Site icon SDG Move

ผลสำรวจอุตสาหกรรมความปลอดภัยปี 2566 เกือบร้อยละ 90 มองว่า “ความยั่งยืน” เป็นเรื่องสำคัญถึงสำคัญที่สุด

เกือบร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่อง ‘สำคัญ’ ถึง ‘สำคัญที่สุด’ สำหรับอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 บริษัท HID Global บริษัทนวัตกรรมชั้นนำระดับสากลด้านการแก้ปัญหาการระบุตัวตนและความปลอดภัยทางกายภาพ (physical security) เผยแพร่ รายงาน “The Industry Report: 2023 State of Security and Identity” กล่าวถึง ผลสำรวจ 5 ประเด็นสำคัญ ที่จะนำมาสู่การพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย และความยั่งยืนของเทคโนโลยีสำหรับยืนยันตัวตน (Mobile ID) รวมถึงรูปแบบการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ 

รายงานผลสำรวจอุตสาหกรรมความปลอดภัยปี 2566 ได้รวบรวมความคิดเห็นจากพันธมิตร ผู้ใช้งาน และบุคลากรด้านความปลอดภัยและเทคโนโลยีสารสนเทศ  (information technology : IT)  ในตำแหน่งต่าง ๆ จำนวน 2,700 คน จากองค์กรหลากหลายขนาดกว่า 11 อุตสาหกรรม โดยได้ทำการสำรวจจัดทำขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 ได้นำเสนอผลสำรวจ 5 ประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะประเด็น ‘ความยั่งยืน’ ประเด็นการปรับเปลี่ยนไปใช้ Identity-as-a-Service (IDaaS) ขององค์กรส่วนใหญ่ และประเด็นเทคโนโลยีระบุตัวตนแบบดิจิทัล (Digital ID) ประเด็นการยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกซ์แบบไร้สัมผัส รวมถึงประเด็นปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล

จากรายงานผลสำรวจสามารถสรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความเห็นตรงกัน ดังนี้

  1. เกือบร้อยละ 90 คิดเห็นว่า ‘ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ’ ผู้บริโภคต่างเรียกร้องให้ผู้จัดหาสินค้าและบริการแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับผลกระทบด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนา ซึ่งร้อยละ 87 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า ความยั่งยืนจัดอยู่ในลำดับสำคัญถึงสำคัญที่สุด และ ร้อยละ 76 ระบุว่า ลูกค้าให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทีมงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัย นำการใช้ระบบคลาวด์และ Internet of Things (IoT) หรือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มาเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการและลดการใช้ทรัพยากร การพัฒนาผลิตภัณฑ์และวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ พร้อมลดขยะและของเสีย รวมถึงใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  2. องค์กรส่วนใหญ่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปใช้การบริหารจัดการบนระบบคลาวด์ (Identity-as-a-Service :IDaaS) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับการทำงานแบบไฮบริด จากรายงาน พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ จำนวนร้อยละ 81 เสนอรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งร้อยละ 67 ระบุว่า การยืนยันตัวตนแบบหลายขั้นตอน และแบบไม่ใช้รหัสผ่าน มีความสำคัญต่อรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด และการทำงานทางไกล และร้อยละ 48 ระบุถึงความสำคัญของ Mobile ID และการระบุตัวตนแบบดิจิทัล (Digital ID) ขณะที่ ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่งขององค์กร ระบุว่า องค์กรยังไม่พร้อมใช้กลยุทธ์ IDaaS ให้ครอบคลุม
  3. การนำการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล (Digital ID) เข้ามาใช้งานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งการระบุและยืนยันตัวตน ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และสมาร์ทโฟนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่มีผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ Google, Apple และ Amazon เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ โดยเมื่อเกิดการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถเพิ่มกุญแจ บัตรประจำตัว และเอกสารดิจิทัล ได้ในแอปพลิเคชันกระเป๋าเงิน สามารถเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน และจากผลสำรวจ พบว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 40 กำลังแซงหน้าธุรกิจประเภทอื่น ๆ เนื่องจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ สามารถใช้ระบบการเข้า-ออกอาคาร ผ่านแอปพลิเคชัน ด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีเฉพาะผู้เช่าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น 
  4. เกือบร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสำรวจ เห็นประโยชน์ของการยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกซ์แบบไร้สัมผัส เทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ (biometrics) เป็นเทคโนโลยีการระบุตัวตน (identification) และตรวจพิสูจน์ผู้ใช้ (verification) เป็นวิธีการควบคุมการเข้า-ออกอาคารต่างจากแบบเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มความแน่นหนาในการรักษาความปลอดภัย โดยไบโอเมตริกซ์จะช่วยยืนยันตัวตนทางกายภาพของแต่ละบุคคล ทำให้องค์กรสามารถป้องกันการลักลอบและการปลอมแปลงการยืนยันตัวตน ซึ่งจากผลสำรวจ พบว่า ร้อยละ 59 ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีทั้งกำลังใช้และวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์มาใช้ หรืออย่างน้อยมีแนวโน้มที่จะทดลองใช้ในอนาคต
  5. ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล จากผลสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสำรวจได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานในปี 2565  ขณะที่ ร้อยละ 50 มีมุมมองเชิงบวกว่าปี 2566 สถานการณ์จะดีขึ้น โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งร้อยละ 78 ระบุว่า มีความกังวลกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งกว่าสองในสามเป็นองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 1,000 คนและได้รับผลกระทบจากปี 2565 แต่ยังมองเชิงบวกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขในปีนี้

จากการศึกษาทำความเข้าใจกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ทั้งผู้ใช้งานและผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยสามารถเตรียมความพร้อมและปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น และสามารถพัฒนาความปลอดภัย ผ่านรูปแบบดิจิทัลและทางกายภาพ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมได้อย่างเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
‘ภัยคุกคามทางไซเบอร์’ เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 หาประโยชน์ทางการเงิน – ข้อมูล ในวันที่ผู้คนพึ่งพาพื้นที่ทางออนไลน์
โครงสร้างพื้นฐานและสายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุม จะช่วยให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขทางไกลได้อย่างเสมอภาค
‘Fairphone’ สมาร์ทโฟนที่แฟร์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ถอด-เปลี่ยน-ซ่อมอะไหล่ได้ เพื่อยืดอายุการใช้งาน
SDG Updates | Blockchain ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและแก้ปัญหาด้านข้อมูลของภาคเกษตรไทยได้อย่างไร 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ

แหล่งที่มา: เผยผลสำรวจ “ความยั่งยืน กับอุตสาหกรรมความปลอดภัย”- Greennews 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version