ปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ที่องค์การสหประชาชาติจัดตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ (Commission of Inquiry on North Korea) ซึ่งได้ทำหน้าที่บันทึกอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการล่วงละเมิดร้ายแรงอื่น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อกลางมีนาคม องค์การสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงาน ‘Report of the UN Special Rapporteur on the situation of human rights in the DRPK to the Human Rights Council, 2023’ ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิงและเด็กหญิงในเกาหลีเหนือ โดยระบุรายละเอียดที่ทำให้สลดใจว่าการขยายเวลาในการจำกัดพรมแดนเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้ผลักดันประชากรกลุ่มเปราะบางในเกาหลีเหนือให้ถอยร่นไปอยู่ที่ชายขอบของการคุ้มครองดูแลมากกว่าเดิม
Elizabeth Salmon ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือและผู้จัดทำรายงานข้างต้น อธิบายถึงผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วนจากการจำกัดการเข้าถึงอาหาร ยา การดูแลสุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง อีกทั้งยังเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่ลดลงของผู้หญิง เนื่องจากข้อจำกัดของโควิด-19 และผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของครอบครัว เนื่องจากผู้หญิงในเกาหลีเหนือเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก
เนื้อหาอื่น ๆ ที่น่าสนใจซึ่งระบุในรายงานข้างต้นมีดังนี้
- ความรุนแรงในครอบครัวที่อาจเพิ่มขึ้นซึ่งเชื่อมโยงกับการจำกัดการเดินทางในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 เเละแรงกดดันทางเศรษฐกิจ
- การเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวางและความรุนแรงที่แพร่หลายในเกาหลีเหนือเกิดขึ้นเป็นประจำต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยมีข้อสังเกตว่าความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวนั้นแพร่หลายและเป็นเรื่องปกติ
- รัฐบาลเกาหลีเหนือไม่นับว่าการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และการตีตราและการกล่าวโทษเหยื่อผู้ถูกกระทำที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เหยื่อหรือผู้ถูกคุกคามได้รับการชดใช้เยียวยา
- รัฐบาลเกาหลีเหนือกักขังผู้หญิงในสภาวะที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งรวมถึงการทรมาน การบังคับใช้แรงงาน ความรุนแรงทางเพศ และการกีดกันการเข้าถึงอาหาร
ขณะที่รายงานอีกฉบับชื่อ ‘Promoting accountability in the Democratic People’s Republic of Korea’ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จัดทำโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังเพ่งความสนใจไปที่บันทึกด้านสิทธิมนุษยชนอันน่าสยดสยองของเกาหลีเหนือ แนวโน้มที่สิ้นหวังสำหรับความรับผิดชอบทางอาญาสำหรับการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง และความต้องการ “กลยุทธ์ที่สร้างสรรค์และสดใหม่” เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้
อย่างไรก็ดี การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ที่จัดขึ้นในเดือนนี้ควรมีการต่ออายุอำนาจหน้าที่ของผู้รายงานพิเศษและกลไกอื่น ๆ ขององค์การสหประชาชาติที่มุ่งส่งเสริมความยุติธรรมแก่เหยื่อจากการละเมิดโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและคณะมนตรีความมั่นคงควรพิจารณาขั้นตอนอื่น ๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีเหนือให้รับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงความล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจากความรุนแรง และการทำให้ความรุนแรงดังกล่าวได้รับการยกเว้นโทษ เนื่องจากผู้คนในเกาหลีเหนือยังคงตั้งหน้าตั้งตารอคอยความยุติธรรมมานานเกินไป
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงานของ UNODC และ UN Women เผย ‘บ้าน’ คือสถานที่สร้างความรุนแรง ต่อผู้หญิงและเด็กหญิงหลายคนทั่วโลก
– SDG Recommends | 5 อินโฟกราฟิกเล่าสถานการณ์ “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง” ในโลก 5 รูปแบบ
– ASEAN Gender Outlook แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนผู้หญิงและเด็กหญิงที่เปราะบาง เป็นกุญแจสำคัญไปสู่การบรรลุ SDGs
– ผู้หญิงยังคงเผชิญกับ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (GBV) ในแต่ละวัน แต่รัฐบาลและงานด้านมนุษยธรรมยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป
– Global Gender Gap Report 2021 เผย 10 ประเทศที่ดีที่สุดในการเป็นผู้หญิง
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผ่านการให้บริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
แหล่งที่มา: UN Highlights Abuses Against Women and Girls in North Korea (Human Rights Watch)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย