แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน ประชากรกว่า 1.74 ล้านคนในภูมิภาคนี้ไม่สามารถเข้าถึงสุขาภิบาลที่ดีได้ โดยในจำนวนนี้ประมาณ 792 ล้านคนยังคงทนทุกข์กับการขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง สถานการณ์สุขาภิบาล (sanitation situation) ที่ไม่ดีส่งผลกระทบที่นำไปสู่ความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย และสูญเสียโอกาสในการนำสิ่งปฏิกูลกลับมาใช้ใหม่เพื่อผลิตพลังงานหรือปุ๋ย การสุขาภิบาลที่ไม่ดียังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยประเมินการสูญเสียรายได้จากผลผลิตที่ลดลงกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างอิงจากปี 2548) ในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งคิดเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product: GDP)
แม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะริเริ่มดำเนินการหลายอย่างเพื่อปรับปรุงสถานการณ์สุขาภิบาล แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ การขาดตัวเลือกเทคโนโลยีและเทคโนโลยีที่มีอยู่มีประสิทธิภาพต่ำ ส่งผลต่อการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภูมิภาค ระบบบำบัดน้ำเสียจากห้องสุขาที่ใช้กันทั่วไป คือ ระบบสุขาภิบาล ณ แหล่งกำเนิด (on-site sanitation system: OSS) เช่น บ่อเกรอะ (septic tank) บ่อซึม (cesspool) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วได้รับการออกแบบ สร้าง และบำรุงรักษาที่ไม่ดีพอ นำไปสู่การรั่วไหลของของเสียหรือการใช้งานที่มากเกินไป
ด้วยเหตุนี้ ความต้องการนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขาภิบาลต้นทุนต่ำและการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสุขาภิบาล แนวทางใหม่ในการออกแบบและจัดการระบบ OSS ที่มีศักยภาพจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนอย่างมาก ตัวอย่างเช่น พลังงานหรือก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จากการย่อยกากตะกอนในอุจจาระ การผลิตปุ๋ยจากมูลของแข็ง และน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ในการชลประทาน จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเรื่อง “Sanitation situations in selected Southeast Asian countries and application of innovative technologies” โดย ศ. ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะผู้วิจัยจากสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ เพื่อทบทวนสถานการณ์สุขาภิบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม และไทย เพื่อฉายภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจและสุขภาพที่เกี่ยวข้องซึ่งเกิดจากการสุขาภิบาลที่ไม่เหมาะสม รวมถึงเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีการสุขาภิบาลที่ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และการประยุกต์ใช้ระบบ OSS ในประเทศเหล่านี้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
สุขาภิบาล (sanitation) หมายถึง สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการในการกำจัดอุจจาระและปัสสาวะของมนุษย์อย่างปลอดภัย การสุขาภิบาลที่ดีบ่งชี้ถึงการแยกสิ่งปฏิกูลออกจากการสัมผัสของมนุษย์อย่างถูกสุขลักษณะ การสุขาภิบาลที่พัฒนามีลักษณะแตกต่างกันไปตามระบบเก็บรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย ตัวอย่างเช่น ระบบสุขาที่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำส่วนกลาง (public sewer) หรือระบบสุขาภิบาล ณ แหล่งกำเนิด (OSS) ได้แก่ บ่อเกรอะ (septic tank) บ่อซึม (cesspool) ส้วมหลุม (pit latrine) และส้วมปุ๋ยหมัก (composting toilet)
การทบทวนสถานการณ์สุขาภิบาลของประเทศที่ศึกษา
ประเทศเมียนมา (ชื่อเดิม : พม่า) มีพื้นที่ 676,577 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 60 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) ประมาณ 34.1% ของประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% ในช่วงปี 2553-2558 ความครอบคลุมของสุขาในประเทศอยู่ที่ 96% (รวมถึงสุขาที่ใช้ร่วมกันและไม่ยังได้รับการปรับปรุง) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือเขตธุรกิจใจกลางเมืองย่างกุ้ง เมียนมายังขาดระบบท่อน้ำทิ้งส่วนกลาง มีการใช้ระบบ OSS เช่น บ่อเกรอะ ในบ้านเรือนประมาณ 14% ขณะที่ส้วมหลุมแบบแผ่นถูกใช้ในครัวเรือนมากกว่า 60%
การเก็บและบำบัดกากตะกอนอุจจาระ (fecal sludge: FS) ของประเทศเมียนมาไม่เป็นระบบ และระบบ OSS ไม่ค่อยได้ถูกนำไปใช้ กากตะกอนอุจจาระที่ถูกเก็บรวบรวมจากเขตเมืองมักจะถูกนำไปทิ้งในพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่เปิดโล่ง มีรายงานจำนวนมากถึงอุบัติการณ์ของโรคที่เกี่ยวข้องกับอุจจาระร่วง (diarrhea-related disease) ได้แก่ อหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ และไวรัสตับอักเสบ จากข้อมูลสุขภาพปี 2546 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 45,095 ราย ไวรัสตับอักเสบ 4,255 ราย อหิวาตกโรค 84 ราย และไข้ไทฟอยด์ 3,162 ราย รวมถึงมีรายงานอัตราการเสียชีวิตของทารก 46 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ในช่วงปี 2553-2558 ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศอยู่ที่ 66,478 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557 โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 2.3% ของ GDP
ประเทศไทย มีพื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 68 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) เกือบครึ่งหนึ่งของประชากร (50.4%) อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเพิ่มขึ้นปีละ 3% ในช่วงปี 2553-2558 ทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้ชักโครกแบบกดหรือส้วมราดน้ำที่ต่อกับบ่อเกรอะ
แม้ประเทศไทยจะมีความครอบคลุมของสุขา 100% ทว่ากลับพบอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงระบบ OSS ที่มีประสิทธิภาพต่ำและขาดการจัดการกากตะกอนอุจจาระที่เหมาะสม มีรายงานว่า 20% ของกากตะกอนอุจจาระที่เก็บได้นั้นได้รับการบำบัดในโรงบำบัด แต่ส่วนที่เหลือ (80%) ถูกกำจัดโดยไม่ได้รับการบำบัดที่เหมาะสม สำหรับ GDP ของประเทศไทยในปี 2557 อยู่ที่ 404,828 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 6.5% ของ GDP ทั้งหมดถูกใช้ไปกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากโรคติดต่อทางน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง ไทฟอยด์ และโรคบิด มีมูลค่าประมาณ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2542
ประเทศเวียดนาม มีพื้นที่ 332,698 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 90.5 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท โดยประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีเพียง 33.6% เพิ่มขึ้นปีละ 3% ในช่วงปี 2553-2558 มีความครอบคลุมของสุขาถึง 99% (รวมถึงสุขาที่ใช้ร่วมกัน) ส่วนใหญ่ใช้ชักโครกแบบกด/ส้วมราดน้ำที่เชื่อมต่อกับบ่อเกรอะ ซึ่งคล้ายกับประเทศไทย มีการกำจัดตะกอนจากหลุมและบ่อเกรอะในบ้านเรือนที่ไม่ดีพอ กากตะกอนอุจจาระมีเพียง 4% เท่านั้นที่ถูกบำบัด ส่วนที่เหลือถูกกำจัดโดยไม่ผ่านการบำบัดและถูกทิ้งในที่ดินและแหล่งน้ำใกล้เคียง
มีรายงานผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงประมาณ 7 ล้านคนต่อปีในเวียดนาม สาเหตุหลักของการเสียชีวิตประมาณ 4,600 ราย มาจากการสุขาภิบาลและสุขอนามัยที่ไม่ดี ความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมต่อปีจากการสุขาภิบาลที่ไม่ดีอยู่ที่ 780 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ค่าน้ำ (37%) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (34%) และค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม (15%) สำหรับ GDP ของเวียดนามอยู่ที่ 186,205 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557 โดยประมาณ 0.5% ของ GDP เป็นความสูญเสียทางการเงินเนื่องจากการสุขาภิบาลที่ไม่ดี
ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความครอบคลุมด้านสุขาภิบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสามประเทศ แต่โรคติดต่อทางน้ำ (เช่น ในประเทศไทย) ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน แม้ว่าบ่อเกรอะจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อเก็บรวบรวมและบำบัดน้ำเสียจากสุขาในบ้านเรือน แต่บ่อเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีทางระบายน้ำหรือบริเวณชะล้าง ทำให้มีการปล่อยของเสียที่อุดมไปด้วยเชื้อโรคและสารอินทรีย์ลงสู่แหล่งน้ำใกล้เคียง เนื่องจากประสิทธิภาพในการบำบัดที่จำกัด จึงมีการสะสมของกากตะกอนอุจจาระที่ไม่ได้รับการกำจัดหรือบำบัดอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
นวัตกรรมเทคโนโลยีการสุขาภิบาลเพื่อสุขอนามัยและการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม
จากการทบทวนสถานการณ์สุขาภิบาล แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มความครอบคลุมด้านสุขาภิบาลไม่อาจปรับปรุงสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น เทคโนโลยีการสุขาภิบาลที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ได้แก่ บ่อเกรอะพลังแสงอาทิตย์ ส้วมไซโคลนคิวบ์ และส่วนการบำบัดขั้นหลังของน้ำทิ้งในบ่อเกรอะ ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ดูเหมือนจะเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการปกป้องมลพิษสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงระบบสาธารณสุขของภูมิภาคนี้
บ่อเกรอะพลังแสงอาทิตย์ (solar septic tanks)
บ่อเกรอะพลังแสงอาทิตย์เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ช่วยลดปริมาณการสะสมของกากตะกอนในบ่อเกรอะ โดยใช้กระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic digestion) ที่อุณหภูมิประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส (ภาพที่ 1) อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเพิ่มกิจกรรมการผลิตก๊าซมีเทนของจุลินทรีย์ซึ่งเกิดขึ้นในชั้นกากตะกอนของบ่อเกรอะ ทำให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์มากขึ้น ปริมาณของแข็งที่ระเหยง่ายทั้งหมด (total volatile solids: TVS) หรือกากตะกอนมีการสะสมน้อยลง และมีการผลิตก๊าซมีเทน (CH4) มากขึ้นกว่าในบ่อเกรอะแบบเดิมที่ทำงานที่อุณหภูมิแวดล้อม นอกจากนี้ ยังพบความเข้มข้นสูงและความหลากหลายของสายพันธุ์เมทาโนแบคทีเรียม (Methanobacterium species) ในบ่อเกรอะ ส่งผลให้มีการผลิตก๊าซมีเทนสูงขึ้นและลดการสะสมของตะกอน ซึ่งลดความถี่ของการขจัดตะกอนและการบำบัดกากตะกอนอุจจาระ ก๊าซชีวภาพ (biogas) ที่เพิ่มขึ้นสามารถใช้สำหรับให้แสงสว่างและให้ความร้อน ในขณะที่น้ำทิ้งที่มีความเข้มข้นของเชื้ออีโคไล (E. coli) ต่ำจะช่วยลดภัยคุกคามต่อสาธารณสุข
ส้วมไซโคลนคิวบ์ (Zyclone cube toilet)
ส้วมไซโคลนคิวบ์ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อการบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิดจากโถส้วมอย่างสมบูรณ์ ลดการทิ้งกากตะกอนอุจจาระ การขนส่ง และการบำบัดขั้นหลัง (post-treatment) ส้วมจะแยกน้ำเสียจากโถส้วมออกเป็นอุจจาระสด (ของแข็ง) และน้ำ (ของเหลว) ทันที และฆ่าเชื้อของแข็งและของเหลวที่แยกออกจากกันด้วยวิธีการให้ความร้อนและวิธีเคมีไฟฟ้าตามลำดับ (ภาพที่ 2) โดยมีประสิทธิภาพในการแยกของแข็งและของเหลวประมาณ 90% ของแข็งที่แยกออกมาจะได้รับการบำบัดเพิ่มขึ้นโดยการให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที ก่อนนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดิน (soil conditioner) หรือกำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย สำหรับส่วนการบำบัดด้วยไฟฟ้าเคมี (electrochemical unit) สามารถลดเชื้ออีโคไล (E. coli) ในน้ำเสียให้ต่ำกว่า 103 CFU/100 mL ซึ่งเหมาะสำหรับการนำมาใช้ซ้ำในภาคการเกษตร
ส่วนการบำบัดขั้นหลังของน้ำทิ้งในบ่อเกรอะ
ส่วนการบำบัดขั้นหลัง (post-treatment unit) ประกอบด้วยถ่านกัมมันต์แบบเม็ดเคลือบด้วยนาโนซิลเวอร์ (NS-GAC) ได้รับการพัฒนาเพื่อยับยั้งจุลินทรีย์ในอุจจาระที่อยู่ในน้ำทิ้งจากบ่อเกรอะ (ภาพที่ 3) ข้อมูลจากการทดลองพบว่า ส่วนการบำบัดด้วย NS-GAC สามารถยับยั้งเชื้ออีโคไลได้ต่ำกว่า 103 CFU/100 mL ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้ซ้ำทางการเกษตร นอกจากนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิภาพแนะนำว่าควรติดตั้งบ่อเกรอะสำหรับบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน 1 แห่ง โดยใช้ส่วนบำบัด NS-GAC ขนาด 35 ลิตร จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 1 ปีก่อนเปลี่ยนใหม่
กล่าวโดยสรุป ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวหน้าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงหลายในด้านการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสุขามีความครอบคลุมมากกว่า 95% แต่มลพิษทางน้ำและโรคติดเชื้อจากสิ่งปฏิกูลยังคงมีอยู่ เนื่องจากการออกแบบที่ไม่เหมาะสมและการบำรุงรักษาระบบ OSS ที่ไม่ดีพอ จึงมีการรั่วไหลของน้ำทิ้งที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำใกล้เคียง นอกจากนี้กากตะกอนอุจจาระก็ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม การศึกษาวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมระบบ OSS ได้แก่ บ่อเกรอะพลังแสงอาทิตย์ ส้วมไซโคลนคิวบ์ และส่วนบำบัดน้ำทิ้งจากบ่อเกรอะ การทำงานของบ่อเกรอะพลังแสงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสามารถยับยั้งเชื้ออีโคไลในน้ำทิ้งได้ เพิ่มความสามารถในการย่อยสลายของจุลินทรีย์ด้วยการเพิ่มการย่อยสลายอินทรียวัตถุ เพิ่มการผลิตก๊าซมีเทน และลดการสะสมกากตะกอนอุจจาระลง 50% สำหรับส้วมไซโคลนคิวบ์จะแยกน้ำเสียจากโถส้วมออกเป็นส่วนของแข็งและของเหลว แล้วบำบัดด้วยความร้อนและการฆ่าเชื้อด้วยไฟฟ้าเคมี ส่วนการบำบัดขั้นหลังประกอบด้วยถ่านกัมมันต์แบบเม็ดเคลือบด้วยนาโนซิลเวอร์ทำให้สามารถลดเชื้ออีโคไลในน้ำทิ้งจากบ่อเกรอะได้ เทคโนโลยีเหล่านี้มีศักยภาพสูงที่จะนำไปใช้กับระบบ OSS ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพื่อการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนต่อไป
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมากภายในปี 2573
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.2) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ใต้สถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
– (6.3) ยกระดับคุณภาพน้ำโดยลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีและวัสดุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่งและเพิ่มการน้ำกลับมาใช้ใหม่ทั่วโลก ภายในปี 2573
– (6.a) ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ในกิจกรรมและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสุขอนามัย ซึ่งรวมถึงด้านการเก็บน้ำ การขจัดเกลือ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเสีย เทคโนโลยีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรโดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2573
รายการอ้างอิง
Koottatep, T., Chapagain, S. K., Polprasert, C., Panuvatvanich, A., & Ahn, K. H. (2018). Sanitation situations in selected Southeast Asian countries and application of innovative technologies. Environment, development and sustainability, 20, 495-506.
ชื่อผู้วิจัย – สังกัด
ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ1, Saroj Kumar Chapagain1, จงรักษ์ ผลประเสริฐ2, อาทิตยา ภานุวัฒน์วนิชย์1 และ Kyu-Hong Ahn3
1 สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3 Center for Water Resource Cycle, Korea Institute of Science and Technology (KIST)
Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)