จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 25 – 31 มีนาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
เอเชีย-แปซิฟิก ต้องใช้เวลาอีก 42 ปี จึงจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ที่ควรจะบรรลุในปี 2030
รายงาน “Asia and the Pacific SDG Progress Report” ประจำปี 2566 โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุถึงผลสำคัญว่า ความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ของภูมิภาคนี้คืบหน้าขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับปี 2560(2017) อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ซึ่งนับว่าเป็นความคืบหน้าที่น้อยมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกประมาณ 7 ปี ก่อนที่วาระ SDGs จะสิ้นสุดลงในปี 2573(2030) และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ESCAP คาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะต้องใช้เวลาอีก 42 ปีจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้
สำหรับรายงานฉบับปี 2566 (2023) นี้ ใช้ข้อมูลปี 2565 (2022) ในการประเมินผล เป้าหมายที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ และ SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม ส่วนเป้าหมายที่ถดถอยคือ สถานการณ์แย่ยิ่งกว่าปี 2558(2015) คือ SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในด้านข้อมูลรายงานเปิดเผยว่า ภูมิภาคมีข้อมูลรายงานสถานการณ์รายเป้าหมายย่อย (target) แล้ว 118 จาก 169 เป้าหมายย่อย ยังขาดอีก 51 เป้าหมายย่อย โดย SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ และ SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง เป็น 2 เป้าหมายที่มีข้อมูลรายงานความคืบหน้าน้อยที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาข้อมูลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDGs ในภาพรวมทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 17 เป้าหมายย่อยที่ 17.18 ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลทีมีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้
เข้าถึงได้ที่: 42 Years Needed to Achieve 2030 Agenda: Asia-Pacific Progress Report
UNGA มีมติขอศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ความเห็นเชิงปรึกษาว่ารัฐมีหน้าที่ ความรับผิดต่อ Climate change อย่างไร
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) มติ(แบบฉันทามติ) ยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ให้ความเห็นเชิงปรึกษา (advisory opinion) ถึงพันธกรณีของรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อรับประกัน การปกป้องระบบภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และยังขอให้ศาลให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลทางกฎหมายจากการที่รัฐกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างสำคัญต่อระบบภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และต่อประชาชนทั้งในรุ่นปัจจุบัน และคนรุ่นหลัง
การขอความเห็นเชิงปรึกษา เป็นกระบวนการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้รัฐหรือองค์การระหว่างประเทศสามารถยื่นขอคำปรึกษาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อให้ศาลช่วยแนะนำ หรือตีความประเด็นข้อกฎหมายที่มีความคลุมเครือให้ชัดเจนมากขึ้น การยื่นขอความเห็นครั้งนี้จึงนับเป็นความพยายามสำคัญในการสร้างความชัดเจนแก่หน้าที่และความรับผิดของรัฐต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความคลุมเครือ ขาดสภาพบังคับและการดำเนินการที่เป็นไปอย่างล่าช้ามาโดยตลอด
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 13.a ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และ 13.b ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
ผลประเมินจากยูนิเซฟเผย “เด็กอีสาน-ใต้” เสี่ยงสูงจาก Climate change
เด็กในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จำนวน 10 จังหวัด เป็นกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงสุดต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2578 โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ RCP4.5 (การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับปานกลาง) ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีษะเกษ นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุรินทร์ สงขลา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี
ผลการประเมินนี้ได้มาจาก รายงานการศึกษา “การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย” ของยูนิเซฟ จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นรายงานฉบับแรกในประเทศไทยที่ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กเป็นการเฉพาะ โดยจำแนกตามจังหวัด รายได้ ความพิการ และอายุ
รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า เด็กมีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และน้ำท่วม มากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากมีระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่อ่อนแอกว่า และต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ในการดูแลความปลอดภัย การดำรงชีวิต การเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของครัวเรือนที่มีเด็กมีความสำคัญต่อการบรรเทาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวพบว่า นโยบายและแผนที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และยังขาดมาตรการเฉพาะเพื่อปกป้องเด็กจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
เข้าถึงรายงานฉบับเต็มได้ที่: การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย
เข้าถึงข่าวได้ที่: “เด็กอีสาน-ใต้” เสี่ยงสูง กระทบจากโลกร้อน ผลประเมินล่าสุด “ยูนิเซฟ”
7 ข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ต่อรัฐบาลไทยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน พร้อมปล่อยรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ตลอดปี 2565
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ฉายสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตลอดปี 2565 ใน 156 ประเทศ พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนใน 7 ข้อ แต่ละข้อมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ เรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ สอบสวนเจ้าหน้าที่ที่กระทำมิชอบด้วยกฎหมายในการสลายการชุมนุม จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการการชุมนุมแก่เจ้าหน้าที่ ควบคุมการใช้กระสุนยาง
(2) สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่ใช้ปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพการแสดงออก งดเว้นการกำหนดโทษทางอาญาและการห้ามแบบเหมารวมต่อการเผยแพร่ข้อมูล และสอบสวนการใช้สปายแวร์เพกาซัส
(3) สิทธิในเสรีภาพการสมาคม ให้ประกันสิทธิการจัดตั้งและรวมตัวเป็นสมาคม รวมถึงให้ถอนร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … หรือร่างพ.ร.บ.เอ็นจีโอ
(4) เรื่องการทรมานและบังคับสูญหาย ขอให้ทบทวนการเลื่อนบังคับใช้มาตรา 22-25 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหาย และให้สัตยาบันทันทีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหาย
(5) สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและประกันให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงขั้นตอนการลี้ภัย ไม่ให้ถูกส่งกลับ และให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว
(6) สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ให้นำตัวผู้สังหาร พอละจี รักจงเจริญ มาลงโทษ และประกันสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง
(7) การเลือกปฏิบัติ ให้ยุติการเก็บดีเอ็นเอในวงกว้างและเลือกปฏิบัติ เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่เลือกปฏิบัติ และบังคับลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อการสอดแนมข้อมูล โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
เข้าถึงได้ที่: แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ 7 ปัญหาสิทธิฯ ‘ปริญญา’ ชี้เลือกตั้งไม่ทำประเทศเปลี่ยน เหตุติดล็อก ส.ว. รายงานสิทธิมนุษยชนโลก”
เลขาธิการ UN เรียกร้องให้ประกาศสงครามกับขยะ เนื่องในวัน Zero Waste สากล
30 มีนาคม เป็นวันลดขยะเป็นศูนย์สากล (International Zero Waste Day) António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ใช้โอกาสนี้กล่าวต่อที่ประชุมระดับสูงในห้องประชุมสมัชชาใหญ่ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “เศรษฐกิจสีเขียว” และเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ส่งเสริมรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยกล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะสามารถช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐบาลได้หลายพันล้านและสร้างงานหลายแสนตำแหน่ง
ปัจจุบัน มนุษย์สร้างขยะมูลฝอยในชุมชนมากกว่าสองพันล้านตันต่อปี ครอบคลุมถึงพลาสติก สิ่งทอ อาหารเน่าเสีย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้ง และเศษขยะจากเหมืองแร่และไซต์ก่อสร้าง Guterres กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้อง “ทำสงครามกับขยะ” โดยเรียกร้องให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้นำ และเน้นย้ำแนวทางให้ผู้ผลิตของเสียต้องออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ทรัพยากรและวัสดุน้อยลงจัดการของเสียที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และค้นหาวิธียืดอายุของผลิตภัณฑ์ที่ขายนอกจากนี้ ยังบอกต่อไปว่าบริษัทเหล่านี้ยังจำเป็นต้องลงทุนในระบบการจัดการขยะ การกู้คืน และการรีไซเคิลในชุมชนที่ดำเนินการด้วย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.1 ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนทุกประเทศนำไปปฏิบัติ 12.2 บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 12.3 ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว และ12.5 ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
เข้าถึงได้ที่: Zero Waste Day: UN calls for a war on garbage
’กรมควบคุมโรคเผย คนไทย 8 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงระบบคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูง
เบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกที่นับวันยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติโดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ เผยว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้ว 537 ล้านคน มีส่วนทำให้เสียชีวิต สูงถึง 6.7 ล้านคน หรือเสียชีวิต 1 ราย ในทุก ๆ 5 วินาที สำหรับประเทศไทย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “จากฐานข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในปี 2565 จำนวน 6.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 2 แสนคน และผู้ป่วยโรคเบาหวานในปี 2565 จำนวน 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1.5 แสนคน”
การคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพได้ดีที่สุด เพราะประชาชนที่ไม่รู้ตัวว่าป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต จากสถิติการคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่ พบว่า การคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปมีผู้ได้รับการคัดกรองเพียง 14 ล้านคน และยังไม่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 8 ล้านคน จากเป้าหมายทั่วประเทศ 22 ล้านคน
กรมควบคุมโรค จึงเชิญชวนประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงตามมาตรการด้านสาธารณสุขโดยสามารถยื่นบัตรประชาชนเข้ารับบริการตามสิทธิการรักษา ได้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573 และ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ
เข้าถึงได้ที่: คนไทย 8 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงระบบคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูง
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on เมษายน 3, 2023