ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนา ครั้งที่ 3 หัวข้อ “การวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน” โดย รศ. ดร.พีระ เจริญพร คณะเศรษฐศาสตร์ และ ดร.พนิชากรณ์ ใจยงค์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแบ่งประเด็นการพูดคุยออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านมา 2) อุปสรรค ข้อเสนอแนะ และประเด็นการวิจัยในอนาคตที่น่าสนใจ และ 3) ช่วงถามตอบประเด็นการวิจัยจากผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting
ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ รวมถึงสร้างฐานข้อมูลและเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการประยุกต์ใช้งานวิจัยกับอุตสาหกรรม จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
01 – การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านมา
ผลงานวิจัยที่ผ่านมาของ รศ. ดร.พีระ เกี่ยวข้องกับด้านนโยบายและการจัดการทรัพยากร โดยมุ่งเน้นศึกษาโมเดลเศรษฐกิจที่เรียกว่า BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยว เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และฐานการเกษตร รวมถึงการศึกษาเชิงบูรณาการระหว่างการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยถอดบทเรียนจากต่างประเทศ และนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ รศ. ดร.พีระ สรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จของ BCG Economy จากต่างประเทศ ได้ดังนี้ (1) มีการทดสอบตลาดตั้งแต่แรกเริ่ม (2) มีหุ้นส่วนที่แข็งแกร่ง (3) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสม (4) จดสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง และ (5) มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาหรือคุณภาพที่เหนือกว่า
รศ. ดร.พีระ กล่าวว่า การขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเติบโตด้านเดียวอาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ให้เหมาะกับท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ทว่าการดำเนินการในระดับท้องถิ่นต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนและอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน การขับเคลื่อนไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยภาคธุรกิจและสังคมด้วย นอกจากนี้ การดำเนินการด้าน BCG Economy จำเป็นต้องศึกษาความเชื่อมโยงตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แหล่งทรัพยากร และระบบขนส่ง การทำงานที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจะช่วยให้การทำงานของนักวิจัยง่ายขึ้น
สำหรับผลงานวิจัยที่ผ่านมาของ ดร.พนิชากรณ์ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยทางด้านการคำนวณ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์เรื่องการออกแบบวัสดุและการออกแบบยา ตัวอย่างเช่น การสร้างวัสดุที่ใช้ในการเก็บพลังงานร่วมกับคณะนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และภาควิชาเคมี โดยได้รับทุนจากกระทรวงพลังงาน โครงการ carbon dots film detecting volatile organic compounds (VOCs) ที่ทำร่วมกับภาควิชาเคมีและคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยการนำวัสดุจากธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยคาร์บอน มาใช้เตรียมคาร์บอนดอท (carbon dots) ด้วยวิธีการทางเคมี เพื่อสร้างอุปกรณ์จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (electronic nose) ใช้ในการตรวจจับแอลกอฮอล์หรือสารระเหยอันตรายอื่น ๆ การสร้าง carbon-based sensor เพื่อตรวจวัดสารบอแรกซ์ (borax) งานวิจัยเกี่ยวกับ noncovalent interactions in protein-ligand complexes เป็นการศึกษาโมเลกุลก่อนนำไปออกแบบยา และมีการขยายไปสู่การศึกษาคุณสมบัติของกัญชาในการรักษาการอักเสบ ปัจจุบัน ดร.พนิชากรณ์ กำลังศึกษา “กราฟีน (graphene)” ซึ่งเป็นวัสดุที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการวิจัย ร่วมกับไซโคลเด็กซ์ตริน (cyclodextrin) เพื่อหาโครงสร้างที่ดีที่สุด
02 – อุปสรรค ข้อเสนอแนะ และประเด็นการวิจัยในอนาคตที่น่าสนใจ
รศ. ดร.พีระ เสนอปัญหาจากการเข้าร่วมเพื่อหารือแผนที่นำทางเทคโนโลยี (technology roadmap) พบว่า การเชิญนักวิจัยทำได้ยาก เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีงานค่อนข้างเยอะและมีเวลาน้อย ปัจจุบันการจัดงานในรูปแบบออนไลน์จะทำให้นักวิจัยสามารถเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น อีกหนึ่งอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในประเทศไทยคือ สถาบันเฉพาะทาง เช่น สถาบันอาหาร สถาบันสิ่งทอ มีความสำคัญน้อยมากและไม่มีทุนวิจัยเพียงพอ ทำให้งานวิจัยส่วนมากไปอยู่หน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เนื่องจากมีทุนวิจัยจำนวนมาก แต่ความเป็นจริงสถาบันเหล่านั้นมีข้อมูลความต้องการและความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการอยู่ ซึ่งสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยได้ดี อย่างที่ทราบกันว่านักวิจัยที่ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีส่วนใหญ่อยู่ในสถาบันหรือมหาวิทยาลัย หากมีตัวกลางที่คอยประสานงาน จะช่วยลดช่องว่างในการทำงานระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ นักวิจัยหลายคนมักละเลยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการขอทุนวิจัย การจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ร่วมทำให้หน่วยงานยินดีให้ทุนสนับสนุนการวิจัยง่ายขึ้น
สำหรับประเด็นการวิจัยในอนาคต รศ. ดร.พีระ มองว่า ปัจจุบันนักวิจัยในประเทศไทยส่วนมากอยู่ในมหาวิทยาลัย และงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นเน้นไปที่การตีพิมพ์ผลงานในวารสาร ดังนั้น ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งเน้นไปสู่การวิจัยเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น นักวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากได้รับทุนวิจัยจากภาคเอกชน โดยจะมีเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ (1) ทรัพย์สินทางปัญญาต้องชัดเจน (2) งานวิจัยต่อยอด (translational research) เปลี่ยนจากระดับห้องปฏิบัติการ (lab scale) ให้เป็นระดับโรงงานหรืออุตสาหกรรม (factory/plant scale) นอกจากนี้ นักวิจัยต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านกฎหมายและเครื่องจักรใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนางานวิจัยต่อไป
อุปสรรคที่ ดร.พณิชากรณ์ พบจากการขอทุนวิจัยคือ ผู้ให้ทุนสนับสนุนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับโครงการวิจัยนวัตกรรมต้นแบบ (prototype innovation) หรือเชิงพาณิชย์ (commercial scale) มากกว่าการวิจัยพื้นฐาน (fundamental research) ซึ่งเป็นการค้นหาความรู้หรือพัฒนาทฤษฎี นอกจากนี้ การทำงานวิจัยแบบบูรณาการจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา อาจจะสร้างพื้นที่ที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันได้ง่ายขึ้น และจากการประสบการณ์ของ ดร.พณิชากรณ์ พบว่า นักวิจัยในต่างประเทศมีความร่วมมือกับภาคเอกชนมากกว่า เนื่องจากในประเทศไทยมักปัญหาเรื่องดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ที่ไม่ตรงกันระหว่างนักวิจัยและภาคเอกชน
ดร.พนิชากรณ์ เสนอประเด็นการวิจัยในอนาคตโดยมองว่า ภาพรวมแนวทางการวิจัยของประเทศไทยดำเนินมาถูกทางแล้ว แต่อาจจะยังขาดบางส่วน เช่น การทำแผนที่นำทางการวิจัย (research roadmap) การสร้างความร่วมมือในระดับคณะ ระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศ นอกจากนี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยพื้นฐานด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่นักวิจัยจะพัฒนาเทคโนโลยีในระดับเติบโต (scale up) โดยปราศจากองค์ความรู้เบื้องต้น ดังนั้น สองสิ่งนี้จำเป็นต้องดำเนินควบคู่กันไป
03 – ช่วงถามตอบประเด็นการวิจัยจากผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนา
ผู้เข้าร่วมในห้องสัมมนาได้สอบถามประเด็นที่น่าสนใจหลายคำถาม ซึ่ง รศ. ดร.พีระ และ ดร.พนิชากรณ์ ได้ให้คำตอบที่เป็นประโยชน์ ดังนี้
โอกาสทางรายได้ของเกษตรกร (นอกเหนือจากการรอการผันผวนของราคาข้าวหรือยางพารา) ที่อาจนำไปสู่การวิจัยและยกระดับให้สูงขึ้น สามารถเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
รศ. ดร.พีระ กล่าวว่า มายาคติของคนจะมองว่าการเกษตรเป็นเรื่องของชาวบ้าน ทว่าแท้จริงแล้วการทำเกษตรสมัยใหม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น จังหวัดเชียงใหม่ที่มีการทำเรื่องข้าวและกาแฟ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถแบ่งเงินมาใช้สำหรับลงทุนได้ ซึ่งหากนักวิจัยต้องการทำงานวิจัยและยกระดับการพัฒนา อาจเริ่มต้นที่กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ และอาจประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อสร้างเครือข่ายต่อไป
จากประสบการณ์การทำผลิตภัณฑ์ นักวิจัยต้องรู้หรือไม่ว่าสมุนไพรที่นำมาสกัดมาจากที่ใด หรือจะต้องมาจากในโรงเรือนที่สามารถควบคุมการปลูกได้
ดร.พนิชากรณ์ กล่าวว่า นักวิจัยสามารถสั่งซื้อสมุนไพรและนำมาทำการทดสอบได้เลย แต่หากจะให้เกิดประโยชน์ เราควรสร้างเครือข่ายและสนับสนุนให้นักวิจัยเข้ามาร่วมในโครงการ เช่น โครงการเกี่ยวกับกัญชา เคยพูดคุยกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยที่นั่นจะมีความรู้ว่าแหล่งปลูกอยู่ที่ไหน ต้องปลูกอย่างไร ควบคุมปริมาณแสงเท่าใด ความชื้นเท่าใด เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยภายนอกไม่ทราบ การออกแบบกระบวนการภาพรวมจำเป็นต้องอาศัยนักวิจัยจากหลากหลายสาขา เพื่อเข้ามาช่วยกันในแต่ละขั้นกระบวนการ แต่เรายังไม่มีตัวกลางที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการรวมกัน หากต้องการให้มีการทำงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอาจจะต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามาช่วยจัดการประสานงาน
สำหรับคนรากหญ้า/ผู้ประกอบการรายย่อย จะมีวิธีเข้าถึงงานวิจัยง่าย ๆ ได้อย่างไรบ้าง
รศ. ดร.พีระ เสนอว่า โจทย์ของผู้ประกอบการรายเล็กนั้นมีนักวิจัยที่ดำเนินการอยู่ แต่อาจจะต้องค้นหาและจับคู่ว่านักวิจัยท่านใดที่มีความสนใจตรงกับผู้ประกอบการ ซึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องมีคือตัวกลางที่จะมาช่วยประสานระหว่างทั้งสองฝ่าย จากประสบการณ์ที่เคยพบคือ หน่วยงาน innovative house ของ สวทช. แต่คาดว่าน่าจะปิดไปแล้ว เราอาจจะต้องลองศึกษาโมเดลต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาต่อ ซึ่งตอนนี้ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีความสนใจที่จะพัฒนากลุ่มวิสาหกิจขนาดลางและขนาดย่อม (SMEs) แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการขาดฐานข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อยู่
ดร.พนิชากรณ์ ยกตัวอย่างสินค้าโอทอป (OTOP) “ข้าวแต๋นน้ำแตงโม” ผู้ประกอบการต้องการส่งออกสินค้า แต่มีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพ โดยยังไม่สามารถทำให้ข้าวแต๋นมีความหนาเท่ากันได้ จึงต้องการให้นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์อาหารเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ ดังนั้น ดร.พนิชากรณ์ เสนอว่า อาจจะต้องมีพื้นที่หรือแพลตฟอร์มที่ช่วยในการหานักวิจัยที่มีความต้องการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในส่วนนี้
ในการคิดนวัตกรรมของชาวบ้าน หลายครั้งมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานได้มีการทำไปแล้วและจดสิทธิบัตร ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แบบนี้จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
รศ. ดร.พีระ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (technology licensing office: TLO) ในอดีตหากอาจารย์มหาวิทยาลัยจดทรัพย์สินทางปัญญาแต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง ทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะกลายเป็นของรัฐ ทว่าไม่สามารถนำทรัพย์สินทางปัญญานั้นไปใช้ได้ เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่าความรู้แอบแฝง ปัจจุบันองค์ความรู้เหล่านี้กลายเป็นของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้นำไปใช้ ซึ่งแล้วแต่นโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าจะนำไปใช้อย่างไรหรือคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร
ดร.พนิชากรณ์ เสนอว่า หากพบองค์ความรู้ที่อยากนำไปประยุกต์ใช้ อาจลองติดต่อไปที่หน่วยงานหรือนักวิจัยผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อขออนุญาตนำไปต่อยอด และถ้าหากปรับเรื่องดัชนีชี้วัดความสำเร็จ โดยนับโครงการที่นักวิจัยไปช่วยแก้ปัญหาแก่ผู้ประกอบการให้เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสำเร็จได้ ก็อาจจะสามารถสร้างเวทีที่ทำให้นักวิจัยเข้าไปช่วยเหลือชุมชนได้มากขึ้น
กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาการวิจัยด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน กลุ่มการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ฉายภาพให้เห็นถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ ซึ่งจำเป็นมีตัวกลางที่คอยช่วยประสานงาน รวมถึงสร้างฐานข้อมูลและเครือข่ายความรู้ เพื่อทำให้โจทย์ของผู้ประกอบการได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ : https://youtu.be/BL9Z4R0Be3U
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : อ่านสรุปสัมมนาทั้งหมด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่สมควรความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์
#SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)
ขนิษฐา สมศรี – ถอดความ
กนกพร บุญเลิศ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ