จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี
พรรคก้าวไกลชี้ควบรวม TRUE-DTAC จะส่งผลค่าโทรศัพท์สูง กระทบการค้าที่เป็นธรรม
วันที่ 2 มีนาคม 2566 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึง “กรณีการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC เสร็จสมบูรณ์” และ “กรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษายกฟ้องคดีที่มีการยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค” โดยให้ความเห็นว่าทั้ง 2 กรณี ทำให้ประเทศไทยเหลือผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพียง 2 รายอย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการเบอร์หนึ่งทันที มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
เข้าถึงได้ที่: ศิริกัญญาชี้ ควบรวม TRUE-DTAC สะท้อนกฎหมายป้องกันผูกขาดล้มเหลว ค่าโทรศัพท์เพิ่มขึ้นสูงถึง 200% คุณภาพด้อยลง (The Standrad)
กรมควบคุมมลพิษยอมรับจัดการอ้อยไฟไหม้ได้ไม่ตามเป้า กระทบ PM2.5
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ยังไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ซึ่งกำหนดให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5 และในฤดูการผลิตปี 2566/2567 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบต้องเป็น 0 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมร่วมกันระหว่าง คพ. และ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เกี่ยวกับแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากอ้อยไฟไหม้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีแผนจะร่วมกันจัดทำ ‘After Action Review’ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับมาตรการระยะยาวสำหรับเตรียมฤดูกาลเปิดหีบในปีถัดไป
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
เข้าถึงได้ที่: คพ.ยอมรับ “จัดการไฟไร่อ้อยไม่ได้ตามเป้า” หารือบอร์ดอ้อยชาติ “แก้ฤดูหน้า” (Greennews)
กรมอนามัยเผยไทยติด 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราเกิดโรคไตสูงสุด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในกิจกรรมรณรงค์วันไตโลก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศ ที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด มีผู้ป่วยไตเรื้อรัง จำนวน 11.6 ล้านคน และมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคนที่ต้องล้างไต จึงแนะนำผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง และประชาชนทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงอาหารมีโซเดียมเกินความจำเป็น 8 ประเภท พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลด หวาน มัน เค็ม เลี่ยงอาหารรสจัด และเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ ทั้งนี้ ร่างกายคนเราควรบริโภคโซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า เกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม เมื่อเฉลี่ยแล้วไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
เข้าถึงได้ที่: กรมอนามัย เผยไทยติด 1 ใน 5 ประเทศ ที่ป่วยโรคไตสูงสุด (The Reporter)
เครือข่ายแรงงานฯ จัดกิจกรรมเรียกร้องสิทธิแรงงานสตรีในวันสตรีสากล
วันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดกิจกรรม “แรงงานรวมพลสตรีสากล 66” โดยมีตัวแทนจากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มทำทาง กลุ่ม we faire เข้าร่วม ณ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ในกิจกรรมดังกล่าวมีการยื่นข้อเรียกต่อรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรคที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งในปีนี้หลายประเด็น อาทิ ขอให้ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อยกเลิกความผิดและคืนสิทธิแรงงานให้พนักงานค้าบริการทางเพศ (sex worker) คุ้มครองสิทธิแรงงานของคนทำงานบ้าน (domestic worker) และแรงงานแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร โดยให้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และเข้าสู่การประกันสังคมมาตรา 33 และยกเลิกการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานด้วยเหตุแห่งเพศ เช่น การไล่พนักงานที่ตั้งครรภ์ออกจากงาน
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ และเป้าหมายย่อยที่ 5.4 ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผ่านการให้บริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และ SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน และเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน
เข้าถึงได้ที่: ‘เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน’ จัดกิจกรรม “แรงงานรวมพลสตรีสากล 66” (The Reporter)
สถาบัน 5 Gyres เผยผลการศึกษาพลาสติกในมหาสมุทรมีมากถึง 2.3 ล้านตัน
สถาบัน 5 Gyres องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เน้นศึกษาการลดปริมาณมลพิษพลาสติก ชี้ว่าปัจจุบันมีพลาสติกมากกว่า 171 ล้านล้านชิ้น ล่องลอยอยู่ตามมหาสมุทร ถ้ารวมกันแล้วจะมีน้ำหนักถึงประมาณ 2.3 ล้านตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับน้ำหนักรถยนต์โดยเฉลี่ย ก็จะมีน้ำหนักเท่ากับรถยนต์ประมาณ 1,200 คันเลยทีเดียว โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ปี 2522 และเพิ่มข้อมูลใหม่เข้าไป ซึ่งได้มาจากการเก็บพลาสติกด้วยตาข่ายตามทะเล ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาข้อมูลดังกล่าวระบุว่า “ปริมาณพลาสติกที่ไหลลงน้ำ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.6 เท่า ภายในปี 2583 และจนถึงตอนนั้น ก็อาจจะมีจำนวนมากกว่าปลาในมหาสมุทร
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร
เข้าถึงได้ที่: ขยะในมหาสมุทรอาจเลวร้ายกว่าที่คิด นักวิจัยชี้ มีพลาสติก 171 ล้านล้านชิ้น หนักรวมกันทั้งหมด 2.3 ล้านตัน (The Matter)
UN เรียกร้องกลุ่ม G20 รับรองแผนปฏิบัติการทางการเงินเพื่อสนับสนุน SDGs
องค์การสหประชาชาติเผยแพร่ “มาตรการกระตุ้นการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อส่งมอบวาระปี 2030” ซึ่งเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิรูประบบการเงินโลก และเรียกร้องให้กลุ่ม G20 รับรองมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและร่างแผนปฏิบัติการ 3 ประเด็น ซึ่งได้แก่ 1) การจัดการปัญหาเรื่องต้นทุนหนี้ที่สูงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของปัญหาหนี้สิน รวมถึงการแปลงเงินกู้ระยะสั้นและดอกเบี้ยสูงให้เป็นหนี้ระยะยาวในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง 2) ขยายการจัดหาเงินทุนระยะยาวเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณะ (public development banks: PDB) รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (multilateral development banks: MDB) และโดยการจัดกระแสการเงินทั้งหมดให้สอดรับกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3) ขยายการจัดหาเงินทุนฉุกเฉินไปยังประเทศที่ต้องการ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา เป้าหมายย่อยที่ 17.4 ช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุความยั่งยืนของหนี้ระยะยาว และเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
เข้าถึงได้ที่: UN Calls for USD 500 Billion per Year for Sustainable Development (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย