สัปดาห์การจัดประชุม UN 2023 Water Conference ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2566 จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สิ้นสุดลงแล้ว จากการประชุมดังกล่าว องค์การสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงาน “United Nations World Water Development Report 2023: Partnerships and Cooperation for Water” อธิบายถึงบทบาทสำคัญของการสร้างความร่วมมือและส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนในการเร่งความก้าวหน้าไปสู่ SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
ตามรายงานระบุว่า การใช้น้ำทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ต่อปีในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จากการเติบโตของประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ที่คาดว่าการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราใกล้เคียงกันจนถึงปี 2593 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ จะกระจุกตัวอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ซึ่งการขาดแคลนน้ำกำลังกลายเป็นปัญหาเฉพาะถิ่น จากรายงานพบว่า โดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่ต้องเผชิญกับความเครียดหรือวิกฤตด้านน้ำ
รายงานเตือนว่าปัจจุบัน ความคืบหน้าภาพรวมเป้าหมายทั้งหมดของ SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาลนั้นไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และในบางพื้นที่ พบว่าอาจต้องเร่งดำเนินการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกำหนดวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573
สาระสำคัญจากรายงานสามารถสรุปโดยสังเขป ดังนี้
- ในปี 2563 ประชากรโลก 26% ไม่สามารถเข้าถึงบริการน้ำดื่มที่มีการจัดการอย่างปลอดภัย ตามเป้าหมาย SDG 6.1 และ 46% ไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่มีการจัดการอย่างปลอดภัย ตามเป้าหมาย SDG 6.2
- ประมาณ 60% ของแหล่งน้ำทั่วโลก เช่น มหาสมุทร ทะเล ทะเลสาบ แม่น้ำ ธารน้ำ คลอง หรือสระน้ำ มีคุณภาพน้ำโดยรอบที่ “ดี” แม้ว่าประเทศที่ยากจนที่สุด 20 ประเทศ จะยังคงมีสัดส่วนคุณภาพน้ำที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ในเป้าหมายที่ SDG 6.3 นี้
- เป้าหมาย SDG 6.4 ประสิทธิภาพการใช้น้ำทั่วโลก เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2558 ถึง 2561 โดยมีความคืบหน้ามากที่สุดในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเพิ่มขึ้น 15% รองลงมา คือ ภาคการประปาและสุขาภิบาล และภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 8%
- อัตราความก้าวหน้าทั่วโลกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม (Integrated Water Resources Management : IWRM) จำเป็นต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า เพื่อเข้าใกล้เป้าหมาย SDG 6.5
- เป้าหมาย SDG 6.6 ข้อมูลที่จำเป็นในการติดตามการเปลี่ยนแปลงในขอบเขตของระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำตลอดทุกช่วงเวลา ยังขาดการปรับปรุง
- ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official development assistance : ODA) ในด้านที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ในปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 8.7 พันล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2545 อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพแก่ประเทศกำลังพัฒนาในกิจกรรมและโครงการที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสุขอนามัย ตามเป้าหมาย SDG 6.a ซึ่งยังไม่ได้รับการรายงาน
- ขณะที่ จำนวนประเทศที่มีขั้นตอนทางกฎหมายหรือนโยบายการมีส่วนร่วมของผู้ใช้หรือชุมชนในด้านการจัดการน้ำและสุขอนามัย (เป้าหมาย SDG 6.b) เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2557 ถึง 2562 โดยรวมยังคงต่ำ
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวได้จัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงมุมมองระดับภูมิภาคและประเด็นเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การเกษตร สิ่งแวดล้อม การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ อุตสาหกรรม สุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนตัวเร่งการดำเนินการด้านน้ำตามกรอบ 5 ตัวของ SDG 6 Global Acceleration Framework พร้อมนำเสนอคำแนะนำแก่ผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับวิธีเร่งการเปลี่ยนแปลงผ่านการศึกษาและการพัฒนาขีดความสามารถ ข้อมูลและสารสนเทศ นวัตกรรม การเงิน และการกำกับดูแล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ความท้าทายและโอกาส ในการปรับปรุงการตัดสินใจทางนโยบายอย่างมีคุณภาพ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– UN Water และ WHO รายงานขาดแคลนเงินทุน ด้านน้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัยทั่วโลก พร้อมเผยปัญหาที่ถูกละเลย
– รายงานความคืบหน้าด้านน้ำโดย UN Water ชี้ สถานการณ์น้ำของโลกไม่เป็นไปตามแผน #SDG6
– คนจะยังขาด น้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย ในอนาคต หากยังละเลยในปัญหาและทำงานช้าเช่นปัจจุบัน
– โลกให้ความสนใจกับระบบนิเวศน้ำจืดบนแผ่นดินน้อยเกินไป เพราะมีแม่น้ำตามธรรมชาติเพียง 17% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง
– จะลดความขัดแย้งด้านการใช้แม่น้ำระหว่างประเทศลงได้ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ฉากทัศน์ปัญหาและการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (6.2) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ใต้สถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
– (6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573
– (6.a) ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในกิจกรรมและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำและสุขอนามัยซึ่งรวมถึงด้านการเก็บน้ำ การขจัดเกลือ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเสีย เทคโนโลยีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่
– (6.b) สนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการปรับปรุงการจัดการน้ำและสุขอนามัย
#SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา: UN Flagship Spotlights Role of Partnerships, Cooperation for Water | News | SDG Knowledge Hub | IISD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย