เกือบร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่อง ‘สำคัญ’ ถึง ‘สำคัญที่สุด’ สำหรับอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 บริษัท HID Global บริษัทนวัตกรรมชั้นนำระดับสากลด้านการแก้ปัญหาการระบุตัวตนและความปลอดภัยทางกายภาพ (physical security) เผยแพร่ รายงาน “The Industry Report: 2023 State of Security and Identity” กล่าวถึง ผลสำรวจ 5 ประเด็นสำคัญ ที่จะนำมาสู่การพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย และความยั่งยืนของเทคโนโลยีสำหรับยืนยันตัวตน (Mobile ID) รวมถึงรูปแบบการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ
รายงานผลสำรวจอุตสาหกรรมความปลอดภัยปี 2566 ได้รวบรวมความคิดเห็นจากพันธมิตร ผู้ใช้งาน และบุคลากรด้านความปลอดภัยและเทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology : IT) ในตำแหน่งต่าง ๆ จำนวน 2,700 คน จากองค์กรหลากหลายขนาดกว่า 11 อุตสาหกรรม โดยได้ทำการสำรวจจัดทำขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 ได้นำเสนอผลสำรวจ 5 ประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะประเด็น ‘ความยั่งยืน’ ประเด็นการปรับเปลี่ยนไปใช้ Identity-as-a-Service (IDaaS) ขององค์กรส่วนใหญ่ และประเด็นเทคโนโลยีระบุตัวตนแบบดิจิทัล (Digital ID) ประเด็นการยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกซ์แบบไร้สัมผัส รวมถึงประเด็นปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล
จากรายงานผลสำรวจสามารถสรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความเห็นตรงกัน ดังนี้
- เกือบร้อยละ 90 คิดเห็นว่า ‘ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ’ ผู้บริโภคต่างเรียกร้องให้ผู้จัดหาสินค้าและบริการแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับผลกระทบด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนา ซึ่งร้อยละ 87 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า ความยั่งยืนจัดอยู่ในลำดับสำคัญถึงสำคัญที่สุด และ ร้อยละ 76 ระบุว่า ลูกค้าให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทีมงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัย นำการใช้ระบบคลาวด์และ Internet of Things (IoT) หรือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มาเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการและลดการใช้ทรัพยากร การพัฒนาผลิตภัณฑ์และวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ พร้อมลดขยะและของเสีย รวมถึงใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- องค์กรส่วนใหญ่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปใช้การบริหารจัดการบนระบบคลาวด์ (Identity-as-a-Service :IDaaS) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับการทำงานแบบไฮบริด จากรายงาน พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ จำนวนร้อยละ 81 เสนอรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งร้อยละ 67 ระบุว่า การยืนยันตัวตนแบบหลายขั้นตอน และแบบไม่ใช้รหัสผ่าน มีความสำคัญต่อรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด และการทำงานทางไกล และร้อยละ 48 ระบุถึงความสำคัญของ Mobile ID และการระบุตัวตนแบบดิจิทัล (Digital ID) ขณะที่ ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่งขององค์กร ระบุว่า องค์กรยังไม่พร้อมใช้กลยุทธ์ IDaaS ให้ครอบคลุม
- การนำการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล (Digital ID) เข้ามาใช้งานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งการระบุและยืนยันตัวตน ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่มีผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ Google, Apple และ Amazon เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ โดยเมื่อเกิดการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถเพิ่มกุญแจ บัตรประจำตัว และเอกสารดิจิทัล ได้ในแอปพลิเคชันกระเป๋าเงิน สามารถเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน และจากผลสำรวจ พบว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 40 กำลังแซงหน้าธุรกิจประเภทอื่น ๆ เนื่องจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ สามารถใช้ระบบการเข้า-ออกอาคาร ผ่านแอปพลิเคชัน ด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีเฉพาะผู้เช่าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
- เกือบร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสำรวจ เห็นประโยชน์ของการยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกซ์แบบไร้สัมผัส เทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ (biometrics) เป็นเทคโนโลยีการระบุตัวตน (identification) และตรวจพิสูจน์ผู้ใช้ (verification) เป็นวิธีการควบคุมการเข้า-ออกอาคารต่างจากแบบเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มความแน่นหนาในการรักษาความปลอดภัย โดยไบโอเมตริกซ์จะช่วยยืนยันตัวตนทางกายภาพของแต่ละบุคคล ทำให้องค์กรสามารถป้องกันการลักลอบและการปลอมแปลงการยืนยันตัวตน ซึ่งจากผลสำรวจ พบว่า ร้อยละ 59 ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีทั้งกำลังใช้และวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์มาใช้ หรืออย่างน้อยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ในอนาคต
- ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล จากผลสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสำรวจได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานในปี 2565 ขณะที่ ร้อยละ 50 มีมุมมองเชิงบวกว่าปี 2566 สถานการณ์จะดีขึ้น โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งร้อยละ 78 ระบุว่า มีความกังวลกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งกว่าสองในสามเป็นองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 1,000 คนและได้รับผลกระทบจากปี 2565 แต่ยังมองเชิงบวกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขในปีนี้
จากการศึกษาทำความเข้าใจกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ทั้งผู้ใช้งานและผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยสามารถเตรียมความพร้อมและปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น และสามารถพัฒนาความปลอดภัย ผ่านรูปแบบดิจิทัลและทางกายภาพ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมได้อย่างเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ‘ภัยคุกคามทางไซเบอร์’ เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 หาประโยชน์ทางการเงิน – ข้อมูล ในวันที่ผู้คนพึ่งพาพื้นที่ทางออนไลน์
– โครงสร้างพื้นฐานและสายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุม จะช่วยให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขทางไกลได้อย่างเสมอภาค
– ‘Fairphone’ สมาร์ทโฟนที่แฟร์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ถอด-เปลี่ยน-ซ่อมอะไหล่ได้ เพื่อยืดอายุการใช้งาน
– SDG Updates | Blockchain ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและแก้ปัญหาด้านข้อมูลของภาคเกษตรไทยได้อย่างไร
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
แหล่งที่มา: เผยผลสำรวจ “ความยั่งยืน กับอุตสาหกรรมความปลอดภัย”- Greennews
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย