Site icon SDG Move

ประชุม IGC-5.2 ไทยและอีกเกือบ 200 ประเทศ ลงนามใน ‘สนธิสัญญาทะเลหลวง’ ใบเบิกทางคุ้มครองความอุดมสมบูรณ์ในน่านน้ำสากล

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกือบ 200 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ร่วมลงนามข้อตกลงทำสนธิสัญญาทะเลหลวง (High Seas Treaty) เพื่อให้เกิดกลไกการคุ้มครองทางทะเลในเขต “น่านน้ำสากล” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางทะเลที่ไม่อยู่ภายใต้อาณาเขตหรือการปกครองจากรัฐใด ๆ 

การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นในเซสชันสุดท้ายของการประชุม  “Intergovernmental Conference on BBNJ” หรือการประชุมระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 5.2 ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ภายหลังจากที่เคยจัดครั้งที่ 5.1 เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 โดยเซสชันสุดท้ายก่อนจะมีการลงนาม ผู้เข้าร่วมประชุมได้นำเสนอความเห็นและถกสนทนากันกว่า 36 ชั่วโมง

ทั้งนี้ นับว่าต้องใช้เวลายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ ในการเจรจาหารือเพื่อให้นานาประเทศร่วมลงนามและสัญญาดังกล่าวบังคับใช้ โดยย้อนไปตั้งแต่ปี 2547 องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับการปกป้องมหาสมุทร กระทั่งปี 2558 องค์การสหประชาชาติ มีมติในการพัฒนาข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายขึ้น หลังจากนั้นก็ได้มีการเริ่มเจรจาอย่างจริงจังขึ้นในปี 2561 และอีกครั้งในปี 2565 ทว่ากลับประสบความล้มเหลว เนื่องจากหลายประเทศยังกังวลผลกระทบต่อประโยชน์ของประเทศ

การยอมลงนามในโอกาสครั้งสุดท้ายนี้จึงเป็นการยอมละทิ้งการมุ่งแสวงผลประโยชน์ส่วนประเทศมาสู่การร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อทะเลโลกอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น ดังเช่นที่ Laura Meller นักรณรงค์ด้านมหาสมุทรของกรีนพีซ ระบุว่า  “เรายกย่องประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมกันแสวงหาการประนีประนอม ยอมละทิ้งความแตกต่าง และส่งมอบสนธิสัญญาที่เปิดโอกาสให้เราร่วมกันปกป้องดูแลมหาสมุทร รวมถึงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องชีวิตและการดำรงอยู่ของผู้คนหลายพันล้านคน” 

ด้าน ณิชนันท์ ตัณธนาวิทย์ นักรณรงค์ทางทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม เปิดเผยว่า “ตลอด 38 ชั่วโมงภายในสำนักงานใหญ่สหประชาชาติเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การคาดเดา และความกังวลใจของภาคประชาสังคมที่เข้าไปสังเกตการณ์การเจรจา  แต่เราก็ยังเต็มไปด้วยความหวังและความเชื่อมั่นว่า ในท้ายที่สุดของการประชุมครั้งนี้เราได้สนธิสัญญาทะเลหลวง และเราก็ทำได้ในที่สุด”

สนธิสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างการปกป้องและคุ้มครองทะเล ดังนี้

นอกจากนี้ สนธิสัญญาฉบับนี้ยังส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30% ภายในปี 2573 ตามแผน 30×30 (30×30: A Blueprint for Ocean Protection) ที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันเเละฟื้นฟูมหาสมุทรจากผลกระทบให้ได้ร้อยละ 30 ภายในสิบปี คือระหว่างปี 2564 – 2573 และเป็นเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการดูแลฟื้นฟูพื้นที่มหาสมุทร นั่นเท่ากับว่าเราจะไม่สามารถปกป้อง 1 ใน 3 ของมหาสมุทรทั่วโลกได้ 

การลงนามสนธิสัญญาทะเลหลวงครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องและคุ้มครองระบบนิเวศที่คลุมพื้นที่กว่า 60% ของโลก อย่างไรก็ดี การลงนามในสนธิสัญญาอาจยังไม่ได้ไปถึงหลักประกันว่าโลกจะสามารถสร้างเขตคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพได้ เนื่องจากยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือการแก้ไขและแปลเนื้อหาสนธิสัญญาให้เป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ ก่อนจะส่งมอบให้ประเทศสมาชิกเพื่อให้สัตยาบันรับรอง โดยประเทศทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยเองจะต้องให้สัตยาบันกับสนธิสัญญาฉบับนี้เพื่อฟื้นคืนระบบนิเวศทางทะเลให้อุดมสมบูรณ์ดังเดิม

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รัฐบาล-เอกชนทั่วโลก ผนึกกำลังขับเคลื่อน 410 ข้อผูกพัน เพื่อการพัฒนามหาสมุทรที่ยั่งยืน ในการประชุม Our Ocean Conference 2022
– ทศวรรษแห่งสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับ 4 โซลูชันจากโครงการ Flagship ที่ออกสำรวจใต้ท้องทะเลลึก
– SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่
– SDG Recommends | เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นผ่าน Ocean Literacy
– เสียงส่วนใหญ่ใน IUCN World Conservation Congress เห็นชอบห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกชั่วคราว
– จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง
 – 4 ประเทศลาตินอเมริกา ประกาศ “แนวระเบียงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก” มากกว่า 500,000 ตร.กม.

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
– (14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา
– Countries Reach Agreement to Conserve and Sustainably Use High Seas (IISD)
สนธิสัญญาทะเลหลวงผ่านแล้ว! ก้าวประวัติศาสตร์ปกป้องมหาสมุทรโลก (Greenpeace Thailand)
นานาชาติร่วมลงนามสนธิสัญญาทะเลหลวงครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ (The Standard)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version