SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนมีนาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  18 – 24 มกราคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมาเรียกร้อง ปตท. ยุติจ่ายเงินสนับสนุนรัฐบาลทหาร

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา เผยแพร่แถลงการณ์ขอความร่วมมือถึงบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (มหาชน) (ปตท.สผ.) เรื่องข้อมูลที่กระแสเงินทุนโครงการแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาเนื่องจากคณะเผด็จการทหารนำมาใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนชาวเมียนมา โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหยุดการไหลเวียนของเงินตราต่างประเทศไปยังคณะเผด็จการทหาร รายได้นี้ทำให้คณะเผด็จการทหารสามารถซื้ออาวุธที่ใช้ในการสังหารพลเรือนโดยไม่เลือกหน้า โจมตีโรงพยาบาลและโรงเรียน สร้างความเดือดร้อนอย่างใหญ่หลวง”

และคาดหวังถึงแนวทางดำเนินการในอนาคตด้วยว่า “เราหวังว่า ปตท. จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในจดหมายและทำงานร่วมกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หาก ปตท. ไม่ให้ความร่วมมือกับเราในกระบวนการนี้ เราจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงที่เหมาะสม และใช้กฎหมายระหว่างประเทศเพื่อหยุดการใช้เงินเหล่านี้เพื่อจ่ายสำหรับสงคราม”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก เเละเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่: NUG ขอข้อมูลกระแสเงินโครงการยาดานา หวังตัดทุนเผด็จการพม่า ถ้าไม่ร่วมมือจะใช้ กม.ระหว่างประเทศ (ประชาไท)

ประกาศใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 8 หวังเป็นประโยชน์แก่คน WFH

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กรณีลูกจ้างนำงานไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัย หรือ Work from Home หรือการตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ ได้ (Work from Anywhere) โดยเนื้อหาสำคัญของ พ.ร.บ. ข้างต้น อาทิ เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆ กับนายจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน

ส่วนท้ายของราชกิจจานุเบกษาระบุถึงเหตุผลของการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควร แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง ตลอดจนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิง”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน 

เข้าถึงได้ที่: ถ้าเลิกงานแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิ์ปฏิเสธ ‘งานงอก’ ไทยแก้ ก.ม.ใหม่ แก้ปัญหาเรื่อง Work from Home (BrandThink)  

เหมืองอัครากลับมาดำเนินกิจการ ชาวบ้านบางส่วนยังกังวลผลกระทบเรื่องสุขภาพ

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 บริษัทอัครา รีซอร์สเซส เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจว่าบริษัทกลับมาดำเนินกิจการเหมืองอัคราอย่างเป็นทางการภายหลังได้รับการยืนยันการได้รับใบอนุญาติจากอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม พร้อมระบุถึงแนวทางส่งต่อผลประโยชน์จากการดำเนินกิจการดังกล่าวแก่ภาคสาธารณะด้วยว่า “บริษัทต้องสมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 4 กอง ได้แก่ กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง คิดเป็น 21% ของค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทชำระให้กับรัฐบาล หรือรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี ตามกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคํา ซึ่งส่งผลให้มีเม็ดเงินจากกองทุนไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ในพื้นที่” 

อย่างไรก็ดี แม้เงินจากการดำเนินกิจการส่วนหนึ่งจะใช้จ่ายในทางสาธารณประโยชน์ แต่ก็ยังมีความกังวลถึงกระบวนการที่โปร่งใสและผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวแทนประชาชนที่ใช้ชื่อว่า “เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่” พร้อมกับชาวบ้านที่อาศัยใกล้เหมืองทองอัคราเปิดเผยถึงความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลที่อนุญาตให้ บ.คิงส์เกตฯ เตรียมกลับมาเปิดเหมืองทองอัครา พร้อมกับเรียกร้องให้ฝ่ายค้านนำปัญหาดังกล่าวไปอภิปรายซักฟอกรัฐบาล รวมถึงหาข้อมูลข้อเท็จจริงในกระบวนการอนุญาโตตุลาการมาเปิดเผยสู่สาธารณะ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.2 บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส

เข้าถึงได้ที่: “เปิดเดินเครื่อง” #เหมืองอัครา หลังข้อพิพาท 6 ปี พร้อมเงื่อนไข “#เงินสมทบกองทุน 21% ค่าภาคหลวง” (GreenNews)

3 ชมรมแพทย์ เสนอกระจายการเข้าถึงแพทย์และอุปกรณ์แก่โรงพยาบาลชุมชน

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และชมรมแพทย์โรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ได้ประชุมหารือร่วมกันและเสนอแนวทางพัฒนาระบบสุขภาพ ให้ตอบสนองความต้องการประชาชน ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพพื้นที่ ทั้งด้านบุคลากร การบริหารจัดการ และบริการ กระจายสถานพยาบาล ให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น โดยข้อเสนอที่สำคัญ คือ การยกระดับโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ให้มีแพทย์ 4 สาขาหลัก อาทิ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ ขณะที่ด้านการบริการ ทั้ง 3 ชมรม เสนอว่าควรเน้นกระจายสถานบริการให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น โดยเพิ่มบริการที่ยากและมีความซับซ้อน เช่น การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด การฉายแสง การปลูกถ่ายไต

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และ 3.c เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา

เข้าถึงได้ที่: 3 ชมรมแพทย์ เสนอ สธ.วางแนวทางพัฒนาระบบสุขภาพ ยกระดับรพ.ชุมชนขนาดเล็ก มีแพทย์ 4 สาขาหลัก รักษาโรคยากซับซ้อน (The Reporter)

UN เผยแพร่รายงานน้ำโลก ระบุกว่า 2 – 3 พันล้านคนขาดแคลนน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย  1 เดือนต่อปี

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 องค์การสหประชาติได้เผยแพร่รายงาน UN World Water Development Report ก่อนที่จะมีการประชุมสำคัญในวันน้ำโลก (world water day) ประจำปี 2566 โดยเนื้อหาที่ถูกระบุในรายงานดังกล่าว อาทิ 1)​ คนกว่าเกือบ 1 พันล้านคนในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในปัจจุบัน และจำนวนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูงถึงระหว่าง 1.7 พันล้านถึง 2.4 พันล้านคนภายในสามทศวรรษข้างหน้า และความต้องการน้ำในเมืองคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 80% ภายในปี 2593 2) ผู้คนกว่า 2 พันล้านถึง 3 พันล้านคนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปี 3)ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาน้ำในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 2.7 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในปี 2545 แต่ก็ยังน้อยอยู่เป็น 8.7 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในปี 2565

ขณะที่ Richard Connor ผู้เขียนหลักของรายงานข้างต้น เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนน้ำและแผนการเงินใหม่ที่สามารถรวบรวมผู้ใช้น้ำในเมือง ภาคธุรกิจ และภาคส่วนที่จัดการสาธารณูปโภคให้ร่วมลงทุนในการจัดการแหล่งน้ำ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.1 บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573 เป้าหมายย่อยที่ 6.4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน และเป้าหมายย่อยที่ 6.a ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในกิจกรรมและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ

เข้าถึงได้ที่: Number of city dwellers lacking safe water to double by 2050 (The Guardian)

UN จัดประชุมฟังความเห็นเพื่อจัดทำปฏิญญาทางการเมือง สำหรับ ‘SDG Summit’

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ของประเทศไอร์แลนด์และการ์ตา ได้ร่วมจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นเบื้องต้นของประเทศสมาชิกเกี่ยวกับขอบเขตและเนื้อหาสาระของปฏิญญาทางการเมืองซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 (2023 SDG Summit) ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2566 

โดย Alya Ahmed Saif Al-Thani เน้นย้ำว่าปฏิญญาข้างต้นควรประกอบด้วยเนื้อหาที่มีลักษณะ ได้แก่ 1) สร้างแรงบันดาลใจ มีวิสัยทัศน์ และมีความทะเยอทะยาน 2) เชิงปฏิบัติพร้อมคำแนะนำที่ชัดเจน และ 3) ให้ความรู้สึกถึงความก้าวหน้าและความแตกต่าง อีกทั้งระบุการปฏิบัติการและความมุ่งมั่นที่จำเป็นในการเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ขณะที่ สหภาพยุโรป แสดงความเห็นว่าปฏิญญาดังกล่าวควรเน้นย้ำให้มีองค์ประกอบที่สำคัญ อาทิ ประสานความพยายามของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน และมุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างสันติภาพ การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เข้าถึงได้ที่: Countries Exchange Views on Elements to Include in SDG Summit Declaration (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น