บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ


1. ประเด็นการพัฒนาที่พื้นที่ให้ความสำคัญ

การทบทวนความสำคัญของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีที่ 2 ของภาคเหนือ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 48 คน แบ่งเป็นภาครัฐ จำนวน 7 คน ภาคเอกชน จำนวน 3 คน ภาคประชาสังคม/ภาคองค์กรชุมชน/ชาวบ้าน จำนวน 23 คน ภาควิชาการ จำนวน 11 คน ภาคส่วนอื่น ๆ อีกจำนวน 3 คน และไม่ได้ตอบ 1 คน ได้ผลการทบทวนเปรียบเทียบกับโครงการปีที่ 1 ดังตารางต่อไปนี้

ตารางเปรียบเทียบการทบทวนความสำคัญของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภาคเหนือ ปีที่ 1 และปีที่ 2

ลำดับปีที่ 1ปีที่ 2
1ปัญหาหมอกควันปัญหาหมอกควัน
2ภัยพิบัติจาก Climate Changeภัยพิบัติจาก Climate Change
3การศึกษาที่ไม่เท่าเทียมและไม่เท่าทันความ เปลี่ยนแปลงระบบการจัดการร่วมในการพัฒนาพื้นที่ป่าและการแก้ปัญหาไฟป่า
4การถือครองที่ดินภัยแล้ง
5ระบบการจัดการร่วมในการพัฒนาพื้นที่ป่าและการแก้ปัญหาไฟป่าการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมและไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง

จากตารางข้างต้น สรุปได้ว่าประเด็นการพัฒนา 5 ลำดับแรกที่พื้นที่ภาคเหนือให้ความสำคัญในปีที่ 1 และปีที่ 2 ตรงกันทั้งหมด 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นภายใต้มิติสิ่งแวดล้อม โดยในปีที่ 1 ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ ปัญหาหมอกควัน ภัยพิบัติจาก Climate Change ระบบการจัดการร่วมในการพัฒนาพื้นที่ป่าและการแก้ปัญหาไฟป่า และประเด็นนี้ในปีที่ 2  มีทั้งหมด 4 ประเด็น เพิ่มประเด็นปัญหาภัยแล้ง แทนประเด็นภายใต้มิติเศรษฐกิจ 1 ประเด็น คือ การถือครองที่ดิน ที่เกิดขึ้นในปีที่ 1 ขณะที่ ประเด็นภายใต้มิติสังคม 1 ประเด็น ได้แก่ การศึกษาที่ไม่เท่าเทียมและไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เป็นประเด็นที่ให้ความสำคัญทั้งในปีที่ 1 และปีที่ 2


2. งานวิจัยที่พื้นที่ต้องการเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสำคัญ

การประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญของภาคเหนือ สรุปได้ว่าพื้นที่ต้องการงานวิจัยเพื่อตอบสนองต่อปัญหาระดับพื้นที่ทั้งสิ้น 12 ประเด็น แบ่งตามมิติ ดังนี้

  • มิติเศรษฐกิจ ได้แก่
  1. งานวิจัยด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในระดับชุมชน [SDG2]
  2. งานวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรชุมชนโดยมีชุมชนเป็นฐาน การจัดการป่าชุมชน และสิทธิในการเข้าถึง และครอบครองทรัพยากรที่ดิน เพื่อประกอบอาชีพหารายได้ของกลุ่มคนยากจนในชุมชน [SDG1, SDG8, SDG15]
  3. งานวิจัยด้านนวัตกรรมของการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูง และการส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน [SDG2]
  4. งานวิจัยเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการมูลค่าสูงของชุมชนบนฐานทรัพยากรของชุมชน [SDG8]
  • มิติสังคม ได้แก่
  1. งานวิจัยเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติ/ ไร้รัฐ/ เด็กที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตน รวมทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัยนอกค่าย [SDG10, SDG 16]
  2. งานวิจัยด้านการกระจายอำนาจของท้องถิ่นโดยลงไประดับตำบล โดยพัฒนาทางออกหารือนวัตกรรมของการกระจายอำนาจที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นจริง [SDG16]
  3. งานวิจัยเชิงระบบด้านการศึกษาในบริบริทของพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์การศึกษาที่เหมาะกับความต้องการของชุมชน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลากหลายบริบท และแนวทางของการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกวัย [SDG4, SDG10]
  4. งานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การค้าประเวณี [SDG8, SDG10,SDG16]
  • มิติสิ่งแวดล้อม ได้แก่
  1. งานวิจัยด้านเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น การทำการเกษตรโดยไม่ก่อเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรอินทรีย์ โดยศึกษาทั้งระบบของการทำเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาทางเลือกของการเกษตรรูปแบบใหม่ที่สร้างความยั่งยืน  [SDG2, SDG12]
  2. งานวิจัยเกี่ยวกับระบบชลประทานของภาคเหนือตอนล่าง เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาระบบน้ำชลประทานสำหรับการทำเกษตรกรรมของชุมชนในพื้นที่ [SDG2, SDG6]
  3. งานวิจัยด้านการนำขยะจากการทำเกษตรกรรมไปแปรรูป หรือ ทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการกำจัดขยะทางการเกษตรที่จะนำไปสู่การลดปัญหาการสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาหมอกควัน เป็นต้น [SDG12]
  4. งานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมในการบริหารจัดการและการกำจัดขยะ ในเขตพื้นที่เมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืน [SDG11, SDG12]

นอกจากนี้ การประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญยังระบุถึงหน่วยงานที่ได้ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ระดับภาคเหนือ แบ่งตามภาคส่วนที่เข้ามามีบทบาทได้ดังนี้

ภาคการศึกษาและวิชาการ ได้แก่

  • สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ : บทบาทหน้าที่ เช่น ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการทำงานวิจัยให้กับชุมชน ท้องถิ่น ทั้งสนับสนุนเครื่องมือในการทำงานวิจัยและช่วยทำให้คุณภาพของงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
  • คลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ : บทบาทหน้าที่ เช่น สนับสนุนองค์ความรู้วิชาการและเครื่องมือให้กับชุมชนในการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งการสร้างช่องทางการตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ
  • ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ :  บทบาทหน้าที่ เช่น สนับสนุนความรู้และงานวิจัยด้านชาติพันธุ์ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในบริบทของการพัฒนา รวมถึงสร้างพื้นที่ของการถกสนทนา เพื่อทำความเข้าใจและสร้างการยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสังคมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) :  บทบาทหน้าที่ เช่น สนับสนุนงบประมาณ ความรู้ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการพัฒนานวัตกรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สนับสนุนการทำวิจัยด้านการศึกษาและการเรียนรู้  รวมถึงส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วมในการผลิตความรู้และใช้ประโยชน์จากความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่
  • มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น : บทบาทหน้าที่ เช่น รับโจทย์จากพื้นที่และรับงบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยท้องถิ่นจากหน่วยบริหารจัดการทุนต่าง ๆ เพื่อนำไปทำการวิจัยแก้ไขปัญหาของพื้นที่

ภาคประชาสังคม ได้แก่

  • สภาองค์กรชุมชนในภาคเหนือ : บทบาทหน้าที่ เช่น เป็นกลไกเชื่อมโยงงานการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของชุมชนในระดับตำบลและจังหวัด สร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบาย 

ภาคเอกชนและหน่วยงานส่งเสริมผู้ประกอบการ ได้แก่ 

  • กลุ่มคลัสเตอร์ดิจิทัล สภาอุตสาหกรรม จังหวัดเชียงใหม่ : บทบาทหน้าที่ เช่น สนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่
  • ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม : บทบาทหน้าที่ เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ เช่น สนับสนุนองค์ความรู้ ข้อมูล และการให้คำปรึกษากับเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ
  • สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) :  บทบาทหน้าที่ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนและการประกอบการอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ภาครัฐที่มีบทบาทด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่

  • กองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม :  บทบาทหน้าที่ เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้มีการดำเนินกิจกรรมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสนับสนุนและติดตามเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ และเชื่อมประสานงานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. ข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน

จากกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไก ววน. ระดับพื้นที่ เช่น

  • หน่วยงานสนับสนุนทุนการทำวิจัย ควรปรับบทบาทการทำงาน คือ ปรับเปลี่ยนวิธีการหรือแนวทางในการสนับสนุนทุน เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้เสนอโอกาสในการทำวิจัย เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา พร้อมกำหนดช่องทางและกลไกเฉพาะให้กับภาคชุมชนและประชาสังคม
  • จัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศทางงานวิจัยในระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานราชการ นักวิชาการ ชุมชน และภาคเอกชน เป็นต้น ในสัดส่วนที่ภาคชุมชนมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
  • สนับสนุนให้มีนโยบายที่นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาลงมาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ชุมชน เพื่อลดช่องว่างทางความรู้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของโจทย์วิจัยและกระตุ้นให้ชุมชนได้สร้างงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา
  • สนับสนุนการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ในชุมชน เพื่อให้เป็นผู้ที่จะช่วยค้นหาความต้องการของชุมชนและเป็นผู้สนับสนุนการวิจัยให้แก่ชาวบ้าน
  • สนับสนุนให้ภาคเอกชนระดับจังหวัดเข้ามามีบทบาทในระบบ ววน. มากขึ้น อาทิ สภาหอการค้า, สภาอุตสาหกรรม และ สภาการท่องเที่ยว เป็นต้น
คณะวิจัยภาคเหนือ: ดร.สมคิด แก้วทิพย์,  รศ.ดร.เกศสุดา สิทธิสันติกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดร.โอฬาร อ่องฬะ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่เฉลิมพระเกียรติ)

● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need 
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
 Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก 
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้ชายแดน
Area Need 05 | Area Need 2: What’s next step? การติดตาม และวางแผนต่อไปสำหรับโครงการความต้องการของพื้นที่ ปีที่ 2 
บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ 

ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1  และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ ไปจนถึง เมษายน 2566

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น