ชุมชนเมืองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะนำ ‘ทุนที่มีค่า’ ในชุมชนมาใช้ตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2559 มีประชากรรวมราว 10.6 ล้านคน นับว่าเป็นเมืองหลวงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีความเสี่ยงในการเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการจัดการเมืองขาดการประสานเชื่อมโยงกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งการวางแผนผังเมือง การดำเนินการเชิงกฎระเบียบ และการใช้ที่ดิน เช่น การพัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรรซ้อนทับบนพื้นที่โซนสีเขียว ซึ่งกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับระบายน้ำท่วม ส่งผลให้บ้านเหล่านั้นเสี่ยงภัยน้ำท่วมและขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำของเมือง ซึ่งวิกฤติการณ์น้ำท่วมหนักเมื่อปี 2554 ก็เป็นผลกระทบสำคัญจากนโยบายการวางแผนป้องกันภัยพิบัติที่ขาดประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี แม้จะอาศัยอยู่ในเมืองเดียวกันแต่ฐานะทางเศรษฐกิจก็ทำให้ประชากรเมืองมีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่ต่างกันด้วย โดยครัวเรือนที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูง แม้จะเผชิญผลกระทบจากน้ำท่วมแต่ก็มีมาตรการในการรับมือ เช่น การย้ายที่อยู่ชั่วคราว การสร้างคันกั้นน้ำได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เพื่อสร้างคันกั้นน้ำได้ทันที อีกทั้งยังสูญเสียรายได้รายวันเนื่องจากสถานที่ทำงานถูกปิดและไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้

เฉพาะภัยพิบัติน้ำท่วม ที่ผ่านมาภาครัฐแก้ปัญหาโดยเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน อุโมงค์ระบายน้ำบริเวณนอกรอบของเมือง มากกว่าการให้ความสำคัญกับการควบคุมการพัฒนา การบูรณะปรับปรุงพื้นที่ชุ่มน้ำ และเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อความเสี่ยงแก่ประชากรเมืองเท่าที่ควร ต่อมาเมื่อปี 2560 กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือกับโครงการ 100 Resilient Cities ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้พัฒนายุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การลดความเสี่ยงและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวผ่านการเสริมสร้างศักยภาพแก่ปัจเจกบุคคลและชุมชนในการรับรู้ ปรับตัว และฟื้นคืนกลับจากภัยพิบัติ

เพื่อศึกษาความสามารถและเสนอแนวทางหนุนเสริมศักยภาพแก่ปัจเจกและชุมชนเมืองในการนำทุนที่มีค่า (asset) มาปรับใช้ในการตั้งรับปรับตัวจากภัยพิบัติ Wijitbusaba Marome, Boonanan Natakun, Pattaradeth Mabangyang และ Nuttavikhom Phanthuwongpakdee คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Diane Archera Stockholm Environment Institute Asia จึงได้ดำเนินงานวิจัย “The role of collective and individual assets in building urban community resilience” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจว่าชุมชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ มีการวางแผนและตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤติอื่น ๆ อย่างไร และเพื่อระบุแนวทางในการสนับสนุนการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ครอบคลุม และตั้งรับปรับตัวได้มากขึ้น 

ด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเน้นบทบาทของปัจเจกและชุมชนในการตั้งรับปรับตัวต่อความเสี่ยงวิกฤติ ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ เป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง 

การดำเนินการการวิจัยของ Wijitbusaba Marome และคณะ มีรายละเอียดสำคัญ ได้แก่

  • กำหนดให้คำว่า “ทุนที่มีค่า” ครอบคลุมถึงทุนที่จับต้องได้ เช่น ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางการเงิน โครงสร้างพื้นฐาน และทุนที่จับต้องไม่ได้ เช่น ทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ การศึกษา 
  • คำถามหลักของการวิจัย มี 3 คำถาม ได้แก่ 1) อะไรคือกลไกการรับมือและการปรับตัวของครัวเรือนที่มีอยู่ก่อน ระหว่าง และหลังวิกฤติ และมีการนำทุนที่มีค่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร 2) ชุมชนมีกลยุทธ์การคืนกลับสู่ความปกติร่วมกันและทุนที่มีค่าของชุมชนมีบทบาทอย่างไร และ 3) อะไรคือนัยของการกำกับดูแลหลายระดับต่อการตั้งรับปรับตับตัวของเมือง
  • พื้นที่ศึกษา เลือกจากชุมชนเมือง 3 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยคัดเลือกผู้ตอบแบบสอบถามจากผู้มีรายได้น้อยที่เกี่ยวข้องหรือเข้าร่วมกับโครงการบ้านมั่นคง และเป็นผู้ที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียจากผลการศึกษาของการวิจัยนี้
  • ใช้การวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน ได้แก่ 1) การวิจัยเชิงปริมาณ ผ่านการสำรวจครัวเรือนกว่า 190 ครัวเรือนในพื้นที่ศึกษา 2) การวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านการสนทนากลุ่ม และ 3) การทดลองใช้ชุดเครื่องมือ “Kin Dee You Dee” สำหรับเป็นพื้นที่อภิปรายของชุมชน
  • แบบสอบถามในการสำรวจเน้นเป็นคำถามปลายเปิด โดยคำถามหลักแบ่งเป็นสามส่วน ได้แก่ 1) ข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถามและครัวเรือน 2)​ ประสบการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ และ 3) วิถีชีวิตประจำวันของผู้ตอบแบบสอบถาม และการดำเนินการที่พวกเขาจะดำเนินการเพื่อตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤติการณ์ในอนาคต

งานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบโดยสรุปที่น่าสนใจ ได้แก่

  • ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เคยประสบวิกฤติทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง วิกฤติการเงิน การขาดแคลนพลังงาน แต่วิกฤติที่เกี่ยวกับน้ำพบเจอมากที่สุด โดยคิดเป็นครึ่งหนึ่งของวิกฤติที่ประสบ
  • กลไกการตอบสนองต่อวิกฤติมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับครัวเรือนส่วนบุคคลมากกว่าระดับชุมชนโดยรวม แม้ว่าทั้ง 3 ชุมชนจะมีประสบการณ์การดำเนินการร่วมกันของชุมชนตนเองผ่านโครงการบ้านมั่นคงก็ตาม 
  • ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาระยะสั้นและลดความสำคัญของการวางแผนสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว โดยเน้นการคาดหวังความช่วยเหลือจากภายนอกเข้ามาช่วยเหลือชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นความเสี่ยงในการลดผลกระทบจากวิกฤติในอนาคต
  • ครัวเรือนที่เคยประสบวิกฤติในอดีต สามารถตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤติในปัจจุบันได้มากขึ้น แต่มาตรการรับมือส่วนใหญ่ปรับตัวและอิงตามประสบการณ์ของวิกฤติที่เผชิญ
  • เครื่องมือ “Kin Dee You Dee” สามารถช่วยส่งเสริมการอภิปรายและถกเถียงของชุมชนเกี่ยวกับการนำทุนที่มีค่าในชุมชนและรอบ ๆ ชุมชนมาปรับใช้สำหรับรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ 

นอกจากนี้  Wijitbusaba Marome และคณะ ได้เสนอแนะว่าประสบการณ์ชีวิตจากเหตุการณ์ในอดีตของชุมชนท้องถิ่นควรนำไปใช้ประกอบการวางแผนในระดับอำเภอและเทศบาล เพื่อบูรณาการบทเรียนที่ได้รับ อย่างไรก็ตามการวางแผนรองรับความเสี่ยงในระยะยาวยังขาดข้อมูล เช่น อาจมีการสร้างคลองระบายน้ำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดน้ำท่วมของรัฐบาล แต่ยังต้องคำนึงถึงรูปแบบที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะการเกิดน้ำท่วมจะเปลี่ยนไปเมื่อการพัฒนาเมืองเปลี่ยนไป

กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “The role of collective and individual assets in building urban community resilience” ได้สะท้อนว่าปัจเจกบุคคลในครัวเรือนและชุมชนสามารถนำทุนที่มีค่าซึ่งมีอยู่ในชุมชนมาปรับใช้เพื่อตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤติต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ภาครัฐจึงอาจให้ความสำคัญกับบทบาทของชุมชนได้ร่วมดำเนินการด้วยเป็นสำคัญ

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม 

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความแข็งแรง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและพื้นที่เขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สามารถจ่ายได้
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.b) ภายในปี 2563 เพิ่มจำนวนเมืองและกระบวนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เลือกใช้และดำเนินการตามนโยบายและแผนที่บูรณาการ เพื่อนำไปสู่ความครอบคลุม ความมีประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีภูมิต้านทางต่อภัยพิบัติ และให้พัฒนาและดำเนินการตามการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติแบบองค์รวมในทุกระดับ ให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ.2558-2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

ข้อมูลงานวิจัย: . Diane Archer, Wijitbusaba Marome,Boonanan Natakun, Pattaradeth Mabangyang & Nuttavikhom Phanthuwongpakdee. (2020). The role of collective and individual assets in building urban community resilience. International Journal OF Urban Sustainable Development 2020. Vol. 12, No. 2, 169–186. https://doi.org/10.1080/19463138.2019.167142  
ชื่อผู้วิจัย -สังกัด:  Wijitbusaba Marome,Boonanan Natakun, Pattaradeth Mabangyang & Nuttavikhom Phanthuwongpakdee คณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Diane Archera Stockholm Environment Institute Asia.

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on เมษายน 11, 2023

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น