อิทธิพลใดที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกใช้ ‘Metro-Bus’ ค้นหาคำตอบผ่านการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีรายได้ ในเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน

ปัจจุบัน ประชากรในเขตเมืองนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนต้องพึ่งพายานพาหนะในการเดินทางและสัญจรมากขึ้น และเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้ประชากรบางส่วนเลือกพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่าระบบขนส่งสาธารณะ กลายเป็นการสร้างความแออัดทางการจราจรในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องกลับมาพิจารณาว่าผู้คนมีพฤติกรรมและทัศนคติในการเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะภายในเมืองเช่นไร ด้วยประเด็นข้างต้นนำมาสู่การค้นคว้าของงานวิจัยเรื่อง “Influence of Social Constraints, Mobility Incentives, and Restrictions on Commuters’ Behavioral Intentions and Moral Obligation towards the Metro-Bus Service in Lahore” โดย Muhammad Ashraf Javid Department of Civil Engineering, NFC Institute of Engineering and Fertiliser Research , Nazam Ali University of Management and Technology, Tiziana Campisi Kore University of Enna และ รศ. ดร.กฤษฎา ไชยสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำมาสู่การสำรวจการบริการรถโดยสารประจำทาง ‘เมโทรบัส’ ในเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน 

 “ระบบขนส่งมวลชน” มีอยู่หลากหลายประเภทโดยแต่ละประเภทนั้น อาทิ ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) หรือ ระบบรถเมโทรบัส (Metro-Bus System: MBS) มีรูปแบบแตกต่างจากขนส่งสาธารณะประเภทอื่น ๆ เช่น บริการรถโดยสารธรรมดา รถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit :LRT) และรถราง ทั้งด้านคุณภาพการให้บริการที่แตกต่างกัน ตามข้อกำหนดด้านโครงสร้างพื้นฐานและลักษณะการดำเนินงาน โดยเฉพาะระบบ ‘เมโทรบัส’ ที่มีลักษณะแตกต่างจากรถโดยสารประจำทางทั่วไป เนื่องจากมีสิทธิในการเส้นทางหลักแต่เพียงผู้เดียว ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว มีความสะดวกสบาย และปลอดภัยต่อผู้โดยสาร 

รถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ เมโทรบัส จึงเป็นอีกหนึ่งในระบบขนส่งสาธารณะที่มีศักยภาพในการจูงใจและช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อลดเวลาในการเดินทางและการจราจรติดขัดในเมือง และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จึงได้มีการสำรวจความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้โดยสาร คุณภาพบริการ และความพึงพอใจต่อบริการขนส่งสาธารณะ พร้อมใช้นโยบายการจัดการความต้องการในการเดินทาง (Travel Demand Management: TDM) เพื่อบูรณาการและสนับสนุนระบบการขนส่งที่ยั่งยืนมากขึ้น

ระบบเมโทรบัส (metro-bus systems) เป็นระบบขนส่งสาธารณะมักเป็นที่นิยมในภูมิภาคที่กำลังพัฒนา เนื่องจากใช้ต้นทุนการก่อสร้างต่ำ ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกังวลของประเทศที่ขาดแคลนไฟฟ้า แต่เมื่อเทียบเมโทรบัสกับรถไฟฟ้ารางเบาแล้วนั้น รถไฟฟ้ารางเบากลับเป็นยานพาหนะที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ขณะที่ รถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ เมโทรบัส เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ประหยัดต้นทุนในการตอบสนองความต้องการระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งการจัดการความต้องการรูปแบบการขนส่งอาจจะคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ตัวอย่างเช่น  ‘รถโดยสารด่วนพิเศษ’ หรือ ‘รถไฟฟ้ารางเบา’ ในประเทศกำลังพัฒนานั้น ขึ้นอยู่กับความชอบและความตั้งใจเชิงพฤติกรรม (behavioral Intention) ขนาดเมือง ความคุ้มทุน ความพร้อมของที่ดินหรือสิทธิทาง สิ่งแวดล้อม และการยอมรับทางสังคมและการเมือง และการประเมินความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้ใช้งานเป็นหลัก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ผู้ใช้งานนั้นต้องการ ด้วยประเด็นดังกล่าว จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน

งานวิจัยฉบับนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความตั้งใจเชิงพฤติกรรมและพันธะทางศีลธรรม (moral obligation) ของการใช้รถเมโทรบัสของผู้โดยสาร เช่น เพื่อลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีต่อบริการรถเมโทรบัสในเมืองลาฮอร์ โดยใช้วิธีดำเนินการวิจัย ผ่านการสร้างแบบสอบถามและสำรวจเก็บตัวอย่างทั้งหมด 333 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมแล้ว จะนำมาวิเคราะห์โดยใช้การทดสอบ ANOVA และนำแนวทางแบบจำลองสมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling: SEM) มาใช้ในการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรแฝงต่าง ๆ และวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูง สำหรับความตั้งใจเชิงพฤติกรรมในการใช้เมโทรบัส ในเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน 

จากงานวิจัยดังกล่าว ค้นพบผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ

  • จากการสำรวจผ่านแบบสอบถาม ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ทำงานในองค์กรเอกชนและราชการ ซึ่งอยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 21-30 ปี โดยมากกว่า 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีรถยนต์ มากกว่า 50% มีรถจักรยานยนต์ และประมาณ 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีใบขับขี่ ซึ่งผลการวิจัย พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่สัญจรโดยใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถจักรยานยนต์ในเมืองลาฮอร์ 
  • ผู้โดยสารมีความตั้งใจเชิงพฤติกรรมที่จะใช้บริการรถเมโทรบัส ‘ค่อนข้างต่ำ’ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการเดินทางโดยพาหนะส่วนตัวเมื่อต้องเดินทางออกไปเที่ยวกับสมาชิกในครอบครัว ด้วยความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เพราะบางครั้งผู้คนรู้สึกไม่สะดวกสบายในการโดยสารขนส่งสาธารณะเมื่อเดินทางกับสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ทั้งนี้ ผลการศึกษายังพบว่าประชาชนจะมีความพึงพอใจในการใช้รถเมโทรบัสมากกว่ารถส่วนตัว หากสามารถเข้าถึงบริการที่ดีหรือมีพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม ด้วยราคาที่ประหยัดและเวลาน้อยกว่าการใช้รถส่วนตัว 
  • มาตรการจัดการที่จอดรถ มีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้ใช้ เพราะค่าจอดรถที่สูงและพื้นที่จอดรถที่มีอย่างจำกัด จะช่วยสนับสนุนให้คนหันมาใช้บริการรถเมโทรบัสมากขึ้น
  • การตอบสนองต่อความตั้งใจในการใช้เมโทรบัส สามารถแบ่งกลุ่มตัวอย่างได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย (≥20,000 PKR) จำนวน 112 คน ผู้มีรายได้ปานกลาง (21,000–40,000 PKR) 112 คน และรายได้สูง (มากกว่า 40,000 PKR) 109  คน พบว่า
    • กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีความตั้งใจ ‘สูง’ ในการใช้บริการรถเมโทรบัส เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดทางสังคม ด้านการเดินทาง และสิ่งจูงใจต่าง ๆ 
    • กลุ่มผู้มีรายได้สูง แสดงถึงความตั้งใจ ‘ต่ำ’ ต่อการใช้รถเมโทรบัส ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีความตั้งใจในการใช้เมโทรบัสมากขึ้น ก็ต่อเมื่อเกิดข้อจำกัดในการใช้รถยนต์ส่วนตัว 
  • สิ่งจูงใจในการใช้รถเมโทรบัส คือ บริการที่ดีและราคาถูก ใช้เวลาเดินทางที่น้อย โดยเมโทรบัส สามารถเข้าถึงเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่สำคัญได้หลายแห่ง ซึ่งผู้โดยสารให้คะแนนสูงในด้านความน่าเชื่อถือ ต้นทุนและเวลาเดินทางที่ประหยัด และคุณสมบัติการเข้าถึงโดยตรง
  • ผลลัพธ์ของบรรทัดฐานส่วนบุคคล (personal norm) พบว่า ผู้เดินทางมีพันธะทางศีลธรรม (moral obligation) ‘สูง’ ในการใช้บริการรถเมโทรบัส เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งบรรทัดฐานทางสังคมเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมการใช้รูปแบบการขนส่งมวลชน เช่น บริการรถเมโทรบัส

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่น่าสนใจไว้หลายประการ อาทิ

  • เพิ่มสิทธิประโยชน์การให้บริการ เช่น การรับประกันความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสารโดยเฉพาะผู้หญิง 
  • เพิ่มแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้โดยสารแบบครอบครัวให้หันมาใช้เมโทรบัสมากขึ้น เช่น การปรับปรุงเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ลดลง การเข้าถึงบริการที่ดีขึ้น มีความครอบคลุมเชิงพื้นที่ และมีความสะดวกสบาย มีที่นั่งดีและเหมาะสม เป็นการดึงดูดผู้โดยสารและเปลี่ยนความตั้งใจเชิงพฤติกรรมให้หันมาใช้เมโทรบัสมากขึ้น
  • หน่วยงานด้านการจัดการจราจร ต้องวางแผนระบบการจัดการที่จอดรถ เพื่อจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวผ่านการเรียกเก็บค่าจอดรถ โดยเฉพาะตามเส้นทางรถเมโทรบัส เนื่องจากเชื่อกันว่าหากมีพื้นที่จอดรถที่มาก ผู้คนจะทำให้ผู้คนเลือกใช้รถส่วนตัว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแนวทางแบบบูรณาการในการใช้มาตรการ การจัดการความต้องการในการเดินทางที่จูงใจ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการลดความแออัดของการจราจรและเพิ่มการใช้ระบบขนส่งมวลชน
  • บทบาทของผู้กำหนดนโยบาย ควรคิดหาวิธีให้บริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและสะดวกสบายโดยใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดการปล่อยมลพิษในระบบนิเวศ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพของรถเปลี่ยนจากการใช้รถบัสแบบเก่า แทนที่ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ดีกว่า เช่น ระบบเมโทรบัส

กล่าวโดยสรุป จากการสำรวจระบบขนส่งสาธารณะนั้น สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาล การพัฒนาและการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งสาธารณะ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนความตั้งใจเชิงพฤติกรรมของผู้ใช้และช่วยลดความแออัดทางการจราจรบนท้องถนน ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ จำเป็นจะต้องอาศัยอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ อาทิ ข้อจำกัดของแต่บุคคลและสังคม การบริการ คุณภาพ ความสะดวกในการขนส่ง และลักษณะโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนให้ผู้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย 

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความทนทานซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งไปที่การเข้าถึงได้ในราคาที่สามารถจ่ายได้และเท่าเทียมสำหรับประชาชนทุกคน
–  (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.2) ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573

ข้อมูลงานวิจัย: Javid, M.A., Ali, N., Campisi, T., Tesoriere, G., Chaiyasarn, K.. (2022). Influence of Social Constraints, Mobility Incentives, and Restrictions on Commuters’ Behavioral Intentions and Moral Obligation towards the Metro-Bus Service in Lahore. Sustainability (Switzerland) 14(5),2654. doi: 10.3390/su14052654.

ชื่อผู้วิจัย – สังกัด: Muhammad Ashraf Javid Department of Civil Engineering, NFC Institute of Engineering and Fertiliser Research , Nazam Ali University of Management and Technology, Tiziana Campisi Kore University of Enna และ รศ. ดร.กฤษฎา ไชยสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น