บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคกลางต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ


1. ประเด็นการพัฒนาที่พื้นที่ให้ความสำคัญ

การทบทวนความสำคัญของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีที่ 2 ของภาคกลาง มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 29 คน แบ่งเป็น ภาครัฐ จำนวน 14 คน ภาคเอกชน จำนวน 3 คน ภาคประชาสังคม/องค์กรชุมชน/ชาวบ้าน จำนวน 2 คน ภาควิชาการ จำนวน 7 คน ภาคส่วนอื่น ๆ จำนวน 1 คน และมีผู้ไม่ให้คำตอบ จำนวน 2 คน

ตารางเปรียบเทียบการทบทวนความสำคัญของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคกลาง ปีที่ 1 และปีที่ 2

ลำดับปีที่ 1ปีที่ 2
1ภาคการท่องเที่ยวถดถอยและหดตัวเศรษฐกิจชะลอตัว
2อาชญากรรมและคดียาเสพติดภาระหนี้สินครัวเรือน
3ภาระหนี้สินครัวเรือนโรคอุบัติใหม่
4เศรษฐกิจชะลอตัวอาชญากรรมและคดียาเสพติด
5โรคอุบัติใหม่มลพิษทางอากาศ

จากตารางข้างต้น สรุปได้ว่าประเด็นการพัฒนา 5 ลำดับแรกที่พื้นที่ภาคกลางให้ความสำคัญในปีที่ 1 และปีที่ 2 มีความแตกต่างกันเพียง 2 ประเด็น กล่าวคือ ประเด็น ‘ภาคการท่องเที่ยวถดถอยและหดตัว’ ปรากฏเฉพาะในปีที่ 1 และ ประเด็น ‘มลพิษทางอากาศ’ ปรากฏเฉพาะในปีที่ 2 ทั้งนี้ สรุปประเด็นสำคัญทั้งหมดโดยแบ่งตามมิติต่าง ๆ ได้ดังนี้ ประเด็นภายใต้มิติเศรษฐกิจ 3 ประเด็น ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวถดถอยและหดตัว ภาระหนี้สินครัวเรือน เศรษฐกิจชะลอตัว ประเด็นภายใต้มิติสังคม 2 ประเด็น ได้แก่ อาชญากรรมและคดียาเสพติด โรคอุบัติใหม่ และประเด็นภายใต้มิติสิ่งแวดล้อม 1 ประเด็น ได้แก่ มลพิษทางอากาศ 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในการลำดับประเด็น เนื่องจากประเด็นที่พื้นที่ให้ความสำคัญมากที่สุดในปีที่ 1 คือภาคการท่องเที่ยวถดถอยและหดตัว แต่ปีที่ 2 คือ เศรษฐกิจชะลอตัว


2. งานวิจัยที่พื้นที่ต้องการเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสำคัญ

การประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญของภาคกลาง สรุปได้ว่าพื้นที่ต้องการงานวิจัยเพื่อตอบสนองต่อปัญหาระดับพื้นที่ทั้งสิ้น 16 ประเด็น แบ่งตามมิติดังนี้

  • มิติเศรษฐกิจ ได้แก่
    1. งานวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยสนับสนุนการนำจุดแข็งและอัตลักษณ์ของชุมชนมาใช้ในการพัฒนา [SDG8]
    2. งานวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้น่าสนใจ มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการตลาดยุคดิจิทัลให้แก่ชุมชน [SDG8, SDG9]
    3. งานวิจัยเชิงระบบของภาคเกษตรกรรมอย่างเป็นองค์รวมเพื่อหาทางออกของปัญหาแก่เกษตรกร [SDG2]
    4. งานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจครัวเรือนและการแก้ไขปัญหาภาวะหนี้สินของครัวเรือน [SDG1]
    5. งานวิจัยปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและสิทธิในการครอบครองที่ดินของชุมชนและกลุ่มคนยากจน กลุ่มคนชายขอบ รวมทั้งการจัดการทรัพยากรและสิทธิของชุมชน [SDG1]
  • มิติสังคม ได้แก่ 
    1. งานวิจัยด้านพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคอุบัติใหม่ในคนและสัตว์ [SDG3]
    2. งานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือระหว่างรัฐและประชาชนในการแก้ไขปัญหาช่วงภาวะวิกฤติ [SDG11, SDG17]
    3. งานวิจัยที่ศึกษาความเชื่อมโยงของระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศเพื่อหาทางออกของการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสำหรับประชาชน [SDG9, SDG11]
    4. งานวิจัยเชิงระบบเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นองค์รวม [SDG10]
    5. งานวิจัยเกี่ยวกับสังคมสูงวัยโดยศึกษาทั้งระบบอย่างเชื่อมโยงกัน เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อเตรียมสังคมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านได้อย่างยั่งยืน [SDG3] 
    6. งานวิจัยระบบการศึกษาไทยอย่างเป็นองค์รวมเพื่อหาทางออกของการพัฒนาการศึกษาประเทศไทยให้ตอบสนองและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างยั่งยืน [SDG4]
    7. งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนานักวิจัยของชุมชนโดยสนับสนุนให้ชุมชนเป็นผู้วิจัยและสามารถหาทางออกให้กับการแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง [SDG10]
    8. งานวิจัยเชิงระบบเกี่ยวกับความรุนแรงและอาชญากรรมสมัยใหม่ในสังคมไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้และแนวทางของการป้องกันและการแก้ไขปัญหา เช่น พฤติกรรมของการใช้ความรุนแรงจากคนในหน่วย งานความมั่นคง การก่ออาชญากรรมหมู่ [SDG16]
    9. งานวิจัยปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการของภาครัฐ [SDG10, SDG16]
  • มิติสิ่งแวดล้อม ได้แก่
    1. การจัดการภัยพิบัติชุมชนและการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานสำหรับรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง [SDG11]
    2. การพัฒนาความรู้และแนวทางของการจัดการขยะจากภาคการเกษตร [SDG11, SDG12]

นอกจากนี้ การประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญยังระบุถึงหน่วยงานที่ได้ทํางานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ระดับภาคกลาง ได้แก่ 

  • องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น : บทบาทหน้าที่ เช่น เป็นผู้นำความรู้และงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน/ นำงานวิจัยและองค์ความรู้ไปเผยแพร่และต่อยอดขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ
  • สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) : บทบาทหน้าที่ เช่น ดูแลและบริหารจัดการสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัด/ ใช้ความรู้และงานวิจัยในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
  • สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ อาทิ มหาวิทวิยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทวิยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน : บทบาทหน้าที่ เช่น ศึกษาวิจัยและผลิตองค์ความรู้เพื่อประโยชน์กับชุมชน/ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการทำวิจัย
  • พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) : บทบาทหน้าที่ เช่น ดูแลและให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางและคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่จังหวัด/ ร่วมมือกับนักวิจัยในการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง
  • สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (พช.) : บทบาทหน้าที่ เช่น ดูแลและแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย/ ส่งเสริมริและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
  • สมัชชาสุขภาพจังหวัด : บทบาทหน้าที่ เช่น จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายจากระดับจังหวัดไปสู่ระดับประเทศ/ กำหนดโจทย์สำหรับการวิจัยร่วมกับหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ในพื้นที่
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมริสุขภาพ (สสส.) : บทบาทหน้าที่ เช่น สนับสนุนงบประมาณ ความรู้ และร่วมทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัดกับทุกภาคส่วนในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่และสร้างเสริมสุขภาวะของชุมชน
  • สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) : บทบาทหน้าที่ เช่น สนับสนุนงบประมาณ ความรู้ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการพัฒนานวัตกรรมโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อการแก้ไขปัญหาชุมชน 

3. ข้อเสนอแนะสำหรับการทํางานร่วมกันของทุกภาคส่วน

จากกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไก ววน. ระดับพื้นที่ เช่น 

  • จัดตั้งคณะทำงานบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนระบบ ววน. ในพื้นที่ โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีบทบาทและหน้าที่ของการเสนอโจทย์วิจัยที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ พร้อมทั้งดูแล กำกับ ติดตาม ประเมินผล การทำวิจัยและการนำงานวิจัยไปสู่การกำหนดนโยบาย และมุ่งสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 
  • ส่งเสริมบทบาทคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของพื้นที่ 
  • จัดตั้งเครือข่าย/กลุ่ม Think Tank ของจังหวัดที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยกันคิดค้นหาทางออกและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่โดยตั้งอยู่บนฐานการใช้ความรู้ ข้อมูล อย่างรอบด้านและถูกต้อง 
  • สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่มีบทบาทสนับสนุนองค์ความรู้ใหม่ ๆ แก่ชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชน
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับศักยภาพของชุมชนให้มีความรู้และเครื่องมือในการคิดและจัดทำ แผนพัฒนาชุมชนอย่างมียุทธศาสตร์ มีกระบวนการติดตามและประเมินผล และการถอดบทเรียนและองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 
  • มีการเผยแพร่ สื่อสาร งานวิจัยและองค์ความรู้ออกสู่สาธารณะเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายการใช้ประโยชน์งานวิจัยและองค์ความรู้ ที่สร้างผลกระทบการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น 
  • การทำฐานข้อมูลงานวิจัยที่เข้าถึงได้ง่ายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถนำงานวิจัยและองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงเพิ่มมากขึ้น 
คณะวิจัยภาคกลาง : ดร. บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล (มหาวิทยาลัยนเรศวร)  ดร.เดชรัต สุขกำเนิด (นักวิจัยอิสระ) นาวิน โสภาภูมิ (นักวิจัยอิสระ) และคณะ

● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need 
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
 Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก 
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้ชายแดน
Area Need 05 | Area Need 2: What’s next step? การติดตาม และวางแผนต่อไปสำหรับโครงการความต้องการของพื้นที่ ปีที่ 2 
บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ

ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 2 ไปจนถึง เมษายน 2566

อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on พฤษภาคม 15, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น