Site icon SDG Move

Editor’s pick 01 | 2023 ปีแห่งการทบทวนครึ่งทาง SDGs กับ บริบทเฉพาะของไทยที่อย่างไรก็ต้องกล่าวถึง

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

Editor’s pick ฉบับนี้เป็นจดหมายข่าวฉบับแรกของ SDG Move เรามีความตั้งใจที่จะเรียบเรียงประเด็นและข้อสังเกตต่อสถานการณ์การขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทยส่งต่อถึงผู้สนใจเรื่องความยั่งยืนทุกคน จดหมายข่าวฉบับนี้มีเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน 


Editor’s note

ปี 2023(2566)  เป็นปีที่ 8 ของการดำเนินการตามวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งกำหนดระยะเวลาดำเนินการเอาไว้ 15 ปี  จึงนับได้ว่าขณะนี้เราก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของการผลักดันให้โลกบรรลุเป้าหมายชุดนี้แล้ว ดังนั้น ในปีนี้เราจะได้เห็นบทสนทนาเกี่ยวกับการทบทวน ประเมินผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานตลอด 7 ปีที่ผ่านมาจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาชุดนี้อย่างหลากหลาย เฉพาะประเทศไทยต้นปี 2566 ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่จัดเวทีแลกเปลี่ยน ทบทวนรูปแบบการทำงานตามภารกิจองค์กรที่จัดเสร็จสิ้นแล้วอย่างน้อย 1 แห่ง คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “เมื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาถึงครึ่งทาง เราควรปรับตัวอย่างไร เพื่อพาสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน” เมื่อวันที่ 8 และ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานกำหนดแผนจัดกิจกรรมในทำนองดังกล่าว โดยเฉพาะจากภาควิชาการมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนระบบความรู้ วิพากษ์กลไกความรู้ กลไกทางการเงิน กลไกเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ส่วนการทบทวนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบต้องรอติดตามจากรายงานสรุปผลการดําเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเปาหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสําหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ที่ 1/2566 ในวันที่ 8 มีนาคม นี้

สำหรับท่าทีในระดับนานาชาติความเคลื่อนไหวในการทบทวนครึ่งทาง SDGs เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ตัวอย่างกิจกรรมที่สะท้อนการให้ความสำคัญกับวาระนี้ คือ การจัดประชุมในหัวข้อ SDG midterm review: what have we learned from implementation to date? How can we fast-track progress? ในเวทีประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development (HLPF)  2022 (ปี 2564)  ซึ่งเป็นเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองที่ทำหน้าที่ติดตามและประเมินความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs จากผู้แทนแต่ละประเทศ กล่าวคือ วาระเกี่ยวกับการทบทวนจัดอยู่ในความสำคัญลำดับต้น ๆ ในเวทีระหว่างประเทศนั่นเอง เหตุผลหนึ่งของการจัดให้มีเวทีทบทวนตั้งแต่ปีที่ 7 ของวาระ SDGs เนื่องจากเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลนำเข้าให้พร้อมเพื่อจัดทำรายงาน Global Sustainable Development Report (GSDR) 2023 อันเป็นรายงานความก้าวหน้าอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติจัดทำทุก 4 ปี และจะเปิดตัวรายงานในการประชุม HLPF ซึ่งในรอบปีเหล่านี้จะมีสมาชิกระดับผู้นำรัฐบาลเข้าร่วมและนำเสนอความก้าวหน้าของประเทศตนต่างกับปีก่อนหน้าที่อาจนำเสนอโดยผู้แทนทั้งมิได้มีการรวมตัวผู้นำระดับสูงอย่างครบถ้วน ผนวกกับอยู่ในวาระครึ่งทาง การประชุม HLPF 2023 จึงมีขนาดใหญ่และน่าจับตาอย่างมาก


กระบวนทัศน์ที่อาจเปิดทางให้เรายังสามารถบรรลุ SDGs

นอกจากเนื้อหาที่จะปรากฏจากการทบทวนแล้ว กรอบของการทบทวนและติดตาม SDGs ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะจะฉายให้เห็นประเด็นที่เป็นจุดเน้น หรือเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญต่างกัน โดยกรอบการทบทวนและติดตาม SDGs เริ่มปรับกระบวนทัศน์จากการติดตามรายเป้าหมาย (goals) มาสู่การทบทวนตามธีมเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากที่ยั่งยืน (sustainability transformation) เนื่องจากมีข้อมูลการคาดการณ์จากทั้ง UN DESA และนักวิชาการด้านการพัฒนาให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า หากทุกประเทศยังจัดการกับปัญหาด้วยกระบวนการตามปกติเช่นที่เคยทำมา (business as usual: BAU) โลกจะบรรลุ SDGs ไม่ทันปี 2030 ประกอบกับการมองประเด็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแยกขาดออกจากกันเป็นไซโล การนำเสนอ SDGs ออกเป็น 17 เป้าหมาย แม้จะมีหลักการไม่แบ่งแยกควบคู่มาด้วยก็ไม่ทำให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบายปรับเปลี่ยนวิธีคิดแต่อย่างใด  เพื่อแก้ไขจุดอ่อนนี้มีนักวิชาการนำเสนอวิธีการมองประเด็นแบบ sustainability transformation จำนวน 2  กรอบแนวคิดที่มักถูกอ้างอิง และอยู่ในการถกเถียงสนทนาในแวดวงการพัฒนา ได้แก่

  1. รายงาน Global Sustainable Development Report (GSDR) 2019: The Future is Now: Science for Achieving Sustainable Development ฉบับนี้จัดทำโดย กลุ่มนักวิชาการอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยเลขาธิการสหประชาชาติ (Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General 2019) [อ่านข้อสรุปกรอบแนวคิด GSDR 2019 ได้ที่นี่]
  2. เอกสารของ Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก และคณะ “Six Transformations to achieve the Sustainable Development Goals” ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Sustainability ในปี 2019 [อ่านข้อสรุปกรอบแนวคิดของ Sachs ได้ที่นี่]

ในเชิงประเด็นทั้งสองกรอบแนวคิดต่างสรุปธีมประเด็นที่ต้องเร่งรัดดำเนินการออกเป็น 6 ธีม ตามตารางด้านล่างนี้

การแบ่งธีมตาม GSDR 2019การแบ่งธีมตาม Sachs 2019
ความเป็นอยู่ที่ดีและศักยภาพของมนุษย์ (Human Well-being and Capabilities)การศึกษา เพศสภาพและความเหลื่อมล้ำ (Education, Gender and Inequality)
เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (Sustainable and Just Economies)สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และประชากร (Health, Well-being and Demography)
ระบบอาหารและรูปแบบของโภชนาการ (Food Systems and Nutrition Patterns)การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Energy Decarbonization and Sustainable Industry)
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานในขณะที่ยังเข้าถึงพลังงานได้ถ้วนหน้า (Energy Decarbonization with Universal Access)ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Food, Land, Water and Oceans)
การพัฒนาเมืองและพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท (Urban and Peri-urban Development)เมืองและชุมชนยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities)
ทรัพยากรร่วมทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก (Global Environmental Commons)การปฏิวัติเชิงดิจิทัลสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Digital Revolution for Sustainable Development)

 เมื่อพิจารณาจุดร่วม และจุดต่างของประเด็นที่ทั้งสองกรอบแนวคิดให้เสนอจะพบว่าประเด็นที่เสนอคล้ายคลึงกันหรือซ้อนทับกันนั้นมีอยู่ 3 ประเด็นหลักคือ (1) การลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน (energy decarbonization)  (2) ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน (sustainable food system)  (3) การพัฒนาเมืองและชุมชนยั่งยืน (sustainable urban and community development) แต่จัดกลุ่มประเด็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษา ความเหลื่อมล้ำทั้งในมิติทางสังคม และมิติทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน โดย GSDR 2019 พยายามนำเสนอประเด็นอย่างครอบคลุมเน้นประเด็นเชิงระบบเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขวิกฤตการณ์ระดับโลก ขณะที่ Sachs et at. 2019 มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ SDGs ให้เห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจนขึ้นจึงพยายามเสนอกรอบแนวคิดที่หน่วยงานของรัฐสามารถนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับโครงสร้างของกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีทั้งสองแนวคิดต่างเน้นย้ำ และสนับสนุนให้ทุกประเทศนำกรอบแนวคิดของตนไปปรับใช้โดยคำนึงถึงบริบท และสถานการณ์ความท้าทาย ศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนเป็นสำคัญ


ความจำเป็นในการใช้กรอบแนวคิดโดยคำนึงถึงความท้าทายที่เป็นบริบทของประเทศไทย

หากพิจารณาสถานการณ์ของประเทศไทยตาม SDGs จากรายงาน Sustainable Development Report 2022 จัดทำโดย SDSN จะพบว่าประเทศไทยยังมีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะวิกฤติ (สีแดง) ได้แก่ SDG2 ขจัดความหิวโหย SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG14 ทรัพยากรทางทะเล  SDG15 ระบบนิเวศบนบก และ SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง ส่วนรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ามีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะวิกฤติ (สีแดง) ได้แก่ SDG2 ขจัดความหิวโหย SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ SDG14 ทรัพยากรทางทะเล จะเห็นได้ว่าไม่ว่าใช้กรอบแนวคิดใดมาเป็นฐานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากประเด็นเกี่ยวกับ SDG 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง จะไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งในธีมใดธีมหนึ่ง แต่จะกระจัดกระจายอยู่ในธีมต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เช่น การทุจริตในโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดอยู่ในธีมทรัพยากรร่วมทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก (Global Environmental Commons) ในมุมมองของ GSDR 2019 และจัดอยู่ในธีมระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Food, Land, Water and Oceans) ในมุมมองของ Sachs et at. 2019 ซึ่งต่างจากการจัดกลุ่มแบบ 5Ps ของ SDGs ตามคำแนะนำขององค์การสหประชาชาติที่ประเด็นเกี่ยวกับสังคมสงบสุข ยุติธรรมและการมีสถาบันที่เข้มแข็งจะจัดอยู่ในกลุ่ม Peace แยกต่างหากจากกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ 

การศึกษาจากโครงการพื้นที่ทดลอง หาทางออกที่ยั่งยืนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อการพลิกโฉม สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Sandbox) ให้ข้อสังเกตว่า สาเหตุประการหนึ่งที่ทั้งสองกรอบแนวคิดมิได้กล่าวถึงประเด็นเชิงโครงสร้างและประเด็นที่มีความเป็นการเมืองสูงเอาไว้อย่างชัดเจนนัก เนื่องจากข้อเสนอนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดการทบทวนและปรับปรุงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นอย่างละมุนละม่อมจึงจำเป็นต้องมีท่าทีทางการทูตที่เป็นมิตรกับผู้นำประเทศทุกรูปแบบ

ในทางหนึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการมองประเด็นและนำเสนอด้วยกรอบแนวคิดเช่นนี้ช่วยยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากนั้นไม่สามารถจัดการกับปัญหาหนึ่งแยกขาดจากอีกประเด็นหนึ่งได้ แต่ปัญหาในสังคมนั้นเชื่อมร้อยกันทั้งในมิติของการเสริมแรงกัน และการแลกเปลี่ยน หรือหักล้าง (trade-off) กัน มุมมองเช่นนี้อาจส่งผลดีต่อการบูรณาการข้ามภาคส่วนดังความตั้งใจของผู้พัฒนากรอบแนวคิดทั้งสอง  ทว่าหากพิจารณาในเชิงของการขับเน้นประเด็นเพื่อการสื่อสาร หรือสร้างแรงผลักดันในสังคมโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาที่เกี่ยวด้วยการเมือง กฎหมาย ตลอดจนค่านิยม วัฒนธรรมของสังคมแล้ว การใช้กรอบแนวคิดทั้งสองมาใช้เป็นเลนส์โดยไม่ปรับประยุกต์เพิ่มเติมเลยอาจเป็นข้อจำกัดทำให้การนำเสนอปัญหาเหล่านั้นเลือนลาง และขาดตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน จนท้ายที่สุดก็จะถูกลดทอนความสำคัญลงไปเพราะมีประเด็นอื่นที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องโดยตรงตามกรอบแนวคิดมากกว่า

สถานการณ์ความท้าทายของประเทศไทยก็มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นว่านั้น ข้อมูลจากรายงานและการจัดอันดับขององค์กรระดับนานาชาติเกี่ยวกับความโปร่งใส ธรรมภิบาล ความยุติธรรมจะพบว่าประเทศไทยมีสถานการณ์ที่น่าห่วงกังวล อาทิ ดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of law index) ได้คะแนน 0.5  จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน รั้งอันดับที่ 80 จาก 140 ประเทศ และยังได้คะแนนรายมิติต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก 7 จาก 8 ด้าน ในจำนวนนี้มี 2 ด้านที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ปรากฏตั้งแต่ปลายปี 2565 และยิ่งเด่นชัดขึ้นในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ คือ ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมอาญา และสิทธิขั้นพื้นฐาน   ส่วนด้านความโปร่งใส ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ แม้จะมีอันดับและคะแนนที่ดีขึ้น แต่ก็ดีขึ้นเพียง 1 คะแนนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สอดคล้องกับสถานะ SDG Index 2022 ที่ปรากฏอยู่ในว่าสถานะของตัวชี้วัดดังกล่าวอยู่ในสถานะวิกฤติ (สีแดง)  และสถานการณ์ที่ปรากฏตามหน้าข่าวสาธารณะ จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ของประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch

ในรอบเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2566 ยังพบว่า มีประเด็นข่าวสารที่เกี่ยวข้อง หรือส่งผลกระทบต่อ SDG16 มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 28.6 ดังจะกล่าวในส่วนถัดไป ทั้งนี้ ข่าวสารที่ปรากฏก็มิได้มีแต่เพียงประเด็นทางการเมือง การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงประเด็นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการ กิจการอื่นใดอันจะกระทบต่อชีวิต ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย

จากรายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นเครื่องยืนยันว่าในการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากที่ยั่งยืนประเทศไทยจำต้องมีกรอบการมองที่สามารถขับเน้นประเด็นเกี่ยวกับ “สันติภาพ ความยุติธรรม และธรรมาภิบาล” ในลักษณะที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นการพัฒนาอื่น ๆ


Highlight issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในรอบเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2566 ยังพบว่าประเด็นมีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้


ระดับนานาชาติ


1.   เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 โดยเรียกร้องให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการยุติสงครามและการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ ต้องพยายามดำเนินการมากขึ้นเพื่อสร้างสันติภาพโดยเฉพาะยูเครน อัฟกานิสถาน เมียนมา เฮติ ปาเลสไตน์ อิสราเอล และส่วนอื่น ๆ ของโลก รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก “ยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติที่ไร้ความปรานี ไม่หยุดยั้ง และไร้สติ” เน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ (climate justice)

2.   วิกฤตค่าครองชีพ กลายเป็นความเสี่ยงที่ระยะสั้นที่รุนแรงที่สุด World Economic Forum เผยแพร่ รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยในปีนี้พบว่าผู้คนยกให้ “วิกฤตค่าครองชีพ” ติดอันดับ 1 ของความเสี่ยงโลกมีโอกาสรุนแรงที่สุดในอีก 2 ปีข้างหน้า ทว่าสัญญาณความรุนแรงของสถานการณ์นี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วดังเห็นได้จากกรณีการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างของแรงงานในสหราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในรอบ 40 ปี แรงงานกว่าห้าแสนคนประกาศนัดหยุดงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงานรัฐจึงส่งผลต่อการให้บริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรเป็นอันมาก

3.   ILO เผยแพร่รายงาน World Employment and Social Outlook: Trends 2023 หรือ WESO Trends วิเคราะห์ตลาดแรงงานและแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกว่า ใน ปี 2566 การจ้างงานทั่วโลกจะเติบโตเพียง 1.0 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านคน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะบีบบังคับให้คนจำนวนมากยอมรับงานที่มีคุณภาพต่ำ ค่าจ้างต่ำ และขาดความคุ้มครองทางสังคม

4. “เชื้อดื้อยา” กำลังกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเสียชีวิตเทียบเท่ามะเร็ง UNEP เผยข้อค้นพบจากการรายงานการศึกษาว่า ผู้คนมากกว่า 10 ล้านคน อาจเสียชีวิตได้ภายในปี 2593 เนื่องจาก “การดื้อยาต้านจุลชีพ” (antimicrobial resistance : AMR) เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาย่อมส่งผลต่อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ข้อมูลจาก WHO ที่ผ่านมาปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของปัญหาภัยคุกคามด้านสุขภาพของทั่วโลก ซึ่งในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 1.27 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาโดยตรงเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2593 ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลกในปี 2566

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ


ประเทศไทย


  1. การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐถี่ขึ้นและมีความเสียหายในวงกว้างมากขึ้น – ข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องปรากฏบนหน้าข่าวถี่ขึ้น และมีขอบเขตความเสียหายทั้งในลักษณะของวงเงินและผู้เสียหายมากขึ้น ในรอบสองเดือนที่ผ่านพบข่าวเกี่ยวคดีทุจริตเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบ่อยที่สุด ตามด้วย อาชญากรรมฟอกเงิน การติดสินบนเพื่อทำธุรกิจสีเทา ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นข้อบ่งชี้นี้ที่สอดคล้องกับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยที่ได้คะแนน 36 คะแนนอยู่ในอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ แม้จะมีอันดับและคะแนนดีขึ้นจากปี 2564 แต่ก็มีคะแนนดีขึ้นเพียง 1 คะแนนเท่านั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG16
  2. รายงานวิจัยจากแอมเนสตี้ เผย ประเทศไทยขาดการคุ้มครองสิทธิชุมนุมแก่เด็ก – แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยระบุว่า ในช่วงปี 2563 – 2565 ประเทศไทยขาดการคุ้มครองเด็กทั้งที่เป็นรัฐภาคีตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)  โดยที่ผ่านมาการดำเนินคดี ติดตามคุกคาม กดดันโรงเรียนและผู้ปกครองจนเกิดความรุนแรงทั้งในครอบครัวและที่โรงเรียน เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG16

  3. ค่าฝุ่น PM 2.5 หลายจังหวัดสูงติดอันดับโลก และเกิดความเหลื่อมล้ำในการให้ความสำคัญและจัดสรรทรัพยากรเพื่อการแก้ปัญหาแต่ละท้องที่ –  สถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ในหลายจังหวัดเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เว็บไซต์สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ข้อมูล เตือนให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และในขณะนั้นพบข้อมูลคนป่วยแล้วกว่า 2 แสนราย หลังจากการประกาศเฝ้าระวังในครั้งนั้นสถานการณ์ค่าฝุ่นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเชียงใหม่ และจังหวัดในภาคเหนือของประเทศมีค่าฝุ่นอยู่ในสถานะเกินค่ามาตรฐานสูงติดลำดับต้น ๆ ของโลก ทว่านโยบายและมาตรการสำหรับแก้ปัญหาในแต่ละท้องที่กลับมีความแตกต่างกันทั้งมาตรการการจัดการ การมีสถานีตรวจวัดอากาศระดับทางการที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำในการแก้ปีญหาดังกล่าวมากขึ้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG 3 และ SDG 11
  4. รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเผย นโยบายรณรงค์ไม่แจกถุงพลาสติกเริ่มใช้ไม่ได้ผลหลังพบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเริ่มกลับมาแจกถุงพลาสติกให้ผู้บริโภคอีกครั้ง – วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า โครงการ “Everyday Say No to Plastic Bags” ที่มีลักษณะเป็นการรณรงค์ของความร่วมมือให้ผู้ประกอบการงดแจกถึงพลาสติกเริ่มไม่ได้ผล โดยพบว่ามีแนวโน้มที่แย่ลงในการจัดการขยะพลาสติก เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเริ่มกลับมาแจกถุงพลาสติกให้ผู้บริโภคอีกครั้ง เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG11 และ SDG12
  5. ข้อพิพาทเกี่ยวกับการรุกล้ำที่ดิน การใช้ประโยชน์จากที่ดิน และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการที่ส่งผลกระทบต่อป่าไม้ และระบบนิเวศบนบก – รอบสองเดือนที่ผ่านมาพบข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการรุกล้ำที่ดินในเขตอุทายานแห่งชาติโดยเฉพาะกรณีอุทยานแห่งชาติหลีเป๊ะ การคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) ของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการจัดทำรายงาน EIA ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการมีคำสั่งระงับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของศาลปกครองเนื่องจากมีการร้องขอให้มีคำสั่งเพิ่งถอนโครงการ จากการไม่ดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายเรื่องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการจัดการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผิดกฎหมายผังเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
แผนภูมิแสดงจำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศไทย ระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2566

ประเด็นข่าวที่คัดสรรมาข้างต้นสะท้อนความถี่ของประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ซึ่งปรากฏในหน้าข่าวสาธารณะตลอดเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยจากสถิติพบว่าข่าวเกี่ยวกับ SDG16 สังคมที่สงบสุข ความยุติธรรมและธรรมาภิบาลเป็นประเด็นที่พบมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 28.6 ตามด้วย SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี คิดเป็นร้อยละ 18.2 อันดับที่สาม SDG15 ระบบนิเวศบนบกคิดเป็นร้อยละ 10.4 โดยมีข้อสังเกตว่าประเด็นข่าวที่เกี่ยวกับ SDG 15 ในรอบเดือนนี้นั้นมักเกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดิน การมีส่วนร่วมการกระบวนการตัดสินใจในโครงการที่ส่งผลต่อระบบนิเวศบนบก การทุจริตในภาคส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงทำให้มีประเด็นร่วมกับ SDG16 ด้วย ส่วน SDG3 ซึ่งมักปรากฏข่าวสารที่เกี่ยวกับความท้าทายด้านสุขภาพที่ปรากฏโดยลำพังมากอยู่แล้ว แต่ในรอบเดือนที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่นั้นเกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะคุณภาพอากาศประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับ SDG3 ในรอบเดือนนี้จึงมีประเด็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ SDG11 ไปด้วย

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566

Our Activities

Upcoming event

 “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหน ในสายตาคุณ”

– ชุดเนื้อหาที่จะคัดเลือกประเด็นความยั่งยืนที่เป็นความท้าทายของประเทศไทยมาทบทวน ถกถามถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา และเรื่องสำคัญที่ต้องทำเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ให้ทันปี 2030 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ไปจนถึงเดือนกันยายน 2566 นี้


พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – เจ้าหน้าที่สื่อสาร
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เจ้าหน้าที่สื่อสาร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

Exit mobile version