เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ในฐานะหน่วยงานร่วมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ได้จัดการประชุมคู่ขนานเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ The 2030 SDGs Game: An invitation to explore the world, yourself and collaboration ร่วมกับเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) และแผนงาน Enhancing Leadership in Global Health Thailand ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ณ ห้องโลตัสสวีท 12 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานเจ้าภาพเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ได้แก่ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP), ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move), ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และตัวแทนหน่วยงานสมาชิกเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย
การจัดประชุมคู่ขนานภายใต้หัวข้อ The 2030 SDGs Game: An invitation to explore the world, yourself and collaboration ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่
- เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้นำระดับสูงและผู้นำรุ่นเยาว์ให้ได้รับประสบการณ์ตรงจากกิจกรรมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างลึกซึ้ง
- เพื่อหารือในประเด็นโอกาสของประเทศไทย ในการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และเยาวชน เพื่อบรรลุผลสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปีพ.ศ. 2573
กิจกรรมสำคัญของการประชุมคู่ขนานครั้งนี้ คือ การสร้างโอกาสการเรียนรู้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการเล่นการ์ดเกมชื่อ “The 2030 SDGs Game” โดยผู้เล่นจะได้รับประสบการณ์ในการสำรวจโลก สำรวจตนเอง และทำความเข้าใจความสำคัญของความร่วมมือในการทำงานร่วมกันผ่านการจำลองกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปีค.ศ. 2030
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมสะท้อนข้อสังเกตและบทเรียนจากการเล่นเกม ซึ่งมีความน่าสนใจหลายประการ ตัวอย่างเช่น
- ในการมองเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควรพิจารณากิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ว่าจะสามารถต่อยอดไปสู่เป้าหมายร่วมได้อย่างไร เพื่อบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- การพัฒนาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับมิติเศรษฐกิจมากกว่าอย่างมาก ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ได้ถูกใช้เพื่อการพัฒนาในมิติอื่น เกิดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างมิติและเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรเพื่อพัฒนามิติอื่นนอกเหนือจากเศรษฐกิจ
- การพัฒนาไม่สามารถดำเนินการจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากการพัฒนาในระดับพื้นที่ท้องถิ่นจำเป็นต้องอาศัยการกระจายอำนาจจากบนลงล่าง เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้
- การสื่อสารความรู้ ฐานข้อมูล เพื่อให้คนทั่วไปหรือประชาชนรับทราบผลกระทบของการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้ และจะสามารถหาวิธีลดผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นได้ต่อไป เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมยังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันต่อประเด็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยอย่างบูรณาการผ่านกลไกความร่วมมือและการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างหน่วยงาน ที่ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องสร้างความภาคภูมิใจ ความสุข เพื่อให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าในการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนและร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างโลกที่มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม