที่มา : ป.ป.ช.เปิดแฟ้ม 10 คดีรุกป่าปี 66 จับตา 2 “นักการเมืองดัง” ใกล้เสร็จแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย