ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนา หัวข้อ “การวิจัยระดับพื้นที่ด้านหุ้นส่วนการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน” โดย ผศ. ดร.คมน์ พันธรักษ์ และ ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 ผ่านระบบ Zoom Meeting
ด้วยประเด็นที่กล่าวถึง การสัมมนาข้างต้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เเละเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
01 – บทสรุปการนำเสนอประเด็น “ความสำคัญในการพัฒนา MSME” (micro small and medium enterprises)
ผศ. ดร.คมน์ พันธรักษ์ ได้กล่าวถึงการวิจัยเพื่อสนับสนุนหุ้นส่วนการพัฒนาและกลไกขับเคลื่อน ในประเด็นของความสำคัญในการพัฒนา MSME มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
- ช่วงปี 2564 – 2565 เป็นช่วงที่มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น และส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจในภาค MSME ธุรกิจ Micro และ Small มีการเติบโตจากโครงการของภาครัฐ SEs (Small) ฟื้นตัวได้ดีแต่ยังมีปัญหาในเรื่องของทุนหมุนเวียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ รวมไปถึงสถานการณ์เงินเฟ้อทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SEs แม้สอดรับกับปัญหาของ MEs (Medium) ที่มีปัญหาดังกล่าวเช่นกัน แต่มีจุดแข็งด้านทักษะและเทคโนโลยีทำให้สามารถปรับตัวได้ดีกว่า
- การทำวิจัยประเด็นข้างต้น มีการลงพื้นที่เพื่อศึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจหลายส่วน เช่น ต้นน้ำ : กระทรวงเกษตร ทำหน้าที่พัฒนาวัตถุดิบภาคการเกษตร/ กลางน้ำ : กระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เอาวัตถุดิบจากภาคเกษตรมาแปรรูป/ ปลายน้ำ : กระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ส่งต่อ และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นต้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการวิจัยเชิงพื้นที่ เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 12 เขตอุตสาหกรรม
- กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายการทำวิจัยให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจ ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและวิสาหกิจให้เติบโต การตั้งโจทย์การทำวิจัยเชิงพื้นที่จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการสร้างอัตลักษณ์ที่เป็นจุดแข็ง จึงใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ ภาคกลางตอนล่าง เน้นเรื่องอาหารทะเล จึงทำงานวิจัยเรื่อง การเพิ่มมูลค่าอาหารทะเล พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงปรับปรุงผลิตภาพใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ส่วนภาคใต้ มีอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จึงทำงานวิจัยในการเพิ่มมูลค่า เพิ่มคุณค่า เพิ่มอัตราการผลิต รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเชิงสุขภาพ
- ในอนาคตการทำวิจัยจะจัดทำโมเดลความร่วมมือสามฝ่าย (triple helix model) เป็นตัวแบบสองทางสลับกัน (interactive model) โดยภาครัฐทำหน้าที่ให้เงินทุน ออกนโยบาย ภาคอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ทำการวิจัย อบรม นำทุนวิจัยไปใช้ในการพัฒนา และภาคการศึกษา ทำหน้าที่นำองค์ความรู้ที่ได้จากการทำวิจัยของภาคอุตสาหกรรมไปถ่ายทอดให้หน่วยงานต่าง ๆ โดยทุกภาคส่วนมีความร่วมมือกันช่วยในการพัฒนาต่อยอดและยังเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน
02 – บทสรุปการนำเสนองานวิจัย “เรื่อง City DNA สำหรับเมืองรอง (meeting incentive conference event) ของ 3 จังหวัด (นครศรีธรรมราษ กระบี่ สุราษฎร์ธานี)”
ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานวิจัยเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และงานวิจัยลงพื้นที่ เรื่อง “City DNA สำหรับเมืองรอง (meeting incentive conference event) ของ 3 จังหวัด (นครศรีธรรมราษ กระบี่ สุราษฎร์ธานี)” มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
- โครงการ จัดทำแผนการจัดสรรงบประมาณ วิเคราะห์ และประเมินการณ์ผลกระทบของแผนงานด้าน วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรรม ปี 2564 ที่ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NRIIS โดยดึงข้อมูลออกมาเฉพาะเรื่อง แล้วนำมาวิเคราะห์และประเมินผลเรื่องความสอดคล้องกับเป้าหมายของพื้นที่ตามการแบ่งกลุ่มของกระทรวงมหาดไทยที่ได้แบ่งแผนพัฒนาออกเป็น 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งผลการวิเคราะห์ความสอดคล้องและช่องว่าง (gap analysis) ของโครงการวิจัยที่ได้รับการจัดสรรปี 2563-2564 สามารถสรุปได้ว่า ภาคที่มีงบประมาณมากที่สุดคือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนภาคที่มีจำนวนโครงการสอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาของกลุ่มจังหวัดมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
- งานวิจัยลงพื้นที่ โครงการสนับสนุน Mice City และเมืองที่มีศักยภาพในการทำงานการตลาดเมือง (destination marketing) โดยใช้ยุทธศาสตร์กำหนดจุดขายของเมืองจาก ‘City DNA’ และวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการคือการจัดทำโครงการนำร่อง พัฒนาแนวทางการทำตลาดเมือง ที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกมาเป็นเครื่องมือ ผลการสัมภาษณ์พบว่า กลุ่มเป้าหมายของงาน Mice City เป็นกลุ่มของชาวต่างชาติ แต่ชอบธรรมชาติและการกิจกรรมผจญภัย ทำให้การจัดงานแสดงสินค้าอาจไม่ตอบโจทย์ อีกสิ่งที่สำคัญคือควรเพิ่มแนวทางการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในกลุ่มนักเดินทาง
03 – ประเด็นสำคัญที่ได้จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยในห้องสัมมนา
การสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ร่วมสัมมนากับนักวิจัยแนวหน้า มีประเด็นสำคัญ อาทิ
- ควรส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงกลุ่มตลาดมากขึ้น
- การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ควรทำให้คนทุกช่วงวัยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย และขยายกลุ่มตลาด
- การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ หรือเศรษฐกิจ BCG ให้เกิดจริงกับชุมชน ในด้านการบริหารต้องการด้านวิทยาศาสตร์มาเข้าร่วมด้วย ดังนั้น นักวิจัยควรหาทีมเพื่อการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกัน
- ข้อแนะนำในการลงพื้นที่ นักวิจัยต้องเอาใจคนในท้องถิ่นมาใส่ใจตัวนักวิจัย อย่าเอาความเป็นเมืองไปยัดเยียดให้พวกเขามากเกินไป เพราะผลที่ออกมาอาจขาดความยั่งยืน
- บทบาทของนักวิจัยคือควรทำตัวเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงทุกหน่วยงานให้ทำงานเข้าด้วยกัน
กล่าวโดยสรุป การสัมมนาหัวข้อข้างต้นได้เปิดเผยให้เห็นถึงประสบการณ์การทำงานวิจัยในการหนุนเสริมการสร้างความร่วมมือ เครือข่าย และกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการหนุนเสริมพลังของการทำงานวิจัยและการสร้างพื้นที่ให้ท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม
รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ : https://youtu.be/8nuxk_0xPOU
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : sdgmove.com
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.10) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศเพื่อส่งเสริมและขยายการเข้าถึงการธนาคาร การประกัน และบริการทางการเงินแก่ทุกคน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน วิจัยและนวัตกรรม
– (9.3) เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยรวมถึงเครดิตในราคาที่สามารถจ่ายได้ให้แก่อุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้เพิ่มการผนวกกลุ่มเหล่านี้เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและตลาด
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)
Last Updated on เมษายน 11, 2023