ชวนอ่านงานวิจัย “โครงการจัดทำกรอบการดำเนินการด้าน GLOBAL MARKET- BASED MEASURE (GMBM) และกรอบแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายไทยว่าด้วยสิ่งแวดล้อมการบินพลเรือน” โดย ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ดำเนินงานผ่านสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
รายงานฉบับนี้ เป็นการศึกษาวิจัยจัดทำกรอบการดำเนินการด้าน “มาตรการระดับโลกด้านการใช้กลไกตลาด” (Global Market-Based Measure: GMBM) และกรอบแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายไทยว่าด้วยสิ่งแวดล้อมการบินพลเรือน เพื่อตอบสนองความต้องการของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT) ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) หรือที่เรียกว่า โครงการ Global Market Based Measure (GMBM) โดยมีโครงการย่อยที่เรียกว่า โครงการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation : CORSIA) มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2564 ซึ่งประเทศไทย ได้เริ่มส่งข้อมูลการดำเนินงานของสายการบินของประเทศให้แก่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
ด้วยเหตุข้างต้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จึงได้วางข้อกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการการบินที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเริ่มเก็บข้อมูลการดำเนินงานและจัดทำเป็นรายงานนำส่งให้กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศทราบตามที่องค์การนั้นได้กำหนดไว้ในเอกสารภาคผนวกที่ 16 เล่มที่ 4 ภาค 2 เพื่อเป็นการรายงานผลจากการเก็บข้อมูลและจัดทำรายงานนำส่งที่ได้ต่อไป ซึ่งนอกจากโครงการย่อย CORSIA แล้ว สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ยังมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมกำกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในกิจการการบินพลเรือนของประเทศในภาพรวมอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากตัวอากาศยานและจากท่าอากาศยาน อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
ดังนั้น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงมีเป้าหมายเพื่อต้องการควบคุมจำกัด รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐภาคีตามอนุสัญญาชิคาโกต้องร่วมมือในการควบคุมจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานวิจัยฉบับนี้ จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยรายงานฉบับนี้ ได้นำเสนอเครื่องมือทางกฎหมาย ภายใต้ฐานอำนาจในระบบกฎหมายปัจจุบัน เพื่อควบคุมกำกับให้ผู้ประกอบกิจการการบินพลเรือนโดยเฉพาะการให้บริการระหว่างประเทศต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำหนด เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในภาคผนวกที่ 16 เล่มที่ 4 ภาค 2 ว่าด้วย CORSIA ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
จากการศึกษารายงานฉบับนี้ จะสามารถแบ่งเนื้อหาหลักได้ 2 ประเด็น ดังนี้
1) การแสวงหาเครื่องมือทางกฎหมาย เพื่ออำนวยให้ CAAT สามารถควบคุมกำกับให้ผู้ประกอบกิจการการบินพลเรือนโดยเฉพาะผู้ให้บริการการบินระหว่างประเทศต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ CAAT กำหนด เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในภาคผนวกที่ 16 เล่มที่ 4 ว่าด้วย CORSIA ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ รวมถึงนำเสนอ (ร่าง) ข้อบังคับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการตรวจวัด การรายงาน การชดเชย และการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการการบิน พ.ศ…
2) การแสวงหาเครื่องมือของ CAAT ทั้งทางกฎหมายและมิใช่กฎหมาย เพื่อควบคุมกำกับเรื่องสิ่งแวดล้อมการบินพลเรือนทั้งระบบเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ว่าด้วยการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GMBM) ในกิจการการบินพลเรือนในภาพรวม เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงระบบกฎหมายไทยว่าด้วยสิ่งแวดล้อมในกิจการการบินพลเรือนโดยละเอียดต่อไป
อันเป็นเหตุที่ทำให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จึงต้องสำรวจตรวจสอบอำนาจทั้งทางกฎหมายและมิใช่ทางกฎหมายของตนเองในการควบคุมกำกับเรื่องสิ่งแวดล้อมการบินพลเรือนทั้งระบบ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GMBM) ในกิจการการบินอีกทางหนึ่งด้วย
กล่าวโดยสรุป การมีกรอบการดำเนินการด้าน “มาตรการระดับโลกด้านการใช้กลไกตลาด” (Global Market-Based Measure: GMBM) และกรอบแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายไทยว่าด้วยสิ่งแวดล้อมการบินพลเรือน เพื่อเป็นการควบคุมกำกับเรื่องสิ่งแวดล้อมให้สามารถเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ยังช่วยบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคมนาคมทางอากาศภายในประเทศครอบคลุมให้อยู่ในกรอบตามกฎหมาย และช่วยสร้างความตระหนักในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการคมนาคมทางอากาศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)