TU SDG Seminars | มุมมองงานวิจัยในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนา ครั้งที่ 3 หัวข้อ “การวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน”  โดย ศ. ดร.ตรีทศ เหล่าศิริหงษ์ทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดและนำเสนองานวิจัยของนักวิจัยแนวหน้า โดยแบ่งประเด็นการแลกเปลี่ยนออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ฉายภาพรวมกระบวนการในห้องย่อย พร้อมส่องประเด็นจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ และ 2) ทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ‘การจัดการห่วงโซอุปทาน’ ของนักวิจัยแนวหน้า ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกระบวนการวิจัยเชิงนโยบาย และข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนในภาคการผลิตและการบริโภค จากการสัมมนาได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นหลัก 2 ส่วน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และ เป้าหมายที่ 12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน


01 – ฉายภาพรวมกระบวนการในห้องย่อย พร้อมส่องประเด็นจากกิจกรรมการประชุมปฏิบัติการ

ภาพรวมงานวิจัยที่นักวิจัยแนวหน้าได้นำเสนอและประเด็นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในห้องย่อย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

ศ. ดร.ตรีทศ ให้ข้อเสนอแนะถึงโครงการวิจัยที่สำคัญในปัจจุบัน โดยเป็นงานวิจัยที่เน้นความสัมพันธ์ในห่วงโซ่อุปทานสู่ “การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Supply Chain ซึ่งให้คำแนะนำว่าโครงการวิจัยดังกล่าวที่กำลังริเริ่มร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศจากภูมิภาคเอเชีย เป็นงานวิจัยที่ทำการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ การบรรยายและนำเสนองานวิจัยข้างต้นแล้ว ยังได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำวิจัยร่วมกับวิทยากรประจำกลุ่มในประเด็นด้านอุปสรรคและความท้าทายของการทำวิจัยในปัจจุบัน ซึ่ง ศ. ดร.ตรีทศ เน้นย้ำถึงความสำคัญของทุนวิจัยและการสร้างความร่วมมือกับนักวิจัยต่างประเทศที่เป็นผู้ชำนาญการในสาขาที่น่าสนใจ และบอกเล่ามุมมองต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ให้ข้อเสนอแนะในการบูรณาการความรู้ด้านการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งตอบข้อซักถามและแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ในการผลิตและระบบการจัดการการส่งสินค้ากับผู้ร่วมสัมมนา 


02 – ทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับ ‘การจัดการห่วงโซอุปทาน’ ของนักวิจัยแนวหน้า

ศ. ดร.ตรีทศ อธิบายถึงประเด็นความยั่งยืนในด้านการจัดการห่วงโซอุปทาน (supply chain management) ที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมตลอดในทุก ๆ ขั้นตอนวงจรของซัพพลายเชน (supply chain life cycle) ตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาสินค้า การเลือกวัตถุดิบ การผลิต การแพ็คสินค้า การขนส่ง การจัดการคลังสินค้า และการกระจายสินค้า จนรวมถึงการใช้และการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลังสิ้นอายุของการใช้งาน

ศ. ดร.ตรีทศ ระบุว่า การผลิตที่ยั่งยืน ภาคอุตสาหกรรมควรมุ่งเน้น 4 กิจกรรมหลักที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดการใช้พลังงาน การลดการใช้น้ำ การลดการปล่อยของเสีย และการลดการสร้างขยะ ซึ่งการดำเนินการ จะต้องมีการดำเนินการภายใต้กิจกรรมที่ยั่งยืนในทุกขั้นตอนของการผลิต นับตั้งแต่การผลิตภัณฑ์ (product)  กระบวนการ (process)  และระบบ (system) ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการพัฒนาไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน นั่นก็คือ การใส่ใจในกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน (design for disassembly) จะช่วยในส่วนของกระบวนการ ซ่อมแซม (repair) , การทำให้การนำมาใช้ซ้ำ (reuse), วัตถุประสงค์อื่น (repurpose) และ ผลิตใหม่ (remanufacture) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการบำรุงรักษา (design for Maintainability) จะช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย 

นอกจากนี้ หลังจากมีการทบทวนประเด็นสำคัญจากงานวิจัยข้างต้น นักวิจัยและผู้ร่วมสัมมนาได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญถึงการที่ภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขยายวงกว้างและสนับสนุนการวิจัยในเชิงข้ามข้ามศาสตร์ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งควรเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และผลักดันประเทศไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนในอนาคต 

กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาการวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน จากกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ฉายภาพให้เห็นถึงการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้น โดยได้ทำการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิต และประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเผชิญในการค้นพบผลลัพธ์ด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ยังให้ข้อเสนอแนะถึงการผลิตที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่การใส่ใจในกระบวนการทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ครบตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ร่วมสัมมนา ซึ่งหวังว่าหากภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาการวิจัยจะช่วยให้งานวัยเกิดความก้าวหน้าต่อไป

รับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ :  https://youtu.be/Nfr9C1gdlFg 
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ณิญาพรรน์ภักร์ ประทุมรัตน์ – ถอดความ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น