Site icon SDG Move

องค์การอนามัยโลก และ PATH หนุนใช้ชุดตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองในอินเดีย หวังให้กลุ่มประชากรหลักเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แนะนำให้การใช้ชุดตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง (HIV self-testing: HIVST) เป็นวิธีการสำคัญในการจัดการช่องว่างของการวินิจฉัยเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรหลัก ได้แก่ พนักงานบริการหรือพนักงานบริการทางเพศ (sex worker) ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย คนข้ามเพศ (transgender people) ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด (people who inject drugs) รวมถึงผู้ที่อยู่ในเรือนจำและสถานที่ปิดอื่น ๆ 

โดยขณะนี้ 98 ประเทศทั่วโลกมีนโยบายที่สนับสนุนการใช้ HIVST และกว่า 52 ประเทศกำลังดำเนินการใช้วิธีการดังกล่าวเป็นแนวทางปกติประจำ แต่ยังมีอีกหลายประเทศยังไม่ได้แนะนำให้ HIVST เป็นแนวทางปกติประจำ

รายงานชื่อ Accelerating access and uptake of HIV self-testing in India – A demonstration project ซึ่งเปิดตัวในงานระดับชาติที่กรุงนิวเดลีเมื่อปีที่แล้ว  เผยว่า HIVST เป็นที่ยอมรับของกลุ่มประชากรหลักและคู่รักของพวกเขาในอินเดีย โดยมีหน่วยงานขับเคลื่อนด้านสุขภาพที่ชื่อว่า PATH ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ STAR Initiative และได้รับทุนจาก Unitaid PATH เป็นผู้นำหลักสำหรับการดำเนินโครงการ HIVST ในอินเดีย ซึ่งระหว่างเดือนกันยายน 2564 ถึงมิถุนายน 2565 ได้แจกจ่ายชุดตรวจเอชไอวีกว่า 380 ชุด ครอบคลุม 14 รัฐ โดยการแจกจ่ายชุดตรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านรูปแบบการให้บริการ 5 รูปแบบ ได้แก่ การใช้ชุมชนและสถานที่ทำงานเป็นฐานในการแจกจ่าย การดำเนินการผ่านแพทย์เอกชนและเภสัชกรชุมชน และการดำเนินการผ่านระบบเสมือนจริงหรือทางออนไลน์ ผลพบว่า HIVST สะดวกและใช้งานง่าย และช่วยให้สามารถระบุผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยก่อนหน้านี้ได้

ชุมชนในอินเดียมีความสนใจอย่างมากที่จะเข้าถึง HIVST เป็นทางเลือกเพิ่มเติม และหวังว่าจะสามารถเข้าถึงต่อไปแม้โครงการของ STAR Initiative จะสิ้นสุดลงก็ตาม โดย นางเซลวี ชานมูกัม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชนสำหรับโครงการดังกล่าว ระบุว่า “การศึกษาได้ดำเนินการผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประชากรหลักและชุมชนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ชุมชนมีความสนใจในเทคโนโลยีนี้มากและต้องการให้มี HIVST อย่างต่อเนื่องในประเทศ” 

โครงการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกทางด้านเทคนิคจาก 3 ระดับ คือทั้งการสนับสนุนทั้งจากสำนักงานใหญ่ สำนักงานภูมิภาค และระดับประเทศ โดย ดร.โปลิน ชาน หัวหน้าทีมโรคติดต่อ สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศอินเดียให้ความเห็นว่า “ตลอดการออกแบบและดำเนินการมีการนำวิธีการที่เป็นระบบมาใช้เพื่อสร้างหลักประกันว่าโครงการที่ดำเนินขึ้นจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน ขณะนี้อินเดียมีประสบการณ์อย่างกว้างขวางในการดำเนินการเกี่ยวกับ HIVST และถึงเวลาแล้วที่จะขยายบริการนี้ในประเทศอินเดีย” 

นอกจากอินเดียแล้ว HIVST ยังช่วยให้หลายประเทศเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเอชไอวีมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดความต้องการในการบริการป้องกันและการอำนวยความสะดวกในการให้บริการยาต้านไวรัสป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือเพร็พ (pre-exposure prophylaxis: PrEP) อย่างไรก็ดี หากสำรวจความเคลื่อนไหวในประเทศไทย จะพบว่าเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่งมีมติชะลอการจ่ายเงินงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Prevention and Promotion: P&P) ในส่วนของประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองออกไปก่อน จนส่งผลให้หน่วยบริการที่ไม่ใช่โรงพยาบาลมีความกังวลในการบริการเพร็พ 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ยาป้องกัน HIV อาจเข้าถึงได้ยากขึ้น หลัง สปสช. ชะลอจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 
‘กระบวนการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ HIV’ สำหรับคู่รักที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เพื่อสร้างความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง
– เด็กที่ติดเชื้อ HIV กว่า 48 เปอร์เซ็นต์เข้าไม่ถึงการรักษา UN จับมือรัฐบาล-ภาคประชาสังคมจัดตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อเร่งยุติโรคเอดส์ในเด็กภายในปี 2573 
– UNAIDS จัดวงประชุมในหัวข้อ “แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อยุติโรคเอดส์ : 10 ปี ถึง 2030”
– WHO มีแผนที่จะส่งยาต้านไวรัส เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในยูเครน 
– นำเสนอภาพผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีสุขภาพดีบนสื่อให้มากขึ้น สามารถช่วยลดการตีตราที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อได้
– ผู้ติดเชื้อ HIV ในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางเพิ่มขึ้น เพราะระบบสุขภาพต้องทุ่มทรัพยากรเพื่อจัดการโควิด-19 
– UNESCO และ WHO ผลักดัน ‘โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ’ เพื่อให้สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
##SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา: HIV self-testing to take off in India: findings from the STAR Initiative (WHO)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version