‘เกมและการเล่น’ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยในอดีตเกมต่าง ๆ จะเล่นเพื่อเน้นเสริมสร้างความสนุกเป็นหลัก แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบันมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการริเริ่มคิดเล่น ‘เกมซีเรียส’ (serious game) หรือ “เกมที่มีกระบวนการจำลองโลกเสมือนจริง (simulation) ซึ่งออกแบบมาเพื่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทว่าก็ยังคงความเป็นเกมที่ให้ความบันเทิงไปด้วย” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายหลายด้านต่าง ๆ ทั้งเป็นสื่อการเรียนการสอน การออกแบบและวางผังเมือง และเครื่องมือเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
‘Kin Dee You Dee’ เป็นหนึ่งในเกมซีเรียส ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของชุมชนเกี่ยวกับการตั้งรับปรับตัวต่อความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย โดยชุดเกมนี้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ชื่อว่า “Planning for Eco-Cities and Climate-Resilient Environments: Building Capacity for Inclusive Planning in the Bangkok Metropolitan Region (PEACE-BMR)” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่มุ่งสำรวจแนวทางและกลไกการปรับตัวของครัวเรือนและชุมชนต่อวิกฤติจากสภาพภูมิอากาศ ต่อมาได้มีการทดสอบการใช้ชุดเกมเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นในปี 2561 ก่อนที่การออกแบบและพัฒนาชุดเกมจะเสร็จสิ้นเมื่อเดือนมกราคม 2562
เพื่อศึกษาและทดลองใช้เกม ‘Kin Dee You Dee’ ให้สามารถปรับพัฒนาไปสู่การสร้างประสิทธิภาพและครอบคลุมความต้องการของชุมชนมากขึ้น รศ .ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ผศ .ดร.บุญอนันต์ นทกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Diane Archer สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (Stockholm Environment Institute) จึงได้ดำเนินงานวิจัย “Examining the Use of Serious Games for Enhancing Community Resilience to Climate Risks in Thailand” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองและสำรวจประสิทธิภาพของเกม ‘Kin Dee You Dee’ ว่าสามารถหนุนเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้แก่ชุมชนในการตั้งรับปรับตัวต่อความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภัยพิบัติอื่น ๆ ได้หรือไม่ อย่างไร
ด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนให้สามารถตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เเละเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การดำเนินการงานวิจัยของ รศ .ดร.วิจิตรบุษบา และคณะ มีรายละเอียดสำคัญ ได้แก่
- ชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ สำหรับทดลองใช้ประกอบด้วยเกมทั้งสิ้น 3 เกม โดยออกแบบให้ผู้เล่นได้เรียนรู้แนวคิดต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบเป็นขั้นเป็นตอน ก่อนที่จะกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในชุมชนของตนเอง โดยเกมจะจำลองสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแบบเสมือนจริง ขยับไปสู่การให้ผู้เล่นเผชิญสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ต้องรับมือร่วมกัน และปิดท้ายด้วยให้ผู้เล่นคิดกลยุทธ์แก้ปัญหาซึ่งสามารถออกแบบได้หลากหลาย
- ชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ ต้องดำเนินการโดยกระบวนกรที่ผ่านการฝึกอบรม โดยใช้เวลาการเล่นอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ผ่านกระบวนการถามตอบเป็นสำคัญ
- เป้าหมายสำคัญของการทดลองใช้ชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ คือเพื่อให้ผู้ที่ร่วมเล่นได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดในการนำทุนที่มีค่าของปัจเจกและชุมชนมาปรับใช้สำหรับการจัดการและฟื้นคืนจากความเสี่ยง
- พื้นที่ทดลองการใช้ชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล และอุดรธานี
- หลังการเล่นเกม มีผู้วิจัยใช้วิธีสุ่มสัมภาษณ์ผู้เล่นถึงประสิทธิภาพ ข้อกังวล และข้อแนะนำที่มีต่อชุดเกม
งานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบโดยสรุปที่น่าสนใจ ได้แก่
- ชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นผู้เล่นให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ โดยจากการสุ่มสัมภาษณ์ผู้เล่นบางราย ผู้เล่นสะท้อนว่าเกมดังกล่าวช่วยชวนให้เห็นถึงบางปัญหาที่คาดไม่ถึง และเกิดแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะนำทุนที่มีค่าของปัจเจกและชุมชนมาใช้ตั้งรับปรับตัวต่อวิกฤติในอนาคต
- ชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐเข้าใจความต้องการของชุมชนได้ดีขึ้น โดยผู้เล่นเกมบางรายสะท้อนว่าหากทุกชุมชนใช้ชุดเครื่องมือนี้จะสามารถรวมตัวกันเพื่อถกสนทนา ระบุถึงปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขในเชิงปฏิบัติได้ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดรับกับความต้องการของแต่ละชุมชน
- ข้อกังวลของการใช้ชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ คือ วิธีการเล่นค่อนข้างซับซ้อนและยังเข้าใจได้ยาก ใช้เวลานานเกินไป โดยผู้เล่นเกมบางรายสะท้อนว่าควรปรับกฎการเล่นเพื่อกระตุ้นผู้เล่นให้มีส่วนร่วมในการพูดคุยมากขึ้น อีกทั้งยังพบว่าในระยะเริ่มแรกของการเล่นผู้เล่นจำนวนมากไม่สะดวกใจที่จะแสดงความคิดเห็น แต่มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้เล่นรายอื่นในกลุ่มพูดแทนที่จะเสนอความเห็นของตน
- ชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ ต้องอาศัยกระบวนกรหรือผู้นำเล่นที่มีประสบการณ์และความสามารถในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้ร่วมเล่น
รศ .ดร.วิจิตรบุษบา และคณะ ยังได้เสนอแนะว่าชุดเกม ‘Kin Dee You Dee’ ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและปรับขนาดจำนวนผู้เล่นได้ จึงเหมาะที่หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมจะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและทำงานร่วมกับชุมชนตามแต่ละบริบทของประเด็นความเสี่ยงและปรับใช้ให้เข้ากับประชากรและพื้นที่ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้มีแนวคิดที่จะแปลชุดเกมดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ของประเทศอื่น ๆ ที่สนใจด้วย
กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “Examining the Use of Serious Games for Enhancing Community Resilience to Climate Risks in Thailand” ได้สะท้อนว่าการใช้ชุดเกมเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ รับรู้ และมีส่วนร่วม นั้นเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการช่วยหนุนเสริมความเข้มแข็ง ตระหนักรู้ และเอาจริงเอาจังต่อการตั้งรับปรับตัวจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น อย่างไรก็ดีมีบางส่วนของชุดเกมที่จำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ร่วมเล่นทั้งในแง่ความสนุกและสาระที่จะได้รับ
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภิมอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
ข้อมูลงานวิจัย: Marome, W.; Natakun, B.; Archer, D. Examining the Use of Serious Games for Enhancing Community Resilience to Climate Risks in Thailand. Sustainability 2021, 13, 4420. https://doi.org/10.3390/ su13084420
ชื่อผู้วิจัย -สังกัด: รศ .ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ผศ .ดร.บุญอนันต์ นทกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Diane Archer สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม
Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)
Last Updated on เมษายน 11, 2023